เพื่อนไร้พรมแดน

มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
Friends Without Borders Foundation

ผู้คนที่อาศัยอยู่ในขอบเขตของประเทศไทยมีความหลากหลาย ทั้งทางสัญชาติ  ชาติพันธุ์  วัฒนธรม ภาษา ศาสนาและความเชื่อ ความคิดเห็นทางการเมือง เราอาจเคยอยู่ร่วมกันอย่างสันติด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน ทว่าแนวคิดที่แบ่งแยก “พวกเรา” และคนที่ “ไม่ใช่พวกเรา” ให้ “เป็นอื่น” ทำให้คนจำนวนมากเริ่มมอง “ผู้อื่น” หรือ “คนกลุ่มอื่น” ซึ่งมีศาสนา ความเชื่อ ชาติพันธุ์ สัญชาติ “อื่น” เหมือนไม่ใช่มนุษย์ที่เท่าเทียมกัน  หรือในบางครั้งกระทั่งไม่ใช่มนุษย์หลายคนไม่ได้เข้าใจว่า “ความเป็นอื่น” เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่เชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริง แนวคิด การแบ่งแยก “ความเป็นอื่น” ซึ่งได้รับการตอกย้ำผ่านสื่อต่างๆส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติไปจนถึงความรุนแรงในสังคมไทย

แม้กฎหมายและรัฐธรรมนูญไทยจะเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนโดยเท่าเทียมกัน ชนเผ่าพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา ผู้ลี้ภัย แรงงานอพยพ หรือคนพลัดถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้านก็ยังต้องเผชิญกับสภาพการไม่สามารถเข้าถึงระบบยุติธรรม  บริการของรัฐ  หรือแม้แต่สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังถูกตราหน้าและตกเป็นแพะรับบาปต่อกรณีปัญหาทั้งปวงในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรม  ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาด้านการจ้างงาน

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินงานด้านการให้การศึกษา สร้างความตระหนัก สร้างศักยภาพด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพของชุมชนชายขอบ และการประสานเครือข่ายภาคประชาชนอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน  เพื่อให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทาง วัฒนธรรม  ชนชาติ  สัญชาติ ด้วยการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกัน

มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนเริ่มดำเนินการในปีพ.ศ.2542 และได้รับการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ.2551

วัตถุประสงค์

1. ส่งเสริมความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคมที่มีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ สถานะทางกฎหมาย เพศวิถี วัฒนธรรม ศาสนา และความคิดเห็นทางการเมือง ผ่านงานวิจัย งานสื่อสาร สื่อ ศิลปะ และกิจกรรมเผยแพร่ต่าง ๆ

2. ส่งเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมในด้านสิทธิมนุษยชนและการสื่อสาร

3. ดำเนินการเพื่อสาธารณะประโยชน์หรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น

นโยบายองค์กร

1. ความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ(Equality & Non-discrimination Policy)ทุกโครงการและกิจกรรมจะต้องดำเนินไปโดยคำนึงถึงโอกาสที่เสมอภาคของบุคคลจากภูมิหลังทางศาสนา เพศ และชาติพันธุ์ที่แตกต่าง และอ่อนไหวต่อความแตกต่างนั้น เจ้าหน้าที่มูลนิธิทุกคนสามารถเข้าถึงสวัสดิการได้อย่างเสมอภาค และอยู่ภายใต้กฎระเบียบเดียวกัน

2. สิทธิมนุษยชน (Human Rights Policy) ทุกโครงการและกิจกรรมจะต้องดำเนินโดยเคารพสิทธิมนุษยชนของทุกคน การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ ถือเป็นความผิดทางวินัยร้ายแรงตามกฎจริยธรรมองค์กร

3. การมีส่วนร่วมของชุมชน (Participation Policy) ทุกโครงการ/กิจกรรมจะต้องได้รับการวางแผน ดำเนินการ และประเมินโดยการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมาย ยุทธศาสตร์และแผนงานจะต้องได้รับการวางแผนโดยการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่และชุมชนเป้าหมาย

4. มิติหญิงชาย (Gender Policy) ทุกโครงการและกิจกรรมจะต้องได้รับการวางแผน ดำเนินการ และประเมินโดยคำนึงถึงมิติหญิงชายและความเสมอภาคของชายหญิง เนื้อหาทุกโครงการจะต้องผนวกประเด็นมิติหญิงชายและสิทธิผู้หญิงไว้ การกระทำความรุนแรงทางเพศทั้งทางร่างกายและวาจาถือเป็นการผิดวินัยร้ายแรง

5. สิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Policy) โครงการและกิจกรรม จะต้องพยายามใช้ทรัพยากรโดยประหยัดและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

สัญลักษณ์มูลนิธิ

 

สัญลักษณ์รูปผ้าสองผืนที่ผูกพันไขว้กันไว้อย่างกลมเกลียว
โดยผ้าผืนหนึ่งเป็นลวดลายใกล้เคียงกับลายผ้าไทยโบราณ
และอีกผืนหนึ่งเป็นแถบสีต่างๆ ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่หลากหลายวัฒนธรรม