ฉันคือผู้ลี้ภัย

ฉันคือผู้ลี้ภัย

| | Share

ฉันคือผู้ลี้ภัย

หลายสิบปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐไทยไม่เคยเลิกราที่จะปฏิเสธการมีอยู่ของผู้ลี้ภัยบนชายแดนไทย-พม่า โดยบอกว่า คนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยปัจจุบันซึ่งมีอยู่ 9 แห่งนั้น คือ “ผู้หนีภัยการสู้รบ” ใน “พื้นที่พักพิกชั่วคราว” และประเทศไทยไม่มี “ผู้ลี้ภัย”

การเลือกใช้คำ มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับการตีความว่าผู้ใดที่จะได้รับความคุ้มครอง และสิทธิของผู้ถูกเรียกที่จะได้รับการยอมรับตามกฎหมายไทยและมาตรฐานสากลเป็นเช่นไร  การปฏิเสธที่จะใช้คำว่า “ผู้ลี้ภัย” อันเป็นคำพื้นฐานที่มักใช้ในการแปลคำว่า refugee จึงมีนัยสำคัญ  

การรับรองเพียง “ผู้หนีภัยการสู้รบ” ในทางปฏิบัติ ก่อให้เกิดการตีความอย่างแคบ ซึ่งบางยุคสมัยอาจผ่อนให้กว้างขึ้นบ้าง แต่ในในบางช่วงเวลาก็หดแคบลงอย่างที่สุด จนเป็นการปฏิเสธแม้ผู้หลบหนีการกดขี่ข่มเหงจากนโยบายสี่ตัด (Four Cuts) อันโหดเหี้ยมของกองทัพพม่า และกำหนดให้เงื่อนไขการยอมให้พักพิงว่าจะต้องเกิด “การสู้รบ” ซึ่งหมายถึงเพียงการปะทะกันระหว่างทหารต่อทหาร ในพื้นที่ห่างจากชายแดนในระยะไม่เกิน 2 กิโลเมตรเท่านั้น   

แม้อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย 1951 จะไม่ได้ระบุอย่างเจาะจงถึงผู้ลี้ภัยที่หลบหนีสงครามหรือความขัดแย้งอันรุนแรงระหว่างชาติพันธุ์/ศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นผู้ลี้ภัยกลุ่มใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบัน  UNHCR ก็ชี้ว่า ผู้ที่หลบหนีภัยสงครามมาจะต้องไม่ถูกปฏิเสธความเป็นผู้ลี้ภัยเพียงเพราะการประหัตประหารนั้นไม่ได้ “พุ่งเป้าเจาะจงเฉพาะบุคคล/กลุ่มคน” และ “ที่มาของการประหัตประหารไม่ควรเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาสถานะ เนื่องจากประเด็นสำคัญก็คือ บุคคล/กลุ่มคนดังกล่าวนั้นสมควรได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศ เนื่องจากรัฐของตนไม่เต็มใจ หรือไม่สามารถคุ้มครองเขาใช่หรือไม่” ทั้งนี้ ในปี 2559 UNHCR ยังได้ออก guidelines เกี่ยวกับการอ้างสถานะผู้ลี้ภัยโดยเกี่ยวข้องกับความรุนแรงและความขัดแย้งที่ใช้อาวุธฯเพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้ชัดเจนด้วย  

สำหรับผู้ลี้ภัยเอง การใช้คำเรียกส่งผลต่อความรู้สึก จากรายงานวิจัย​​ “ตัวตนคนปกาเกอะญอ” ของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนพบว่า ผู้ลี้ภัยส่วนหนึ่งไม่สบายใจกับคำเรียกผู้อาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยในภาษาของตนหรือภาษาพม่า เนื่องจากคำดังกล่าว “ปก่าบ้ากอบ้าแค” หรือ “โด้คาแส่” นั้นแปลตรงตามตัวคือ “ผู้ประสบความทุกข์ยาก” เพราะเป็นการตอกย้ำว่าตนจะต้องทุกข์ยากอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ “ผู้หนีภัยการสู้รบ” เป็นคำที่ไม่ครอบคลุมข้อเท็จจริงทั้งหมดของตน ดังคำอธิบายในภาพเบื้องล่างนี้

อย่างไรก็ตาม ทั้งเพื่อนไร้พรมแดนและผู้มีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูล “ตัวตนคนปกาเกอะญอ” ต่างถือว่าคำว่า “ผู้ลี้ภัย” เป็นเคียงคำบอกเล่าสถานการณ์ช่วงหนึ่งของชีวิต และเป็นคำอธิบายสถานการณ์เพื่ออ้างสิทธิที่จะต้องได้รับความคุ้มครองเท่านั้น  มนุษย์ย่อมมีตัวตนในแง่มุมอื่นที่ตนให้คุณค่า ไม่ว่าจะเป็นคนชาติพันธุ์ใด ศาสนาใด หรือเป็นครู เป็นผู้หญิง เป็นแม่ เป็นพ่อ เป็นนักเขียน ฯลฯ ดังนั้น ในความเป็นผู้ลี้ภัย ตัวตนความเป็นมนุษย์ของบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มชนหนึ่ง ย่อมสมควรจะได้รับความเคารพเสมอ

9 ก.ค. 2564

ภาพประกอบ : ค่ายผู้ลี้ภัยกะเรนนีและอุ้มเปี้ยมใหม่จากอัลบั้มสะสมของเพื่อนไร้พรมแดน

Related