รัฐไทยจะต้องไม่ละเมิดสิทธิการลี้ภัยซ้ำซาก

รัฐไทยจะต้องไม่ละเมิดสิทธิการลี้ภัยซ้ำซาก

| | Share

รัฐไทยจะต้องไม่ละเมิดสิทธิการลี้ภัยซ้ำซาก

เมื่อต้นปี มีนาคม – พฤษภาคม 2564 ไทยได้ดำเนินการส่งผู้ลี้ภัยสงครามกลับมื่อตรอ รัฐกะเหรี่ยงก่อนเวลาอันควร ในขณะที่ผู้คนยังหวาดผวาด้วยเครื่องบินสอดแนม การทิ้งระเบิด และการยิงปืนใหญ่ จนกระทั่งบัดนี้คนจำนวนมากก็ยังไม่ได้กลับเข้าไปอาศัยในบ้าน

ล่าสุด เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไทยได้จับกุมผู้ลี้ภัยจากประเทศมาเลเซีย ที่หลบหนีการประหัตประหารอันเนื่องจากเพศสภาพของตนเอง โดยทางมาเลเซียกำลังเจรจาให้ส่งตัวเธอในฐานะ “ผู้ร้ายข้ามแดน” กลับไปรับโทษในข้อหาที่แต่งตัวเป็นหญิงไปเข้าเยี่ยมโรงเรียนสอนศาสนาเพื่อบริจาคความช่วยเหลือ 

นูร ซาญัต เจ้าของธุรกิจเครื่องสำอางค์วัย 36 ปี ถูกเจ้าหน้าที่การศาสนาอิสลามของรัฐซาลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย จับกุมใส่กุญแจมือดำเนินคดีฐาน “ลบหลู่และดูหมิ่นศาสนาอิสลาม” เมื่อได้รับการประกันตัว เธอจึงหนีมายังประเทศไทย เพื่อเดินเรื่องขอลี้ภัยไปประเทศออสเตรเลีย 

แม้โทษที่นูร ซาญัตจะได้รับหากได้รับการตัดสินว่าผิดจริงคือ คือการจ่ายค่าปรับไม่เกิน 40,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 3 ปี ซึ่งมีผู้มองว่าไม่ใช่โทษหนัก หากเสรีภาพในการดำรงและแสดงออกเพศสภาพของตนนั้นถือเป็นสิทธิมนุษยชน ไม่มีมนุษย์ผู้ใดสมควรจะได้รับโทษทางอาญา หรือถูกคุมขังแม้เพียงนาทีเดียวจากการแต่งกายตามเพศสภาพ 

ที่สำคัญ นูร์ ซาญัตแจ้งแก่ UNHCR ว่า เธอถูกขู่ฆ่าและตามล่าด้วยเจ้าหน้าที่ถึง 122 คน อีกทั้งยังมีการเจรจาให้ส่งตัวเธอกลับประเทศดังกล่าว คดีนี้จึงไม่ใช่เพียง “คดีเล็ก ๆ” และมีแนวโน้มว่า นูร์ ซาญัต อาจตกอยู่ในอันตราย โดยอาจได้รับการแจ้งข้อหากล่าวโทษที่สูงกว่าเดิม

แม้ไทยจะไม่ได้เป็นภาคีต่ออนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย (Convention on the Status of Refugees) ก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ไทยจะต้องส่งตัวผู้ลี้ภัยจากการประหัตประหารอันเนื่องจากเพศสภาพกลับไปสู่อันตราย 

ไทยไม่มีกฎหมายกำหนดโทษดังกล่าว นูร์ ซาญัตกำลังอยู่ในระหว่างเดินเรื่องเพื่อขอลี้ภัยในประเทศออสเตรเลีย การส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับไปสู่การประหัตประหาร การทรมาน เเละการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หมิ่นหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นการขัดต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ที่รัฐไทยเป็นภาคี และขัดกฎจารีตประเพณีสากลว่าด้วยการไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัยไปสู่อันตราย (non-refoulement)

รัฐไทยจะต้องไม่ทำผิดซ้ำซาก ชีวิต เสรีภาพ และสวัสดิภาพทางกายและใจของมนุษย์คนหนึ่งมีความหมายเสมอ

22 กันยายน 2564

หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก TNN News 

Related