มนุษยธรรมไร้พรมแดน
การปฏิบัติหน้าที่ทางมนุษยธรรมของทีมงานสาธารณสุขไทยโดยมิได้แบ่งแยกเชื้อชาติและสัญชาติ ทำให้ประชาชนชายแดนและเราทั้งหลายรู้สึกอบอุ่นใจ
นอกจากผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง 82 คน 16 ครอบครัวที่หลบภัยอยู่ใกล้บ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย แม่ฮ่องสอนจะได้รับการดูแลเบื้องต้นจากชาวบ้านและอสม.ท่าตาฝั่งแล้ว ชาวบ้านหญิงชายที่บาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดและไฟคลอก (รวมเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีหนึ่งคนและคนชราอายุ 60 ปีหนึ่งคน) อันเป็นผลจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพพม่าที่บ้านเดปู่โน่ จังหวัดมื่อตรอ รัฐกะเหรี่ยงจำนวน 7 คน ยังได้มีรถพยาบาลพานำส่งโรงพยาบาลสบเมย 4 คน แม่สะเรียง 1 คนและแม่ฮ่องสอน 2 คนหลังจากที่ได้ตรวจโควิด 19 เบื้องต้นที่รพสต.แม่สามแลบตามมาตรการเบื้องต้นด้วย โดยมีข้อมูลว่า ICRC (International Committee of Red Cross) หรือคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล
ทว่า ในขณะเดียวกัน ในอ.แม่สะเรียง ผู้ลี้ภัยที่หนีการโจมตีทางอากาศจากจังหวัดมื่อตรอมาเมื่อบ่ายวันที่ 28 มี.คและตกค้างจากการถูกผลักดันกลับไปเมื่อเย็นวาน ก็กำลังถูกเจ้าหน้าที่ทหารผลักดันกลับไปจนหมดเช่นเดียวกัน
ภาพวิดีโอที่เผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ เผยให้เห็นว่า ชาวบ้านได้พยายามชี้แจงเหตุผลที่จำเป็นจะต้องอยู่ต่อ หากก็ไม่เป็นผล การเดินทางกลับนี้จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า เป็นไปโดย “สมัครใจ” แม้จะไม่ได้มีผู้ใด “เอาปืนจ่อหัว” ดังที่ผู้นำประเทศเปรียบเปรยในคำสัมภาษณ์ อีกทั้งปฏิบัติการดังกล่าวก็ไม่อาจเรียกได้ว่า เป็นการ “ทำความเข้าใจ” จนกระทั่งชาวบ้านสมัครใจกลับ ดังที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับคำชี้แจงมาจากหน่วยงานความมั่นคง
และ แม้เราจะอุ่นใจกับคำแถลง/ให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ว่า หากผู้ลี้ภัยจะต้องพักอยู่ในระยะยาวขึ้น ทางจังหวัดจะได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน รวมถึง UNHCR ให้เข้ามาร่วมดูแล หากประเด็นที่ว่าการอยู่ระยะยาวนั้นหมายถึงกี่วัน และผู้ที่ตัดสินว่าผู้ลี้ภัยจะสามารถกลับคืนถิ่นฐานได้หรือไม่ยังคงเป็นหน่วยงานความมั่นคงหรือกองกำลังนเรศวร ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
เพราะ สถานการณ์ที่ฝ่ายความมั่นคงมองว่าปลอดภัยเพียงพอที่จะกลับไปในวันนี้ ยังคือการยิงปืนใหญ่ที่หมู่บ้านเคล่อเป่อโค่ จังหวัดมื่อตรอ และการโจมตีทางอากาศของกองทัพพม่าก็ยังดำเนินอยู่ในจังหวัดเคล่อลุยทู (พะโคตะวันออก) ติดกับจังหวัดมื่อตรอ ชาวบ้านที่กลับไป จึงยังอาศัยอยู่ริมน้ำ กลางดินทราย ใต้โขดหิน
การรีบร้อนให้กลับถิ่นฐานหลังจากพักนอนได้เพียงคืนเดียวแทนที่จะรอดูสถานการณ์ให้แน่ใจมีความจำเป็นเพียงไร หลักมนุษยธรรมที่เราได้ยินบ่อย ๆ จากผู้นำประเทศจะจำกัดอยู่เพียงหากผู้ปฏิบัติคือแพทย์พยาบาลเช่นวันนี้หรือไม่ ยังไม่มีตอบ
30 มีนาคม 2564
ขอบคุณภาพรถพยาบาลจาก The Reporters
และภาพผู้ลี้ภัยที่ถูกผลักดันกลับ จากชาวบ้านลุ่มน้ำสาละวิน