เพื่อนไร้พรมแดนขอขอบคุณทุกท่านทุกกลุ่ม เครือข่าย องค์กร ที่ได้ร่วมลงนามสนับสนุนแถลงการณ์

เพื่อนไร้พรมแดนขอขอบคุณทุกท่านทุกกลุ่ม เครือข่าย องค์กร ที่ได้ร่วมลงนามสนับสนุนแถลงการณ์

| | Share

เพื่อนไร้พรมแดนขอขอบคุณทุกท่านทุกกลุ่ม เครือข่าย องค์กร ที่ได้ร่วมลงนามสนับสนุนแถลงการณ์ “ผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าคือเพื่อนบ้านของประชาชนไทย” พร้อมข้อเสนอแนะในโพสต์ก่อนหน้า ซึ่งนอกจากจะได้เผยแพร่ในหน้าสื่อมวลชนบ้างแล้ว เครือข่ายประชาชนก็กำลังนัดหมายเพื่อนำหนังสือไปยื่นให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญที่น่าห่วงใยที่สุด คือการนำอาหารและความช่วยเหลือฉุกเฉินไปส่งมอบแก่ผู้ลี้ภัยร่วมสองพันคนในฝั่งไทย และผู้ลี้ภัยที่อยู่ริมขอบแดนในฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งส่วนหนึ่งถูกผลักกลับไปจากประเทศไทยอีกหลายพันคน แม้ประชาชนไทยจะได้ช่วยกันระดมของใช้จำเป็นและอาหารผ่านทางหลาย ๆ เครือข่าย การส่งมอบความช่วยเหลือก็เป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากถูกปิดกั้นเส้นทางทั้งทางบกและทางน้ำ จนกระทั่งในวันที่ 5 เม.ย. ทหารไทยจึงได้เริ่มอนุญาตให้มีการขนส่งของทางเรือไปยังผู้พลัดถิ่นที่อีตู่ท่า ฝั่งรัฐกะเหรี่ยง และมีข้อกำหนดว่า การบริจาคของทั้งหมดจะต้องผ่านสำนักงานกาชาดแม่ฮ่องสอนและกิ่งกาชาดอ.แม่สะเรียง ขุนยวม หรือปาย โดยมีทหารเป็นผู้ไปส่งมอบเท่านั้น

การคลี่คลายวิกฤตทางมนุษยธรรมดังกล่าว เกิดขึ้นด้วยแรงผลักดันจากประชาชนไทยที่มีความห่วงใยในเพื่อนมนุษย์ และสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ด้วยเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ในวันนี้ การส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นก็ยังเป็นไปอย่างยากลำบากดังเดิม และไม่ได้มีเรือที่ขนส่งอาหารได้รับอนุญาตให้วิ่งในแม่น้ำสาละวิน การดำเนินงานผ่านกิ่งกาชาดซึ่งเป็นสำนักงานเล็ก ๆ ยังต้องอาศัยการจัดการในทางปฏิบัติอีกมาก

นอกจากนี้ วิกฤตในจังหวัดมื่อตรอ รัฐกะเหรี่ยง ที่ผ่านมาตั้งแต่ 27 มี.ค. ยังคงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความรุนแรงที่อาจยืดเยื้อ และแผ่ขยายไปยังพื้นที่ที่กว้างขวางขึ้น ทั้งในเขตรัฐกะเหรี่ยง มณฑลตะนาวศรี เลยไปถึงรัฐฉาน และรัฐกะเรนนี (กะยาห์) ได้

การจัดการและให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม จึงยังเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหลักที่เราจะต้องเน้นย้ำ ดังข้อเสนอ 5 ประการหลักในแถลงการณ์ 5 เมษายน 2564 ของเรา กล่าวคือ

1. รัฐจะต้องไม่ปฏิเสธการขอเข้าลี้ภัย หน่วยงานความมั่นคงจะต้องเปิดให้ผู้หนีภัยสงครามและการประหัตประหารซึ่งมีเหตุแห่งการลี้ภัยชัดเจนตามรายงานข่าว ให้เข้าพักหลบภัยในประเทศไทยตามหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวที่รัฐจัดไว้ ตามที่ได้มีการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนไว้ก่อนหน้า

2. เมื่อหน่วยงานความมั่นคงเปิดรับให้ผู้ลี้ภัยเข้าสู่พื้นที่พักพิงฯแล้ว ก็จะต้องมอบความรับผิดชอบในการจัดการดูแลให้ความคุ้มครองแก่กระทรวงมหาดไทยระดับอำเภอ และจังหวัด ซึ่งจะได้ประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นให้มีบทบาทนำในด้านงานควบคุมโรค และองค์กรมนุษยธรรมซึ่งมีประสบการณ์และความพร้อมในด้านงบประมาณให้ดำเนินการสนับสนุน

3. รัฐจะต้องไม่ปิดกั้น หากควรอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคประชาชนไทยที่ประสงค์จะช่วยเหลือผู้ลี้ภัย การสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชนของทั้งสองประเทศ คือการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศในระยะยาว

4. ในกรณีที่มีการหลั่งไหลเข้ามาของกลุ่มผู้ลี้ภัยจากพื้นที่ที่เชื่อได้ว่าจะมีผู้หลบหนีการประหัตประหารจากในเมืองรวมอยู่ด้วย รัฐควรอนุญาตให้สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สามารถเข้าถึงผู้ลี้ภัยกลุ่มดังกล่าว และสามารถใช้กลไกคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับความคุ้มครอง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 เพื่อคัดกรองผู้ที่ต้องการความคุ้มครองเป็นการเฉพาะ เนื่องจากบุคคลเหล่านี้อาจยังไม่สามารถกลับคืนถิ่นฐานพร้อมกับชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนชายแดนได้

5. การตัดสินใจที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มใดหรือบุคคลใดกลับคืนถิ่นฐาน จะต้องเป็นบทบาทร่วมของหน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองดูแลผู้ลี้ภัย มิใช่บทบาทของฝ่ายความมั่นคงแต่เพียงฝ่ายเดียว

6 เมษายน 2564

หมายเหตุ : สำหรับท่านที่ลงนามไว้ใต้โพสต์ภายหลัง เราจะพยายามอัพเดทให้ไฟล์รายชื่อแนบท้ายเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงเวลายื่นหนังสือภายในสัปดาห์นี้

ภาพประกอบ :KPSN

Related