ถึงเวลาเปลี่ยนบทสนทนา
ประเทศไทยไม่ยอมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย 1951 และพิธีสารต่อท้าย 1967 แม้จะนั่งอยู่ในคณะกรรมการบริหาร (ExCom) แผนงานของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มาตั้งแต่ปี 2522
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราไม่เคยยอมรับว่าเรามี “refugee” หรือผู้ลี้ภัยในประเทศ ได้แต่เลี่ยงไปใช้คำอื่น ๆ เช่น ผู้อพยพ ผู้หนีภัยการสู้รบ ผู้หนีภัยความไม่สงบ ทั้ง ๆ ที่การเลี่ยงไปใช้คำอื่น ๆ นั้นก็ไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงของการเป็น หรือไม่เป็น ผู้ลี้ภัยของใครเปลี่ยนไปได้
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราไม่ยอมรับการทำงานของ UNHCR ที่มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยที่อยู่ในเมืองหรือนอกค่ายผู้ลี้ภัยเลย ขณะที่รัฐไทยก็เพิ่งอนุญาตให้ UNHCR เข้าไปมีบทบาทให้ความคุ้มครองในค่ายหรือที่รัฐเรียกว่า “พื้นที่พักพิงชั่วคราวของผู้หนีภัยการสู้รบ” เพียงปี 2541 เป็นต้นมาเท่านั้น ซึ่งคือ 14 ปีหลังจากค่ายเหล่านี้ถือกำเนิดบนชายแดนไทย-พม่า และ 23 ปีหลังจากที่ UNHCR เริ่มทำงานในประเทศไทย
ในช่วงสิบปีหลังการลุกฮือต่อต้านเผด็จการของประชาชนพม่าเมื่อปี 1988 (2531-2540) เรามีผู้ลี้ภัยการเมืองจากพม่าอยู่หนาแน่นบนชายแดนและกรุงเทพฯ ผู้ที่สมัครขอรับความครองเข้าไป UNHCR จะดำเนินการสอบประวัติ ตรวจหลักฐาน และสัมภาษณ์ตามหลักเกณฑ์ของอนุสัญญาฯ หากผ่านก็จะให้เอกสารประจำตัวว่าเป็น “บุคคลในความห่วงใย” (person of concern)โดยไม่สามารถให้สถานะผู้ลี้ภัยได้ เพราะไทยไม่ได้เป็นภาคีฯของอนุสัญญา และที่นี่ไม่มีผู้ลี้ภัย
ขณะนั้น ผู้ลี้ภัยการเมืองซึ่งเป็นนักศึกษาและปัญญาชนจากประเทศพม่า ซึ่งมีทั้งชาวพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะเอกสารอาจทำให้อุ่นใจอยู่บ้าง แต่ก็ไม่สามารถป้องกันตำรวจจับในฐานะคนเข้าเมืองผิดกฎหมายได้ เพียงเมื่อถูกจับก็ “อาจ” มีช่องทางการต่อรองให้ไม่ถูกส่งกลับประเทศเท่านั้น โดยยึดหลักที่ว่า แม้ไทยจะไม่ยอมเป็นภาคีกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย ด้วยความที่เราเป็นสมาชิกของสังคมโลก รัฐไทยก็จะต้องเคารพใน “จารีตโลก” คือ หลักการไม่ผลักดันบุคคลสู่อันตราย (Non-Refoulement) อันถือเป็น “กฎจารีตประเพณีระหว่างประเทศ”
อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาหลบ ๆ ซ่อน ๆ นั้นยาวนานมาก เมื่อไทยไม่ยอมรับว่ามีผู้ลี้ภัยและไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาฯ เส้นทางการไปตั้งถิ่นฐานใหม่ประเทศที่สามก็จำกัด ทั้งที่ในช่วงเวลาดังกล่าวอันเป็นยุคก่อน 9/11 โลกยังมีพื้นที่ให้กับผู้ลี้ภัยมากกว่านี้
ผู้ลี้ภัยจากพม่าจึงตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ เงินช่วยเหลือและความดูและจากองค์กรมนุษยธรรมไม่ครอบคลุมเพียงพอเพราะจำนวนคนก็มีมากเหลือเกิน เมื่อผนวกกับความเครียดที่ต้องคอยหวาดกลัวตำรวจ ไว้ใจใครไม่ได้ สิ้นหวังหดหู่กับเหตุการณ์บ้านเมือง ตลอดจนการสูญเสียเพื่อนฝูงครอบครัวและบาดแผลทางจิตใจที่ผ่านการปราบปรามอย่างเหี้ยมโหด ทำให้เราพบเพื่อนบางคนอยู่ในภาวะซึมเศร้า เครียด ใช้ความรุนแรง มีคนหันไปใช้ยาเสพติด และมีคนฆ่าตัวตาย ผูกคอตายหรือกินยาตายในห้องพัก ไม่น้อย
ถึงวันนี้ คนที่เป็น “ผู้รอด” จากการใช้ชีวิตที่ไม่ได้รับการต้อนรับในไทยจำนวนหนึ่ง กระจายตัวอยู่ในสหรัฐฯ อังกฤษ นอร์เวย์ ออสเตรเลีย ฯลฯ คนที่ผ่านประสบการณ์ดีหน่อยจะยังจดจำประเทศไทยเป็น “บ้านหลังที่สอง” และเพื่อนคนไทยว่าเป็นมิตรยามยาก แต่ก็มีคนที่เจ็บช้ำจนไม่สามารถจะคิดแบบนั้นได้
2565 เวลาผ่านมานาน พม่ากลับสู่การเลือกตั้ง ประชาชนพลัดถิ่นจำนวนหนึ่งย้ายกลับประเทศ แต่แล้วกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยก็ล้มเหลว จนผู้คนต้องหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยนับแต่กุมภาพันธ์ 2564 แต่ท่ามกลางการพัฒนาด้านการคุ้มครองในเรื่องต่าง ๆ เช่น มาตรการแทนการกักตัวเด็กต่างชาติ การที่ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯ ( CAT ) ซึ่งมีข้อผูกมัดให้ไม่ส่งกลับบุคคลข้ามแดนไป “เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกทรมาน” หรือระเบียบสำนักนายกฯเกี่ยวกับการคัดกรองคนต่างด้าวที่กลับประเทศไม่ได้ (ซึ่งยังไม่ได้บังคับใช้และยังไม่ชัดเจนว่าทั้งเกณฑ์และกระบวนการจะยึดหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัดหรือไม่) เราก็ยังเหมือนเดิม คือ ไม่ยอมรับว่าประเทศไทยมีผู้ลี้ภัย
เมื่อวานนี้ 31 มกราคม นายคูคำ แก้วมะนีวงษ์ นักสิทธิมนุษยชน ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวลาวที่ได้รับรองว่าเป็นบุคคลในความห่วงใยของ UNHCR ถูกตำรวจจับในข้อหาอยู่เกินกำหนดวีซ่า และส่งฟ้องศาลเพื่อปรับและผลักดันกลับประเทศไปอีกราย แล้วเราก็จะต้องวนเวียนกับการเรียกร้องเพื่อไม่ให้ส่งคนกลับไปตายหรือถูกทรมานและลงโทษอย่างโหดร้าย ขณะที่ทางการก็จะอ้างว่าการรับรองของ UNHCR ไม่ได้รับการรับรองภายใต้กฎหมายไทยดังเดิม
เราจะคงบทสนทนาเดิม ๆ แบบนี้กันไปอีกกี่ปี การรับหรือไม่รับผู้ลี้ภัย ไม่ได้ทำให้ผู้ลี้ภัยไม่มี เพราะผู้ลี้ภัยไม่ได้เกิดจากการรับหรือไม่รับของรัฐไทย
1 กุมภาพันธ์ 2565 ครบหนึ่งปีรัฐประหารพม่าหันหน้ามาพูดความจริง
** ภาพประกอบจากปี 2540