อย่าปล่อยให้เป็นตามยถากรรม
6 เมษายน จำนวนผู้ลี้ภัยริมแม่น้ำเมยตลอดแนว อ.แม่ระมาดและแม่สอด จ.ตาก ทวีขึ้นเป็นกว่า 8,000 คนภายในเวลากว่า 20 ชั่วโมง ขณะที่เสียงการสู้รบบนพื้นที่เมียวดีตอนเหนือดังสนั่นแต่เช้า
จำนวนผู้ลี้ภัยมหาศาลที่ไหลบ่าเข้ามาในเพียงวันเดียว คือการยืนยันว่า รัฐบาลไทยไม่สมควรและไม่สามารถปล่อยให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเป็นผู้ควบคุมและจัดการกันไปตามยถากรรม โดยไม่เปิดรับความช่วยเหลือจากภาคเอกชนที่พร้อมและมีประสบการณ์มากกว่า
นโยบายการจัดการผู้ลี้ภัยทั้งในสถานการณ์ภัยสงครามหรือภัยการไล่ล่าจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมือง กับนโยบายการต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านที่ผู้ปกครองเข้าข่ายอาชญากรสงคราม จำเป็นจะต้องฟันธงโดยมองภาพระยะยาวถึงอนาคตลูกหลาน ไม่ใช่เพียงผลประโยชน์ปัจจุบัน และมิใช่การปล่อยปละละเลยให้ท้องถิ่นปฏิบัติกันไปตามยถากรรม
ล่าสุด รายงานจากสำนักข่าว Myanmar Pressphoto Agency (5/04/66) ระบุว่า ทหาร PDF (People’s Defence Front) จำนวน 3 คนที่เข้ามารับการรักษาตัวใน อ. แม่สอด และถูกจับกุมในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายไปเมื่อวันเสาร์ที่ 1 เม.ย. 2566 ได้ถูกส่งกลับเข้าสู่มือทางการพม่าแล้ว
การเจรจาขอให้ยับยั้งการส่งกลับบุคคลทั้งสามในวันจันทร์ที่ 3 เม.ย. ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ต.ม.ว่าให้กลับมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น แต่แล้วในวันที่ 4 เม.ย. คนทั้งหมดกลับถูกส่งตัวไปให้กับกองทหาร BGF ภายใต้อาณัติกองทัพพม่า โดยระหว่างพยายามหลบหนี รายหนึ่งถูกยิงเสียชีวิต อีกสองรายบาดเจ็บ ซึ่งคาดว่าหากไม่เสียชีวิตไปแล้วก็ต้องกำลังถูกคุมขังซ้อมทรมานอยู่ที่เมาะลำไย
รัฐไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550 มาตรา 13 ของพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ก็ระบุชัดว่า “ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย”
น่าเสียดาย พ.ร.บ.ดังกล่าวควรจะมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่ 22 ก.พ. 2566 แล้ว หากไม่ถูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติตัดตอน ขอเลื่อนเวลาโดยอ้างเหตุผลเรื่องงบประมาณและความพร้อมของเจ้าหน้าที่
PDF คือกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ถูกไล่ล่าปราบปรามจนหันมาจับอาวุธขึ้นสู้ แน่นอนว่า หลักสากลในการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยนั้นต้องยึดถือแนวทางมนุษยธรรมและความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ สถานะการเป็นผู้ถืออาวุธจึงทำให้บุคคลทั้งสามไม่อาจได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้ลี้ภัย
ทว่า ตามคู่มือแนวปฏิบัติของ UNHCR ก็ชี้ชัด สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ว่า ด้วยหลักความเป็นกลางของรัฐ ผู้ถืออาวุธที่ถูกจับกุมจะต้องอยู่ในที่คุมขังไปจนกว่าสงครามความขัดแย้งนั้นจะยุติ หรือ จนกว่าพวกเขาจะถอนตัวจากการเป็นนักรบและขอลี้ภัย โดยรัฐที่เป็นกลางจะต้องไม่ส่งกลับพวกเขาไปอยู่ในมือฝ่ายคู่สงคราม
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ จะคาดให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรับรู้และปฏิบัติตามอย่างแม่นยำ โดยปราศจากนโยบายและมาตรการชัดเจนจากรัฐส่วนกลางก็ย่อมเป็นไปได้ยาก นโยบายการจัดการคนข้ามแดนในระยะยาวที่ตอบทั้งโจทย์ด้านสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของมนุษย์ จึงต้องเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคการเมืองทุกพรรคที่กำลังเดินหน้าหาเสียงสำหรับการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 นี้
ต้องเป็นนโยบายที่มีกึ๋นมากกว่าการแถลงภาพกว้าง ๆ แบบที่ใคร ๆ ก็ว่าได้
6 เมษายน 2566
ภาพประกอบ
1-2. ผู้ลี้ภัยริมน้ำเมย โดย ชาวบ้านริมเมย
3. พิกัดจุดสู้รบหนัก
4. สมาชิก PDF สามคนที่ถูกจับกุมและส่งกลับ โก ธิฮา ที่ใส่หมวกสีดำ ถูกสังหารเสียชีวิต