ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงยังอยู่ที่นี่ การปิดกั้นความช่วยเหลือยังดำเนินอยู่
เป็นที่น่ายินดี ที่สำหรับกรณีผู้ลี้ภัยทีมสำนักข่าว DVB (Democratic Voice of Burma) ซึ่งหลบหนีการประหัตประหารจากพม่ามาถูกจับกุมที่เชียงใหม่นั้น มีทั้งองค์กรเอกชน สมาคมวิชาชีพด้านสื่อและสื่อต่าง ๆ สถานทูตนานาประเทศ UNHCR (สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) หรือกระทั่งกลุ่มประชาสังคมชาวกะเหรี่ยงทั่วโลก ต่างก็ให้ความสนใจ จับตามอง ตลอดจนพยายามเข้าไปช่วยเหลือ – แทรกแซงเพื่อป้องกันการส่งกลับไปสู่อันตราย ซึ่งก็มีเสียงตอบรับจากกระทรวงการต่างประเทศแล้วว่า จะได้มีการหาทางออกทางมนุษยธรรมให้ต่อไป
หาก บนขอบแดนที่ชายแดนอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงราวสองพันยังคงอยู่ที่นั่น หลังจากที่กลุ่มใหญ่ในจำนวนใกล้เคียงกันถูกผลักดันกลับไปเมื่อ 8-9 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะปืนใหญ่ปืนน้อยยังดัง เครื่องบินยังทิ้งระเบิด (8 พ.ค.) โดยเส้นทางการขนส่งความช่วยเหลือก็ยังถูกปิดกั้นอย่างเข้มงวด
วิกฤตมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนนี้ดำเนินมากว่าเดือน นับแต่ปลายมี.ค. ไม่ว่าเรา ภาคีองค์กรเอกชน 62 องค์กรร่วมกับประชาชนจำนวนมาก หรือเครือข่ายประชาชนท้องถิ่นลุ่มน้ำสาละวิน จะเพียรพยายามส่งเสียงเรียกร้องอย่างไร
รัฐไทยปฏิเสธข้อเท็จจริงของการดำรงอยู่และสภาพความยากลำบากของผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงเสมอมา ไม่กี่วันก่อน ทางการยังรายงานตัวเลขเพียง 38 คน แต่เมื่อในวันเดียวกันมีสื่อมวลชนเผยแพร่ภาพข่าวผู้ลี้ภัยกว่าพันซึ่งหลบหนีมายังตอนเหนือของแม่สะเรียงตั้งแต่ต้นเดือน ล่าสุด (13 พ.ค.) ตัวเลขของรัฐจึงระบุผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1700 คน เสมือนคนมากมายเพิ่งข้ามแดนมาเมื่อวาน
ณ ยามนี้ ไม่ว่าจำนวนแท้จริงของผู้ลี้ภัยจะมีกว่าพัน หรือกว่าสองพัน ที่แน่นอนก็คือ พวกเขาต้องพักอยู่ใต้เพิงผ้าพลาสติกที่แทบจะไม่บังฝน ไม่มีมุ้งเพียงพอจนป่วยเป็นไข้มาลาเรีย ไม่มีน้ำสะอาดจนก่อให้เกิดโรคท้องร่วงระบาด ไม่มีห้องน้ำซึ่งเป็นทั้งปัญหาด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยสำหรับผู้หญิงกับเด็กหญิง และขาดแคลนอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
ทั้ง ๆ ที่ “ความช่วยเหลือมีพร้อมแล้ว” จากน้ำใจของประชาชนไทยที่หลั่งไหลมามหาศาล แต่ก็ต้องกองอยู่ในเมืองเพราะเข้าไปไม่ได้ หากจะไปได้ก็ทีละเล็กละน้อย ยากเย็นแสนเข็ญ
ชาวบ้านกะเหรี่ยงเหล่านี้ คือผู้ลี้ภัยสงครามที่หลั่งไหลข้ามแดนมาเป็นกลุ่ม การเป็นผู้ลี้ภัยแบบ ‘prima facie’ ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่สันนิษฐานได้ว่าเป็นผู้ลี้ภัย(แม้จะไม่ได้มีการสัมภาษณ์เป็นรายบุคคล) นั้น มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับบุคคลที่หลบหนีการประหัตประหารอันสืบเนื่องจากความคิดเห็นทางการเมือง ดังเช่นสมาชิก DVB
ด้วยศักดิ์ศรีและสิทธิที่เท่าเทียมกันของผู้ลี้ภัยทั้งหลาย เราขอเรียกร้องให้สื่อมวลชน กลุ่มประชาสังคมพม่าและผู้ที่สนับสนุนประชาธิปไตยในพม่า สถานทูตนานาประเทศ และ UNHCR ได้ช่วยกันให้ความสนใจ จับตามอง และเข้าไปช่วยเหลือ-แทรกแซง เพื่อยุติการผลักดันไปสู่อันตรายอันซ้ำซาก และยุติการปิดกั้นความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอันยืดเยื้อนี้
อย่าปล่อยให้พวกเขาต้องต่อสู้แต่เพียงลำพัง
13 พฤษภาคม 2564
ภาพประกอบ : ผู้ลี้ภัยที่ถูกผลักดันกลับอีตู่ท่า และสภาพเพิงพักของผู้ลี้ภัย ถ่ายโดยชาวบ้านสาละวิน