ธุรกิจค้ามนุษย์หลังรัฐประหาร

ธุรกิจค้ามนุษย์หลังรัฐประหาร

| | Share

ธุรกิจค้ามนุษย์หลังรัฐประหาร

หลายต่อหลายปีที่ผ่านมา เราคุ้นเคยกับข่าวหญิงชายจากพม่าถูกล่อลวงโดยขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติเข้าสู่วงจรแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง การค้าบริการทางเพศ ตลอดจนโรงงาน และงานแม่บ้านในประเทศไทย  จำนวนและถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของเหยื่อผู้ถูกค้าจะเพิ่มและขยายกว้างไกลขึ้นสัมพันธ์กับสภาพความรุนแรงทางการเมืองและความรุนแรงทางเศรษฐกิจของพม่าในขณะนั้นเสมอ ยิ่งผู้คนสิ้นหวังต่อการดำรงชีวิตมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งถูกหลอก ล่อ บังคับ หรือชักจูงให้ยอมเสี่ยงไปตายเอาดาบหน้าในต่างประเทศได้เท่านั้น 

ข้อสังเกตดังกล่าวยังใช้ได้กับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่พม่าล่มสลายทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ระบบยุติธรรม เดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า ทว่า ปรากฏการณ์นี้ กลับดำเนินไปควบคู่กับปรากฏการณ์ใหม่ นั่นคือ การค้ามนุษย์จากไทยไปพม่า ไม่ใช่จากพม่ามาไทยแต่อย่างเดียว

การค้ามนุษย์จากไทยเข้าสู่พื้นที่ชายแดนใกล้เมียวดี ตรงข้ามอ.แม่สอด จ.ตาก เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีสองปีก่อนรัฐประหารในอัตราเบาบาง จนมาเฟื่องฟูพุ่งสูงขึ้นหลังรัฐประหาร 1 ก.พ. 2564 นี้  พื้นที่เป้าหมายที่เล่าขานกันถึง ก็คือเมืองจีนใหม่ หรือฉ่วย ก๊กโก่ โครงการ 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอันเป็นความร่วมมือของบริษัทย่าไถ่ อินเตอร์เนชั่นแนลกับ BGF หรือกองกำลังพิทักษ์ชายแดนชาวกะเหรี่ยงใต้อาณัติของกองทัพพม่า ซึ่งถูกระงับการก่อสร้างไปในสมัยรัฐบาล NLD แต่ได้กลับมาเดินหน้าคึกคักระยิบระยับเต็มสูบในช่วงหลังรัฐประหาร

ตลอดครึ่งแรกของปี 2565 ข่าวคราวในสื่อมาเลเซีย ฮ่องกง กัมพูชา จีน ฟิลิปปินส์  ไทย กล่าวถึงกรณีที่พลเมืองตนถูกล่อลวงเข้าพื้นที่ “เมืองจีน” ตรงข้ามอ.แม่สอดและถูกบังคับให้ทำงานที่ไม่ปรารถนา ซึ่งแบ่งได้เป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือ การค้าบริการทางเพศ ดังเช่นกรณีหญิงไทยสองคนที่ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเมยหนีกลับมาแม่สอดและให้การถึงหญิงไทยอีกราว 300 คนที่ยังติดอยู่ที่นั่น กับการเข้าร่วมธุรกิจหลอกลวงออนไลน์สารพัดแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนคริปโต ไปจนถึงการหาคู่ โดยที่ทุกอย่างไม่มีอยู่จริง มีรายงานการทำร้ายร่างกายผู้ที่ไม่ยินยอม และทุกรายได้รับการแจ้งว่า หากต้องการออกจากสถานการณ์ดังกล่าวก็ต้องเสียค่าไถ่ตัวเป็นอัตราแตกต่างกันไป เช่น หลักหลายหมื่นบาทในไทย หรือ 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (สี่แสนกว่าบาท) หรือ 120,000 ริงกิตมาเลเซีย (เก้าแสนกว่าบาท) เป็นต้น

ข่าวที่ปรากฏ มักเกิดจากการที่มีคนหนีกลับมาได้ดังกรณีหญิงไทย หรือครอบครัวไถ่ตัวกลับมาได้ดังกรณีของชายหนุ่มวัยรุ่นมาเลเซีย หรือโดยทางการของประเทศนั้น ๆ ได้รับคำร้องเรียนจากครอบครัวให้ช่วยเหลือเหยื่อออกมาจากประเทศพม่า ดังเช่นกรณีมาเลเซีย หรือฮ่องกง เป็นต้น การช่วยเหลือคนออกจากพื้นที่ซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธคุมอยู่นั้นไม่ได้สามารถทำได้ทุกราย เนื่องจากไม่สามารถใช้วิธีเจรจาความแบบรัฐต่อรัฐกับคณะทหารพม่า (SAC) ได้เลย

เป้าหลักแรกเริ่มของขบวนการค้ามนุษย์ก็คือคนเชื้อชาติจีน หรือคนที่พูดภาษาจีนได้ในประเทศต่าง ๆ เพราะต้องการให้ทำงานบริการกับแขกคนจีน หรือร่วมขบวนการหลอกลวงคนจีนที่มีอยู่มากมายทั่วโลก  คนเหล่านี้มักถูกชักชวนให้สมัครงานตามโฆษณาในเฟสบุ๊กที่กล่าวถึงงานรายได้ดี เช่น เป็นพนักงานขาย พนักงานคาสิโน หรือเป็นครูสอนภาษาจีนและอังกฤษในโรงเรียนนานาชาติ  บางรายให้การว่า งานที่ชักชวนระบุว่าอยู่ในประเทศไทย ขณะที่ความเป็นจริงแล้วต่างถูกลักลอบพาข้ามแม่น้ำเมยเข้าไปในพม่า กว่าเจ้าตัวจะตระหนักว่าได้ข้ามพรมแดนไปก็คือตกอยู่ในสภาพที่มีคนถือปืนคุมอยู่ในตึกพัก-ทำงานแล้ว

ผ่านไป 19 เดือนหลังรัฐประหาร ขบวนการค้ามนุษย์เข้าพม่า ถึงกับขยายเครือข่ายไปไกลจนบรรจบกับเครือข่ายค้ามนุษย์สายอัฟริกา รายงานข่าวของประเทศเคนยาระบุว่าทางการได้รับโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากเหยื่อ หรือครอบครัวเหยื่อถึงราว 30 ราย แต่ละรายล้วนเป็นหญิงสาวที่ต้องขายที่ดินทรัพย์สินมาจ่ายค่าเดินทางให้นายหน้า และถูกพาตัวข้ามไปเมียวดีให้ไปทำงาน “สกปรก”  ซึ่งด้วยเหตุที่เคนยาไม่มีสถานทูตในพม่า การติดต่อขอความช่วยเหลือจึงต้องกระทำผ่านสถานทูตเคนยาในไทย ผู้เสียหายที่ได้รับการช่วยเหลือจะได้รับการพาตัวมายังสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อกลับบ้าน ขณะที่คนล็อตใหม่ก็กำลังเดินทางมาอย่างไม่หยุดยั้ง

ความล่มสลายของพม่าภายใต้การกุมอำนาจของคณะทหารในวันนี้ จึงเป็นการบำรุงบำเรอขบวนการค้ามนุษย์ทั้งสองทาง คือผลักให้ผู้คนหลั่งไหลออกนอกประเทศอย่างสิ้นหวังจนต้องตกเป็นเหยื่อขบวนการค้าคนเข้าสู่ หรือผ่านทาง ไทย  กับอำนวยการให้เกิดพื้นที่เศรษฐกิจเถื่อนภายใต้ผลประโยชน์และการควบคุมของคนถืออาวุธ (รวมถึงกองทัพพม่า) ในประเทศตนเอง และฉุดลากผู้คนจากประเทศอื่นเข้าสู่พม่า  และต่อไปก็อาจผ่านผ่านทางไปยังแห่งอื่นต่อไปอีกเช่นกัน

26 สิงหาคม 2565

อ่านประกอบ 1. 300 Thai women forced into prostitution in Myanmar: escapee’, The Bangkok Post, 25/04/22, 2. Trafficked teens returns home, claims ‘hundreds’ still held captive in Myanmar, Free Malaysia Today, 8/06/22, 3. Crime gangs control some Myanmar, Laos Economic Zones : UN, Asia Financial, 26/06/22, 4. 8 Hongkongers allegedly trafficked as part of widespread job scam in Myanmar still cannot be found : Security Bureau, Coconuts Hongkong, 18/08/22, 5. Kenya ‘Overwhelmed’ by Job Scam Victims in Myanmar, The East African, 23/08/22

ธุรกิจค้ามนุษย์หลังรัฐประหาร (ตอน 2 )

Related