ผู้ลี้ภัยหายไป ชาติมั่นคงแล้วหรือไม่

ผู้ลี้ภัยหายไป ชาติมั่นคงแล้วหรือไม่

| | Share

ผู้ลี้ภัยหายไป ชาติมั่นคงแล้วหรือไม่

ผู้ที่ติดตามข่าวสารหรือใช้ชีวิตอยู่ริมอ.แม่สอด พบพระ อุ้มผาง จ.ตากคงรู้ดีว่า เสียงการปะทะ กระสุนปืนใหญ่ เครื่องบิน ปืนกล และระเบิด ไม่เคยเงียบหายไปจากชายแดนได้สักกี่วัน สัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งการสู้รบและการโจมตีทางอากาศบนเส้นถนนเมียวดี-วาเลย์ กับถนนสายเอเซียไปเมืองกอตะหริ (กอกะเร็ก) ก็ยังดังสนั่นลั่นแม่สอดเหนือจรดใต้ให้ได้ยินอยู่

เหตุการณ์แบบนี้ถ้าเป็นในช่วงปี 2564 จนถึงเดือนต้นของปี 2565 เราก็คงคาดได้ว่า จะต้องมีผู้ลี้ภัยหนีข้ามน้ำเมยมาหลบภัยฝั่งไทยหลายพันคนเป็นแน่ ทว่าในเดือนหลัง ๆ มานี้กลับมีรายงานข่าวการลี้ภัยไม่มากมายเพียงหลักร้อย หรือไม่ก็ไม่มีเลย 

ถ้าเช่นนั้น หมายความว่า ชาวบ้านไม่ได้กำลังอยู่ในอันตรายแล้วใช่หรือไม่ ไม่มีความจำเป็นต้องอพยพลี้ภัยกันแล้วหรือ สถานการณ์ชายแดนพม่าสงบนิ่งแล้วหรือ

เปล่า แต่มีเหตุผลมากมายเกินกล่าว ที่ทำให้เราไม่ได้เห็นภาพคลื่นคนหนีภัยเข้าสู่ประเทศไทย 

อย่างแรก ข้อเท็จจริงก็คือ ถึงวันนี้ หลายชุมชนริมขอบแดนถูกทิ้งร้างกันไปหมดแล้ว ชาวบ้านเกือบทั้งหมดไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านตามปกติ หากไม่ได้อพยพไปห่างไกลเลย อย่างดีก็แวะมาในตอนกลางวันแล้วกลางคืนหนีไปนอนที่อื่น การทิ้งระเบิดหรือยิงปืนใหญ่จึงมักไม่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต และไม่พบเจอสภาพที่มีคนวิ่งหนีตายกันจ้าละหวั่นอีกต่อไป

อย่างที่สอง ประสบการณ์สงครามและการอพยพลี้ภัยที่ผ่านมาบอกให้ชาวบ้านรู้ชัดว่า แม้จะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากชุมชนชายแดน พวกเขาก็ไม่ได้รับการต้อนรับโดยรัฐไทย การหนีมาฝั่งไทยเพื่อจะได้รับการรองรับแบบชั่วคราวให้อยู่วันสองวันแล้วก็ต้องถูกกดดันให้กลับไปโดยเร็วนั้น ทำให้ชีวิตมีแต่สภาพ “ชั่วคราว” อยู่ตลอดไม่ว่าจะอยู่บนฝั่งไหนของลำน้ำ ทำกิจกรรมเลี้ยงชีพก็ไม่ได้ ลูกหลานเรียนหนังสือก็ไม่ได้ ชีวิตก้าวไปข้างหน้าไม่ได้เลย 

ดังนั้น ถ้าไม่จวนตัวจริง ๆ ผู้คนจึงเลือกที่จะไม่เข้ามาขอลี้ภัยเป็นกลุ่มใหญ่ เพราะมองว่าเป็นการหนีที่มีประโยชน์แค่เอาชีวิตรอดได้วันสองวัน ส่วนชีวิตหลังจากนั้นไร้อนาคต

ประการสุดท้ายที่สำคัญยิ่งก็คือ เมื่อมีชีวิตรอดกับกระสุนและระเบิดไม่ได้ อีกทั้งยังมีชีวิตที่มีอนาคตกับการลี้ภัยมาพึ่งพารัฐเพื่อนบ้านไม่ได้ ชาวบ้านก็จำต้องหาวิธีที่จะทำให้ชีวิตคนและชุมชนสังคมอยู่รอดได้จริง ๆ การอพยพย้ายถิ่นจึงอาจเป็นตามไร่ตามป่าใกล้บ้าน หรือหาไร่ ป่า หาริมน้ำที่ไกลออกไป หรือไปพึ่งพาญาติพี่น้องเพื่อนฝูงในเขตปลอดภัย ข้ามเขตพรมแดนอำเภอ จังหวัด รัฐ ที่ไหนก็แล้วแต่ อย่างไรก็ได้ ที่จะไม่ใช่ผู้ลี้ภัยในการจับจ้อง-จัดการ-ของรัฐไทย 

ยิ่งเสียงระเบิดดังถี่ การย้ายถิ่นก็ยิ่งต้องเงียบ ภาวะยินยอมอยู่อย่างไร้ตัวตนอาจมีจุดอ่อนที่ทำให้สังคมไทยและโลกมองไม่เห็นระดับวิกฤตอันแท้จริง หากก็ดูจะเป็นทางเลือกทางเดียวที่เหลืออยู่ในขณะนี้

ซึ่ง ในความโล่งใจของทางการไทยที่มี “ผู้ลี้ภัย” มาให้จัดการน้อยลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่มีนั้น จะมีผู้ตระหนักนึกขึ้นบ้างไหมว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไป 1 ปี 5 ปี 10 ปี ชาวบ้านนักสู้ที่สามารถเอาชีวิตรอดได้เหล่านี้ จะคิดอย่างไรกับประเทศไทย

นอกจากการท่องบ่นคำเดิม ๆ ว่าผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาความมั่นคงของชาติ อาจต้องลองถามตัวเองซ้ำ ๆ ดูว่า การที่ไม่มีผู้ลี้ภัยปรากฏตัวให้เห็นแม้จะมีผู้ที่จำเป็นต้องอพยพหนีภัยนับพันหมื่นแสนนั้น คือความมั่นคงของชาติแล้วหรืออย่างไร 

29 สิงหาคม 2565
ภาพประกอบ ภาพวาดโดยเยาวชนผู้ลี้ภัย ติน อ่อง วิน 2544

Related