ทางสายใหม่

ทางสายใหม่

| | Share

แสงสว่างยามรุ่งอรุณสาดส่องเข้ามาทางหน้าต่างเสียงนกที่แว่วดังขึ้นเป็นจังหวะ เสียงไก่ที่กำลังขัน แสดงสัญญาณว่าเช้าวันใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น เด็กหนุ่มค่อยๆลืมเปลือกตาขึ้นสัมผัสกับแสงแดดที่ส่องเข้ามา พลางลุกจากที่นอนและเดินออกไปสูดอากาศอันแสนบริสุทธิ์ 

“ตื่นแล้วเหรอซอเล อรุณสวัสดิ์จ้ะ” เสียงแม่กล่าวทักทายยามเช้า 

“ครับ เช้านี้อากาศดีจังเลยนะแม่” เด็กหนุ่มตอบแม่ด้วยหน้าตาที่ยิ้มแย้ม 

“มากินข้าวก่อนสิ วันนี้แม่ทำข้าวต้มกับ หน่อไม้ผัดที่ลูกชอบ” ซอเลรีบทานอาหารที่แม่เตรียมไว้ก่อนจะไปช่วยพ่อขุดมันและไปเก็บผักจากในป่า บนภูเขา หมู่บ้านของเขาเป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงในประเทศพม่า ตั้งอยู่บนภูเขาและอยู่ติดกับป่า จึงมีวิถีชีวิตแบบนี้ในทุกๆวัน 

“ลูกคิดไว้หรือยังล่ะ ว่าจะเข้าไปทำงานเมื่อไหร่ ตอนนี้ครอบครัวเรา………ลูกรู้ใช่ไหม” พ่อพูดกับซอเล เบาๆ 

“ครับพ่อ ผมรู้และเข้าใจดี” เด็กหนุ่มพยักหน้า และพูดด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น ซอเลเขารู้เป็นอย่างดี ว่ารายรับและรายจ่ายในบ้านไม่ค่อยจะลงตัว ลำพังงานที่พ่อทำ รายได้ก็ไม่ค่อยดีนัก น้อง ๆ ของเขาก็กำลังจะเข้าโรงเรียน ในปีหน้าแล้ว 

“ยังไงเย็นนี้ก็ค่อยกลับไปคุยกับแม่แล้วกันนะลูก…” 

“เย็นนี้ทำอะไรกินกันแม่” พ่อกล่าวทักทายแม่ทันทีที่ถึงบ้าน 

“วันนี้ทำต้มฟักกับผัดผักบุ้ง ไฟแดงจ้ะพ่อ” แม่ตอบด้วยใบหน้าที่เต็มใจ ระหว่างทานอาหาร ซอเลใช้โอกาสนี้เปิดประเด็น

“แม่ครับ……คือผมมีเรื่องจะคุยด้วย” เด็กหนุ่มเริ่มบทสนทนา 

“ว่ายังไงล่ะลูกมีเรื่องอะไร” 

“อาทิตย์หน้าผมจะเข้าไปทำงานที่เมืองไทยแล้วนะแม่” แม่รู้ดีว่าเหตุผลที่ซอเลจะเข้าไปทำงานที่เมืองไทยคืออะไร แม่ตอบตกลงแม้ไม่เต็มใจนัก เพราะเป็นห่วงลูกชาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้

เช้าวันใหม่ได้เริ่มต้น เด็กหนุ่มลืมตาขึ้นด้วยความสะลึมสะลือ วันนี้ต้องตื่นเร็วกว่าทุกวัน เขาตื่นนอนตั้งแต่เช้ามืด วันนี้มาถึงแล้ว วันที่เขาจะต้องเดินทางเข้าไปทำงาน เขาทานข้าวที่แม่เตรียมไว้ให้ และแม่ยังห่ออาหารด้วยใบตองเตรียมไว้ ด้วยความห่วงใย เพื่อให้เขาทานระหว่างทางด้วย เขาได้รับพรจากพ่อแม่ และกล่าวอำลาด้วยใบหน้าที่เหี่ยวเฉาราวกับดอกไม้ที่ไม่ได้รดน้ำ หมู่บ้านของเขาอยู่ไม่ไกลจากชายแดนของประเทศไทยมากนัก จึงใช้วิธีการเดินทาง โดยการเดินเท้าผ่านทางช่องทางธรรมชาติ ใช้เวลาเดินทางหนึ่งวันก็จะถึงชายแดนฝั่งประเทศไทยแล้ว 

เขามีเพื่อนร่วมทางด้วยคือพี่ชายที่อยู่บ้านตรงข้าม ชื่อพี่อ่อง พวกเขาออกเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่ มุ่งหน้าไปยัง ชายแดนฝั่งประเทศไทย หมู่บ้านพญาตองซู ตั้งอยู่ติดกับ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อพวกเขาถึงที่หมายพระอาทิตย์ก็จวนจะตกดิน พวกเขาแวะนอนค้างที่บ้านญาติของพี่อ่องในคืนนี้ พอรุ่งเช้าก็นั่งรถสองแถวเข้าไปในตัวอำเภอ จากนั้นก็นั่งรถตู้โดยสารต่อเข้าไปในตัวจังหวัด และปลายทางของพวกเขาคือกรุงเทพมหานคร 

สำหรับ ซอเลกรุงเทพมหานครช่างกว้างใหญ่และดูแปลกมากสำหรับเขากับการมาเยือนที่นี่ครั้งแรก ทว่าการมาเป็นแรงงานและหางานทำในประเทศอื่นไม่ได้ง่ายนัก แต่ก็ยังโชคดีที่พี่อ่องเคยมาทำงานครั้งหนึ่งแล้ว เขาจึงพอรู้จัก ที่สมัครงานอยู่บ้าง พี่อ่องแนะนำว่า ส่วนใหญ่ร้านอาหารจะชอบแรงงานข้ามชาติเพราะพวกเขาไม่เกี่ยงงาน หนักก็เอาเบาก็สู้ นายจ้างส่วนใหญ่ก็จะชอบ แต่ตอนนี้คงยากเพราะการตรวจสอบที่เคร่งคัดขึ้นมาก และ    พวกเขาก็ยังเข้ามาอย่างไม่ได้ถูกต้องตามกฎหมาย พี่อ่องพาเขาไปพบกับนายจ้างคนเก่าที่เคยทำงานด้วยเมื่อปีก่อน     พี่อ่องได้รบเร้าและขอร้อง จนนายจ้างยอมให้พวกเขาทั้งสองทำงานด้วย 

พวกเขาได้เริ่มงานเช้าวันถัดไปเลย ต้องตื่นแต่เช้าช่วยเตรียมของและจัดของในร้าน งานไม่หนักมากนัก พอจะทำได้สบายๆ นายจ้างเมตตาและใจดีมากยังให้พวกเขาพักที่พักฟรีด้วย พวกเขามีเพื่อนร่วมห้องอีกหนึ่งคนชื่อพี่คม พี่คมเป็นคนไทยจากต่างจังหวัดและเข้ามา ทำงานในกรุงเทพ เขาเป็นคนอัธยาศัยดี และเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย คอยช่วยเหลือพวกเขาอยู่ทุกเรื่อง 

ชีวิตดำเนินไปแบบนี้ทุกวันดูเหมือนจะราบรื่น ดั่งสายน้ำที่ไหลตามทางไปเรื่อย ๆ และแล้ววันที่พวกเขาไม่อยากให้มาถึง ก็มาถึงจนได้ วันที่เม็ดฝนกระหน่ำลงมา ราวกับก้อนหินนับแสนร่วงลงมาจากฟ้า เสียงเคาะประตูดังขึ้น อย่างรัวๆขณะที่พวกเขากำลังทานอาหารเย็นในห้องพัก พี่คมเป็นคนเดินไปเปิดประตู บุคคลที่อยู่หน้าประตูคือผู้ชายในเครื่องแบบสีกากีประมาณ 4-5 คนยืนอยู่และขอตรวจเอกสาร และใบขออนุญาตตามกฎหมาย แน่นอนว่าพวกเราไม่มีแม้แต่เอกสารใบเดียว 

ตอนนั้นซอเลและพี่อ่องตัวสั่นไปหมดเพราะรู้ชะตากรรมของตัวเองอยู่แล้วว่าไม่รอดแน่ๆ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ทั้งกระชากและลากตัวพวกเขา จับใส่กุญแจมือด้วยความรุนแรง แถมยังฝากข้อความผ่านลมปากที่กระแทกลึกไปถึงหัวใจ ย่ำยีความเป็นมนุษย์ผ่านถ้อยคำดูถูกและเหยียดหยาม ทั้งที่พวกเขายังไม่ได้ขัดขืนแม้แต่น้อย ความรู้สึกตอนนั้นของพวกเขากลับรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าความกลัวเสียอีก พวกเขาต้องโดนกักขังที่สถานีตำรวจเป็นเวลาถึงสามคืน มีแค่พี่คมที่อยู่ที่ห้องพักเพราะเป็นคนไทยคนเดียวจึงไม่ได้ถูกจับมากับพวกเขาด้วย ต้องรอจนครบสามวันนายจ้างของเขาจึงมาที่สถานีตำรวจ และได้ช่วยเจรจากับเจ้าหน้าที่ ให้ประกันตัวพวกเราและเสียค่าปรับให้ ด้วยความเมตตานายจ้างจึงพาพวกเขาไป ดำเนินการเรื่องเอกสารให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ท่านช่างเมตตาจนพวกเขาไม่รู้จะขอบคุณหรือตอบแทนอย่างไร

“อาวข่ายก่าย 20 บา….ครั…” ซอเลออกไปซื้อไข่ไก่ เพื่อจะนำมาปรุงอาหารที่ร้านขายของชำใกล้ ๆ ที่พัก

“โอ๊ย..ไม่ขายให้ต่างด้าวโว้ย โควิด ยิ่งระบาดอยู่ ไม่รู้แอบหลบหนีเข้าไทยมายัง” ทันทีที่แม่ค้ารู้ว่าเราเป็นแรงงานข้ามชาติเขากลับไล่ตะเพิดเขาอย่างกับไม่ใช่คน และยังยืนยันว่าจะไม่ขายของให้พวกแรงงานข้ามชาติอีก เด็กหนุ่มทำอะไรไม่ถูก เดินคอตกกลับที่พักโดยปราศจากอาหารประทังชีวิตในคืนนั้น 

“คุณศรัณย์ครับ ลูกค้าโต๊ะ10 ขอเรียกเก็บเงินครับ” ซอเลในวัยกลางคนตอนนี้เขาเป็นเจ้าของร้านอาหารพม่าในกรุงเทพมหานคร เขาปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี และตอบแทนบุญคุณแผ่นดินไทยมากมาย จนได้สัญชาติไทย จึงใช้ชื่อว่า “ศรัณย์” เขาเลี้ยงดูแรงงานพลัดถิ่น มากมายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และใช้ชีวิตในประเทศไทยอย่างมีความสุข 

ทางสายใหม่ โดย ศยามล หงษาวดี
รางวัลดอ ธาน ธาน ประเภทงานเขียนเยาวชน (ชมเชย) เงินรางวัล 2,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร 

Photo by Hanny Naibaho on Unsplash

กิจกรรมประกวดงานเขียน ภาพถ่าย ภาพวาด ว่าด้วยผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ ภายใต้หัวข้อ “เพื่อนไร้พรมแดน” เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้ Project for the Agents of Changes (PAC) มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน  ร่วมด้วย Realframe และสำนักข่าวชายขอบ สนับสนุนโดย the Norwegian Human Rights Fund (NHRF)

รางวัล “ดอ ธาน ธาน” เป็นรางวัลที่เราจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อระลึกถึงความงดงามและคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของ “ดอ ธาน ธาน” ครูใหญ่แห่งศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติ Love Learning Center  เธอเป็นครูมาตลอดชีวิตตั้งแต่อยู่ในพม่า และเมื่อพลัดถิ่นฐานมาก็ทุ่มเทกับการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติในอ.แม่สอด จ.ตาก จนกระทั่งได้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา

คณะกรรมการคัดเลือกงานเขียน
ภาสกร จำลองราช บรรณาธิการสำนักข่าวชายขอบ
พรสุข เกิดสว่าง อดีตบรรณาธิการนิตยสารเพื่อนไร้พรมแดน
นาน จี เอ กวีสมัครเล่น อดีตผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง ตั้งถิ่นฐานใหม่นอร์เวย์
วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนอิสระ  คนไกลบ้าน
ชมัยภร แสงกระจ่าง นักเขียนและนักวิจารณ์อิสระ

Related