รังแกผู้ลี้ภัย คือการรังแกประเทศไทย

รังแกผู้ลี้ภัย คือการรังแกประเทศไทย

| | Share

รังแกผู้ลี้ภัย คือการรังแกประเทศไทย

“ครูอันวา” ปกติแล้วเรามักเรียกคนที่เป็นครูติดปากว่า “ครู” แม้ว่าเขาจะยังเป็นครูอยู่หรือไม่ก็ตาม  

ครูอันวาคนนี้คือผู้ลี้ภัย  เขาติดตามครอบครัวจากประเทศคูเวตมายังประเทศไทยเมื่อ 17 ปีก่อน 

แม้ประเทศไทยจะไม่รับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย 1951 เราก็อนุญาตให้สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เข้ามาทำงาน ครอบครัวของอันวาจึงสมัครเข้ารับการคัดกรองตรวจสอบประวัติจาก UNHCR และได้ถือเอกสารรับรองความเป็นบุคคลในความห่วงใยไว้ถือติดตัวตลอดมา

“ครูอันวา” โตขึ้นเป็นชายหนุ่มที่พูดภาษาไทยเหมือนคนไทย และได้งานเป็นครูสอนพลศึกษากับภาษาอังกฤษ  ทว่า การไม่มีสถานะทางกฎหมายเป็นปัญหากับการจ้างงาน เขาจึงเข้าขอรับความช่วยเหลือจากนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและบางกอกคลินิก ซึ่งเป็นคลินิกกฎหมายของคณะนิติศาสตร์ มธ.  

เมื่อประเทศต้นทางคือคูเวตไม่ยอมรับรองสัญชาติให้ และได้ทราบข้อมูลว่า คุณสมบัติตนเข้าเกณฑ์การยื่นขอบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะบุคคล หรือที่เรียกกันว่าบัตรเลข 0 (เนื่องจากเลขประจำตัวเลขแรกเป็นเลข 0) หรือบัตร 10 ปี (เนื่องจากมีอายุ 10 ปี) ครูอันวาจึงยื่นคำร้องนี้ไปกับสำนักงานเขตทุ่งครุ กทม.เมื่อปีพ.ศ. 2563

ผ่านมาสองปี ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ แต่แล้ว 22 กุมภาพันธ์ 2565 เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตก็โทรศัพท์มาสอบถามเพื่อยืนยันที่อยู่ของเขา จากนั้นอีกไม่นาน ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ต.ม.ก็มากดกริ่งที่บ้าน เข้าจับกุมครูอันวาขณะที่เขากำลังกินข้าวเย็น  อีกทั้งไม่ยอมให้ประกันตัวด้วยคำอ้างว่ากลัวหลบหนี

“การมีสถานะบุคคลตามกฎหมายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์” ร.ศ. ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ให้สัมภาษณ์กับ The Reporters 

“เรามีระเบียบคัดกรองผู้ลี้ภัย (ระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562) แต่ไม่เคยเอามาใช้ เรามีมาตรา 54 พ.ร.บ.คนเข้าเมืองที่ทำให้เรารับผู้ลี้ภัยได้ แต่เราไม่อ้าง เราเลือกที่จะไม่ใช้ข้อกฎหมายที่เป็นคุณกับมนุษย์ แต่กลับไปใช้ข้อกฎหมายที่ไม่เป็นคุณกับมนุษย์ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ”

“แล้วจะขังเขาไปเพื่ออะไรกัน ถ้าเขามีประเทศให้หนีไป เขาไปนานแล้ว”

การรังแกผู้ลี้ภัยที่พยายามทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อที่เขาจะได้มีชีวิตอยู่ตามปกติ การฉวยโอกาสรังแกขณะที่ผู้ลี้ภัยเดินเข้าหาเจ้าหน้าที่รัฐด้วยความเชื่อมั่นอย่างบริสุทธิ์ คือการทำลายความมั่นคง ชื่อเสียง และจริยธรรมของประเทศไทย

ภาพประกอบ “มิตรภาพ” โดย Lingling ภาพวาดรางวัลดอ ธาน ธาน ลำดับที่ 1 ประเภทเยาวชน จากการประกวดภาพวาด “เพื่อนไร้พรมแดน” ปีพ.ศ. 2564

Related