ส่งกลับผู้ลี้ภัย ใครได้ประโยชน์ ?

ส่งกลับผู้ลี้ภัย ใครได้ประโยชน์ ?

| | Share

ส่งกลับผู้ลี้ภัย ใครได้ประโยชน์ ?

พฤศจิกายน 2564 รัฐบาลไทยตกเป็นข่าวไปทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อถูกสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติต่าง ๆ ประณามการส่งตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองหญิงและชายกัมพูชากลับประเทศไปกลับถึง 3 คน

https://www.aljazeera.com/news/2021/11/24/holdthailand-refugee-deportations-trigger-condemnation-defiance

เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลไทยยืนยันละเมิดหลักการ Non-refoulement อันเป็นกฎจารีตประเพณีระหว่างประเทศว่าด้วยการไม่ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับไปสู่ดินแดนที่ชีวิตและเสรีภาพจะถูกคุกคาม และกระทำการอันขัดต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และลงโทษหรือการปฏิบัติอื่น ๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม (CAT) ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคี

บุคคลทั้งสามล้วนเป็นสมาชิกพรรคการเมือง CNRP ซึ่งถูกศาลกัมพูชาสั่งยุบไปด้วยข้อหาสมคบคิดกันโค่นล้มรัฐบาลเมื่อปี 2560 และทำให้พรรคของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างง่ายดายไร้คู่แข่ง  นับจากนั้น มีรายงานข่าวการใช้ความรุนแรงนอกระบบ รวมถึงการตั้งข้อหาทางอาญานานาต่อสมาชิก CNRP และครอบครัว ส่งผลให้มีผู้หลบหนีมาขอลี้ภัยในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งคนเหล่านี้ได้สมัครเข้ารับการตรวจสอบประวัติและขึ้นทะเบียนให้เป็นบุคคลในความห่วงใยของ UNHCR ซึ่งถือเป็นความคุ้มครองระหว่างประเทศ 

ทางการไทยได้ตอบโต้ต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ว่า การส่งตัวผู้ลี้ภัยทั้งสามกลับเป็นการกระทำตามกระบวนการยุติธรรมไทย โดยโฆษกประจำสำนักนายกฯอ้างคำกล่าวของนายกฯต่อผู้สื่อข่าวว่า “ไทยต้องไม่เสียประโยชน์ใด ๆ”

การส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศที่ซึ่งชีวิตและเสรีภาพของพวกเขาจะถูกคุกคาม คือการแสดงตนว่า ไทยไม่ใส่ใจต่อหลักมนุษยธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ใส่ใจว่าการกระทำของตนจะส่งผลให้มีผู้ถูกคุมขัง ถูกกระทำทารุณ หรือกระทั่งตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิตอย่างไร  ที่สำคัญ มันยังเป็นการแสดงออกถึงการสนับสนุนทางการเมือง ต่อการปราบปรามสมาชิกพรรคฝ่ายค้านของรัฐบาลกัมพูชาอีกด้วย 

ขณะที่ การไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับ คือการยืนยันถึงวิถีปฏิบัติอันสอดคล้องต่อกฎหมายระหว่างประเทศ การแสดงตนถึงความเป็นประเทศอารยะ และการแสดงจุดยืนว่าไม่ได้เข้าข้างพรรคการเมืองใดของประเทศเพื่อนบ้าน หากเพียงยึดหลักการอันเป็นที่เคารพในสากลโลก 

มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน มีความห่วงใยต่อแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยทางการเมืองของรัฐไทยเป็นอย่างยิ่ง ยังคงมีผู้ลี้ภัยกัมพูชาที่ถูกจับอยู่ในที่คุมขังและยังมิได้ส่งกลับ ขณะที่สถานการณ์การปราบปรามประชาชนผู้ต่อต้านรัฐประหารพม่าอย่างโหดเหี้ยม ทำให้น่าเชื่อได้ว่าจะมีผู้เข้ามาขอลี้ภัยในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

บุคคลเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากร พวกเขาเพียงต้องการให้บ้านเมืองของตนอยู่รอด พัฒนา และเป็นเสรีเท่านั้น  หากผู้ลี้ภัยสามารถเตรียมเอกสารและขอเดินทางเข้าประเทศไทยได้ตามช่องทางปกติ  ใครเล่าจะไม่อยากทำ ? แต่การลี้ภัยมักคือการหลบหนีจากอำนาจรัฐอย่างปัจจุบันทันด่วน และไม่อาจใช้ช่องทางอันเป็นปกติหรือเปิดเผยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าเจ้าหน้าที่ไทยจะจับกุมและเนรเทศพวกเขาตั้งแต่ข้ามแดนหรือไม่

คำถามที่นี้จึงคือ เมื่อส่งกลับผู้ลี้ภัยไป ใครได้ประโยชน์ ? ประชาชนไทยได้ประโยชน์อย่างไรกับการที่คนเหล่านี้จะถูกคุมขัง ทรมาน หรือเสียชีวิต 

และ ถ้าไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัย ใครเสียประโยชน์ ประชาชนไทยที่กำลังเดือดร้อนกับปัญหาโรคระบาด ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ดินทำกิน มลภาวะ ภัยพิบัติ ค่าแรง ฯลฯ จะเสียประโยชน์อย่างไร ?

ผู้ลี้ภัยไม่ได้เป็นอะไรอื่นนอกจากคน 

28 พฤศจิกายน 2564

Related