อีกหนึ่งอารยะขัดขืนของชาวบ้านต่อปฏิบัติการทางทหารที่มุ่งขับไล่พวกเขา
มื่อตรอ-เดปู่โน่ในใจกลางพายุ
เมื่อแรกที่ผู้ลี้ภัยจากเดปู่โน่และชุมชนรายรอบกลับไปจากชายแดนไทย พวกเขาพักอยู่ใกล้หมู่บ้านแม่หนึท่าที่ริมขอบแดนในฝั่งรัฐกะเหรี่ยง บางบ้านสร้างเพิงพักชั่วคราวของตนไว้ ขณะที่สมาชิกครอบครัวที่แข็งแรงจะกลับไปดูบ้าน ดูไร่ และสัตว์เลี้ยง
อันที่จริง แม้ในช่วงที่หลบภัยอยู่ฝั่งไทย ก็มีผู้แอบกลับไปสำรวจตรวจตราความปลอดภัยว่าจะสามารถกลับไปได้หรือไม่อยู่บ้างแล้ว ส่วนหนึ่งแอบไปลงข้าวไว้เงียบ ๆ เพราะเกรงว่าปลายปีนี้จะไม่มีผลผลิตให้เก็บเกี่ยว และปีหน้าจะอดตาย
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงแน่วแน่ที่ยืนหยัดอยู่ในมื่อตรอ ไม่ใช่ต้องการจะมาเป็นผู้พึ่งพา “ไม่ยอมกลับ” อยู่ในฝั่งไทย
ล่วงเข้าสัปดาห์ที่สามของมิ.ย. คนส่วนใหญ่จากแถบเดปู่โน่กลับไปอยู่ “ใกล้” กับชุมชนเดิม พวกเขามักไม่นอนในหมู่บ้าน หากออกไปทำกระท่อมอยู่ในไร่หมุนเวียนที่ถางใหม่ หรือถางไว้เดิมก่อนจะหลบหนี สมาชิกที่แข็งแรงพร้อมหนีได้ทัน อาจวนเวียนกลับเข้าบ้านเพื่อดูแลทรัพย์สินเป็นครั้งคราว การกระจายตัวอยู่ในไร่และป่าเขาทำให้ปลอดภัยมากกว่าอยู่เป็นเป้าในตัวชุมชนเดิม
จริง ๆ แล้ว จังหวัดมื่อตรอไม่ได้สงบเงียบ การสู้รบยังหนักหนาอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองปาปุน ห่างไปทางใต้จากเดปู่โน่ในระยะเดินเรือราว 2-3 ชั่วโมง บริเวณนั้นมีฐานทัพพม่าขนาดใหญ่ ฐานเล็กฐานน้อยที่เคยวางยุทธศาสตร์ให้กระจายทั่วมื่อตรอถูกเรียกเข้ามารวมกำลังพลกันก็มากเพราะเกรงว่าจะถูกกองทัพ KNU โจมตีได้ง่าย เมื่อประกอบด้วยกำลังเสริมจากกองกำลัง BGF ที่ถูกเรียกมาจากเมียวดีแล้ว ฐานใหญ่ของกองทัพพม่าระดับกำลัง 70-80 คนก็กระจายอยู่หลายแห่ง นอกจากนี้ ยังมีข่าวล่าสุดว่า กองทัพพม่าจะได้รับระเบิดมาเข้าคลังแสงเพิ่ม พร้อมที่เครื่องบินรบจะออกปฏิบัติการเร็ว ๆ นี้
ชาวบ้านที่ทำไร่ไถนาอยู่ใกล้เดปู่โน่ไม่ได้อยู่อย่างสุขสงบ ทว่า พวกเขาปรับความหวาดกลัวให้เป็นการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในเร็ววัน เมื่อยืนยันที่จะไม่ละทิ้งถิ่นฐานและปล่อยให้มันตกเป็นของกองทัพพม่าเสียแล้ว พวกเขาก็เตรียมพร้อม ทั้งในด้านการกระจายตัวให้ไม่ตกเป็นเป้า ตระเตรียมแผนและสถานที่หลบภัย จัดระบบการกระจายความช่วยเหลือ ตลอดจนการสื่อสารส่งข่าวให้ทันท่วงทีมีประสิทธิภาพ การเตรียมตัวเพื่อลดความเสี่ยงและความสูญเสีย ยังหมายถึงการลดความจำเป็นที่จะต้องข้ามมาฝั่งไทยให้มากที่สุดด้วย
นี่คือการยืนหยัด และดื้อแพ่งโดยสันติของชาวบ้านกะเหรี่ยงมื่อตรอ ที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า พวกเขาจะอยู่ในบ้านเกิด และจะดำรงชีวิตต่อไปให้จงได้ ครอบครัวจะปลูกข้าวเพื่อวันข้างหน้า แม้ในวันนี้ยังต้องพึ่งพาอาหารบริจาค เด็กจะไปโรงเรียน แม้มันจะต้องมุงหลังคาผ้าพลาสติกแทนหลังคาเดิมที่ถูกระเบิดเสียหาย
ชีวิตของชาวกะเหรี่ยงมื่อตรอดำเนินต่ออย่างห้าวหาญกว่าผู้ที่ทำร้ายผลักไส การมาเมืองไทยเป็นเพียงทางเลือกสุดท้ายในยามคับขัน
เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว นโยบายผู้ลี้ภัยยังจะตั้งอยู่บนพื้นฐานเดิม ๆ ว่า “ห้ามมีผู้ลี้ภัยตกค้าง” อยู่อีกหรือ
26 มิ.ย. 2564
ภาพประกอบ : ไร่หมุนเวียน และความเสียหายจากระเบิด ถ่ายโดย ชาวบ้านสาละวิน