ว่าด้วยถ้อยคำกับผู้ลี้ภัย
คำว่า “ผู้ลี้ภัย” ในภาษาไทยนั้น แปลตรงตัวคือคนหนีภัย
หากใช้นิยามตามกฎหมายระหว่างประเทศของคำว่า refugee ก็จะขยายความให้ชัดเจนขึ้นว่าหมายถึงคนที่ต้องหนีการประหัตประหารจากประเทศตนไปยังประเทศอื่น และไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะกลับถิ่นฐานเดิมเนื่องด้วยความหวาดกลัวนั้น
แต่คำทั่ว ๆ ไปที่ใช้เรียก “ผู้ลี้ภัย” ในภาษากะเหรี่ยงและพม่า เมื่อแปลตรงตัวจะคือ “ผู้ประสบความยากลำบาก” (ปก่าบ้ากอบ้าแค หรือโต้ค่าแส่) ซึ่งคำเดียวกันนี้ใช้เรียกผู้พลัดถิ่นในประเทศ (IDPs) ด้วย
แล้วผู้ลี้ภัยอยากเรียกตัวเองว่าอย่างไร
ในการศึกษาของกลุ่มเสียงชาวบ้าน ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งชาวกะเหรี่ยงสัญชาติไทยและผู้อพยพย้ายถิ่นจากพม่า ได้มีการสัมภาษณ์และจัดการสนทนากลุ่มย่อยกับผู้ลี้ภัยในหลายชุมชนถึงความรู้สึกนึกคิดต่อถ้อยคำต่าง ๆ ที่มีผู้ใช้เรียกตน โดยใช้วิธีแปลภาษาตรงตัวจากไทยเป็นกะเหรี่ยง ซึ่งนอกจากคำว่าผู้ลี้ภัยแล้ว ยังมีผู้หนีภัยการสู้รบ ผู้อพยพ ผู้หนีภัยความตาย เป็นต้น
ผลการศึกษาพบว่า ชาวบ้านในค่ายผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งปฏิเสธชัดกับคำว่าผู้หนีภัยการสู้รบ และผู้หนีภัยความตาย โดยให้เหตุผลว่า เป็นคำที่ไม่ครอบคลุมคนทั้งหมดในค่ายผู้ลี้ภัย และคนที่ถูกตัดออก ก็จะเสมือนถูกตัดความเคารพและสิทธิที่จะต้องได้รับความคุ้มครองด้วย
ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ มีข้อคิดเห็นมากมายไปในทางเดียวกันว่า คำว่า “ผู้ประสบความยากลำบาก” (ปกาบ้ากอบ้าแค) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกกันโดยทั่วไปนั้น เป็นการตอกย้ำปัญหา มีนัยยะถึงการพึ่งพาและความไร้ศักยภาพของมนุษย์ ขณะที่ “ผู้ลี้ภัย” เป็นการแสดงตนโดยกล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องมาอยู่ในค่ายพัก และมีความชัดเจนว่าปัญหายากลำบากนี้ไม่ใช่สิ่งที่ตนก่อขึ้นจนต้องวนเวียนทุกข์ยากกันอยู่ต่อไปไม่รู้จบ ดังเช่นการสนทนากลุ่มหนึ่งในชุมชนผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งที่กล่าวว่า
“คำว่าปก่าบ้ากอบ้าแคนั้นฉันไม่ชอบ แต่มันเป็นความจริง ก็ต้องทนฟัง” (หญิง 1)
“ถ้าเราป่วยเป็นโรคเรื้อน แล้วมาเรียกเราว่าคนโรคเรื้อน เราก็ไม่ชอบใช่ไหม ควรจะเรียกว่าเราเป็นผู้ป่วยที่มารักษาตัวจะถูกต้องกว่า ตอนนี้เราเป็นผู้มารักษาตัว” (ชาย 2)
“คำว่าปก่าบ้ากอบ้าแคมันแสดงว่าปกาเกอะญอเราไม่ได้เรื่อง ยากลำบากอยู่อย่างนั้น หมดทางจะไป เรียกว่าคนที่หนีภัยมานั้นจะใช้ได้ เพราะเราได้รับผลกระทบต่าง ๆ จึงต้องหนีมา” (ชาย 1)
แน่นอนว่าการศึกษาของคนกลุ่มเล็ก ๆ ไม่สามารถแสดงถึงฉันทามติของผู้ที่ต้องหลบหนีการประหัตประหารข้ามพรมแดนมาว่าต้องการให้ผู้อื่นกล่าวถึงตนว่าอย่างไร แต่สมาชิกกลุ่มเสียงชาวบ้านก็ระบุข้อเรียนรู้อันเป็นพื้นฐานสำคัญว่า คนเราย่อมมีสิทธินิยามตน และเสียงของเขาควรได้รับการรับฟังอย่างเคารพเสมอ
31 สิงหาคม 2565
หมายเหตุ อ้างอิงจาก “ตัวตนคนปกาเกอะญอ” ภาพจากสายตาคนปกาเกอะญอชายแดนไทย-พม่าตอนเหนือ, 2556 ผลการศึกษาเรียนรู้ของคณะทำงานเสียงชาวบ้าน จัดพิมพ์โดยศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา และศูนย์ภูมิภาคด้นสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่