ธุรกิจค้ามนุษย์หลังรัฐประหาร (ตอน 2)

ธุรกิจค้ามนุษย์หลังรัฐประหาร (ตอน 2)

| | Share

ธุรกิจค้ามนุษย์หลังรัฐประหาร (ตอน 2)

รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งออกมาเมื่อก.ค. 2565 จัดให้ไทยอยู่ในระดับ Tier 2  ซึ่งหมายถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้นแม้การปฏิบัติจะยังไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำ ถือเป็นการขยับขึ้นจาก Tier 2 Watch List หรือกลุ่มที่เสี่ยงต่อการจะหล่นไปถึง Tier 3 ระดับต่ำสุด

พัฒนาการนี้มาจากความร่วมมือระหว่างรัฐกับองค์กรเอกชนไทย เช่น การตั้งศูนย์คัดแยกและคุ้มครองผู้เสียหาย การจัดทำกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism – NRM)  การดำเนินคดีตัดสินโทษจนท.รัฐที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น 

แต่ความก้าวหน้าทั้งหลาย ก็ล้วนเป็นงานเชิงตั้งรับและให้ความคุ้มครองผู้เสียหาย ยังไม่ได้ครอบคลุมการจัดการกับสภาพการณ์อันจะผลักให้คนถูกดึงเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์ ซึ่งต้องอาศัยงานด้านนโยบายอื่น ๆ รวมถึงนโยบายการต่างประเทศ นโยบายแรงงานข้ามชาติ และนโยบายผู้ลี้ภัย

รัฐประหารพม่า 1 ก.พ. 2564 ที่พ่วงด้วยความรุนแรงและการสู้รบอันแผ่ขยาย ได้เริ่มส่งผลให้เครือข่ายการค้ามนุษย์เติบโตคึกคักจนเป็นที่สังเกตเห็นได้ ดังที่เพื่อนไร้พรมแดนได้รายงานไว้ใน “ธุรกิจหลังรัฐประหาร” ตอนแรก (24 ส.ค. 65) ถึงปรากฏการณ์ใหม่ คือ ไทยได้ขยับจากการเป็นประเทศปลายทางของการค้ามนุษย์จากพม่า มาเป็นประเทศ transit (ผ่านทาง) และต้นทางเข้าไปด้วย  ขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงในพม่าก็ย่อมเป็นปัจจัยชั้นดีที่จะผลักให้ผู้คนเข้าไปเบียดเสียดกันในวงจรการค้ามนุษย์กันมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนรัฐไทยจะยังไม่ได้อัพเดทตัวเองกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมากนัก วานนี้ (6 ก.ย. 2565) แม้จะปรากฏข่าวการช่วยเหลือเด็กหญิงวัย 16 ที่ถูกหลอกจากบุรีรัมย์ให้ไปขายบริการในคาสิโนคอมเพล็กซ์ตรงข้ามแม่น้ำเมย (แม่สอด มีเดีย 6/09/65) ก็มีอีกข่าวในวันเดียวกัน ที่ระบุการ “จับกุม” ชาวเคนยา 7 คนที่ริมน้ำเมยเพื่อดำเนินคดีเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยมิได้มีการตั้งข้อสงสัย หรือให้ข่าวกับสื่อมวลชนไว้เลยว่า จะต้องมีการคัดกรองว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์หรือไม่อย่างไร ทั้งที่ก็มีสื่อต่างประเทศรายงานถึงการร้องขอความช่วยเหลือจากสถานทูตเคนยาในไทยกันอยู่หลายสำนัก 

นโยบายผู้ลี้ภัยที่ว่างเปล่าเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ปล่อยให้ผู้ลี้ภัยนักปกป้องสิทธิ์หรือนักกิจกรรมที่หนีตายเข้ามาอยู่ไปตามยะถากรรม เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ ตกเป็นเหยื่อการรีดไถ และการรับผู้ลี้ภัยชาวบ้านริมขอบแดนแบบที่พร้อมจะกดดันให้กลับในวันรุ่งขึ้นจนต้องข้ามไปข้ามมาราวกับว่าคนเป็นเพียง “ลูกปิงปอง”  ก็คือสิ่งที่ไทยดำเนินอยู่แบบเดิม ๆ โดยผู้กำหนดนโยบายไม่ได้อัพเดทกับปัญหาที่นับวันจะสะสมและขยายกว้างขึ้นทุก ๆ วัน

การศึกษาวิจัยว่าด้วยการค้ามนุษย์ในยุค 90s ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีสงครามประชิดชายแดนและศูนย์บัญชาการใหญ่ของ KNU ถูกตีแตกพบว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด กับการพบเจอประชากรในพื้นที่ดังกล่าวในฐานะผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในประเทศไทย  ข้อสังเกตนี้ยังใช้ได้เสมอจนปัจจุบัน  ความรุนแรงทางการเมืองที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงทางเศรษฐกิจสังคม มักทำให้ผู้คนยอมเสี่ยงไปตายเอาดาบหน้า ขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งก็หันมาเอาตัวรอดด้วยการหาประโยชน์จากเพื่อนมนุษย์ เรียกได้ว่าเข้าสู่เครือข่ายค้ามนุษย์กันทั้งในฐานะผู้ได้ประโยชน์และผู้ถูกล่อลวง

ในปี 2565 เราพบข่าวตำรวจจับ “ต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง” ติด ๆ กันมาหลายเดือน  บางรายงานชัดเจนว่าผู้ที่ถูกจับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์จากพื้นที่สู้รบ  ซึ่งข้ามแดนมายังจุดที่เคยมีการอพยพลี้ภัยและถูกผลักดันกลับมาก่อน ขณะที่มีรายงานการชักชวนสมาชิกหญิงของครอบครัวผู้ลี้ภัยแถบชายแดนเหนือให้ไปทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กในภูเก็ต เป็นแม่บ้านในกรุงเทพฯ  และชวนสมาชิกชายไปหางานทำชั่วคราวที่กรุงเทพฯ ฯลฯ โดยยังไม่มีใครทราบว่างานดังกล่าวมีจริงหรือไม่  ทั้งหมดล้วนคือการเสี่ยงโชคว่าจะเพียงผ่านกระบวนการลักลอบขนส่งคนเข้าเมือง (smuggling) หรือถูกนำส่งต่อเพื่อขายให้กับนายหน้าค้ามนุษย์  

คนทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ที่ปลายทางจะทำงานได้มีประสิทธิภาพเพียงไร ปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยก็ยากจะบรรเทา หากขาดนโยบายการต่างประเทศที่มากกว่าการประสานส่งตัวผู้เสียหาย/ผู้ต้องหา แต่ครอบคลุมถึงการสนับสนุนให้ประเทศต้นทาง “อยู่ได้จริง”  นโยบายแรงงานข้ามชาติที่ตอบสนองสถานการณ์และปฏิบัติได้จริง กับนโยบายผู้ลี้ภัยที่เน้นการบริหารจัดการได้จริง มากกว่าการปฏิเสธอย่างไร้ระบบ

การตระหนักในสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมจะสามารถปกป้องผู้หลบหนีการประหัตประหารจากนักค้ามนุษย์  สหรัฐฯ ผู้ซึ่งผลิตรายงาน TIP ออกมาประจำทุกปีเองนั้น ก็ถูกเครือข่ายภาคประชาสังคมอเมริกันที่ทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ เรียกร้องให้ปรับปรุงนโยบายการคุ้มครองผู้ลี้ภัย และทุ่มเทกับการสนับสนุนความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้มากกว่านี้เช่นกัน

7 กันยายน 2565
ภาพประกอบจาก “มุ่งหาแสงตะวัน” พิมพ์ครั้งที่สอง มิ.ย. 2546 วาดภาพโดย สุวรรณ ตู้ปิยจินดา, 

อ่านประกอบ
1. เส้นทางแรงงานหญิงจากประเทศเพื่อนบ้านสู่ธุรกิจการค้าบริการทางเพศในประเทศไทย, กฤตยา อาชวนิชกุลและพรสุข เกิดสว่าง, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล, 2540, 2. 2022 TIP Report Underscores that Extensive Work is Needed to Improve Global Efforts to Protect People from Human Traffickers, Terry FitzPatrick, 19/07/22, Alliance to End Slavery & Trafficking

ธุรกิจค้ามนุษย์หลังรัฐประหาร (ตอน 1)

Related