8888 

8888 

| | Share

8888 

การรำลึกวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวันนั้น แตกต่างกันไปในแต่ละปี ตามแต่สถานการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน และสถานการณ์การเมืองพม่า 

บางปี วันที 8 สิงหาคมก็คือการเฉลิมฉลองอย่างฮีกเหิมกับความหาญกล้าลุกขึ้นต่อต้านเผด็จการ แต่ในบางปี มันก็คือการรำลึกอย่างเจ็บปวดกับความสูญเสียจากเหตุการณ์นองเลือด

8.8.88 คือดีเดย์ที่นักศึกษาปัญญาชนพม่านัดชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศเพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร ซึ่งได้รับคำตอบเป็นการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม ผลักดันให้คนหนุ่มสาวหนีตายเข้าจับอาวุธร่วมสู้กับกองกำลังชาติพันธุ์รอบขอบแดนประเทศ รวมถึงชายแดนไทย-พม่า จนกระทั่งทะยอยเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทยอยู่หลายปี

สามสิบสี่ปีผ่านไป “นักศึกษาพม่า” รุ่น “88” กระจัดกระจายไปหลายแห่งทั่วโลก บ้างยังคงเป็นนักกิจกรรม นักวิชาการ หรือสื่อมวลชนที่ทำงานเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้นเสมอมา บ้างก็เริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างปกติธรรมดาในฐานะลูกจ้างหรือเจ้าของธุรกิจทั่วไป ทั้งในต่างแดนไกลโพ้น ในไทย หรือบางรายก็ย้อนกลับไปพม่าหลังการเลือกตั้งปี 2015  

รัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2021 ช็อคอดีตนักศึกษา 88 จำนวนมาก ด้วยความที่ไม่มีใครคิดฝันว่าประเทศที่ดูเหมือนจะค่อย ๆ ก้าวไปข้างหน้า(อย่างช้า ๆ) นั้นจะหวนกลับมาถึงจุดที่เลวร้ายยิ่งไปกว่าเดิม เมื่อผ่านไปได้ราวกว่าเดือน บางคนถึงกลับออกมากล่าวด้วยความรู้สึกผิดว่า ที่ประชาชนในปัจจุบันจำต้องออกมาถูกเข่นฆ่ากันอีกครั้ง ก็เป็นเพราะพวกเขาจัดการเผด็จการไม่ได้สำเร็จ และไม่เด็ดขาดเพียงพอ

“ให้มันจบที่รุ่นเรา” อดีตทหารนักศึกษาคนหนึ่งประทับใจสโลแกนการชุมนุมในประเทศไทยยิ่งนัก วันที่ 8 สิงหาคมปีนี้ เมื่อได้เห็นคนหนุ่มสาวชาวไทยจับมือกับชาวพม่าแนบแน่นยิ่งกว่ารุ่นก่อน เขาก็หวังว่าทุกบทเรียนในอดีตจะทำให้มันจบลงในรุ่นนี้ให้ได้จริง ๆ  

8 สิงหาคม 2565 

ภาพประกอบ
1.  นักศึกษารุ่น “88” (มอบให้โดยเจ้าของภาพ)
2. กิจกรรมรำลึก 8888 ที่ลานท่าแพ เชียงใหม่ โดย เดญาพอ

Related