รัฐไทยจะต้องไม่ปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร และเส้นทางความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
นอกจากจะมีคำสั่งไม่ให้ผู้ลี้ภัยเผยแพร่รูปภาพหรือวิดีโอออกไปแล้ว เช้าวันนี้ ยังไม่มีหน่วยงาน สื่อมวลชน หรือกลุ่มประชาชนอื่นใด สามารถเข้าถึงผู้ลี้ภัยกว่าสองพันคน (กต.แถลงไว้ 2,267 คน) ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอนุญาตให้พักหลบภัยอยู่ที่โกล้ปา ตอนเหนือของแม่สะเกิบ ตรงข้ามชุมชนอีตู่ท่า
ขณะที่เมื่อวานนี้ ยังมีการโจมตีทางอากาศในมื่อตรอเวลา 15.15, 19.15 และ 01.30 น. ผู้นำชาวบ้านขอร้องทหารพรานให้อนุญาตให้พวกเขาพักอยู่ได้ราว 10 วันเป็นอย่างน้อย หรือหากสถานการณ์สงบก่อนหน้า พวกเขาก็จะกลับกันโดยทันที แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถให้คำตอบได้
รัฐไทยควรได้รับบทเรียนจากการดำเนินการรับกับวิกฤตผู้ลี้ภัยเมื่อปลายมีนาคม-ต้นเมษายนแล้วว่า การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดกับรัฐไทยเลย มีแต่จะแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของรัฐที่จะดำเนินแผนเผชิญเหตุตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตทางมนุษยธรรมตามมา
ฝนที่ตกมาอย่างหนักหน่วงเมื่อคืน ก่อให้เกิดน้ำห้วยเอ่อล้น พัดพาข้าวของและอาหารที่มีอยู่น้อยนิดของผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งไปด้วย ผ้าเต็นท์พลาสติกลายทางสีฟ้าที่มีอยู่ ไม่เพียงพอที่จะกั้นพวกเขา ซึ่งมีทั้งเด็ก หญิงมีครรภ์ คนชราและผู้ป่วย จากการเปียกปอนได้
ประชาชนไทยซึ่งเป็นเจ้าของประเทศมีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การรับผู้ลี้ภัยจะต้องมีความโปร่งใส ผู้ลี้ภัยจะต้องสามารถเข้าถึงได้ และได้รับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่มีน้ำใจจากสังคมไทยส่งไปให้อย่างล้นหลาม
เพื่อนไร้พรมแดนขอยืนยันข้อเรียกร้อง 5 ข้อตามแถลงการณ์ 5 เมษายน ซึ่งลงนามโดย 62 องค์กรภาคประชาสังคมและ 344 บุคคล กล่าวโดยสรุปคือ
1. รัฐจะต้องไม่ปฏิเสธการขอเข้าลี้ภัย
2. ความรับผิดชอบในการจัดการดูแลคุ้มครองจะต้องเป็นของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งสามารถประสานกับสาธารณสุขท้องถิ่น และองค์กรมนุษยธรรม
3. รัฐจะต้องไม่ปิดกั้น หากควรอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคประชาชนไทยที่ประสงค์จะช่วยเหลือผู้ลี้ภัย
4. รัฐจะต้องอนุญาตให้ UNHCR เข้าถึงผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่หลบหนีการปราบปรามเข้ามาอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์และอาจปะปนเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทย อีกทั้งสามารถใช้กลไกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 เพื่อให้ความคุ้มครองได้
5. การตัดสินใจส่งกลับผู้ลี้ภัยจะต้องมีความโปร่งใส ไม่ใช่บทบาทของฝ่ายความมั่นคงแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องเป็นบทบาทร่วมของหน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองดูแลผู้ลี้ภัย
30 เมษายน 2564
ภาพประกอบ : ผู้ลี้ภัยจากอีตู่ท่าล่าสุด ถ่ายภาพโดยชาวบ้านสาละวิน
หมายเหตุ
กรุณาแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานการเคารพในเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และระมัดระวัง “ความผิดฐานหมิ่นประมาท” ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ประมวลกฎหมายอาญา ฯลฯ