ชัยชนะ เรื่องเล่าของครูในพื้นที่ความขัดแย้ง

ชัยชนะ เรื่องเล่าของครูในพื้นที่ความขัดแย้ง

| | Share

ชัยชนะ เรื่องเล่าของครูในพื้นที่ความขัดแย้ง รัฐกะเหรี่ยง

**** ภาพประกอบจากเพื่อนไร้พรมแดน ซอมอธ และชาวบ้านสาละวิน ภาพที่ 7-8-9-12-13 เป็นภาพจากเหตุการณ์จริง หากภาพอื่นเป็นภาพถ่ายพื้นที่ในเรื่องจากต่างกาลเวลา

(1) ผมเกิดที่มื่อตรอ ตอนเด็ก ๆ เราต้องหนีสงครามกันเดือนละ 5-6 ครั้ง ถ้าทหารพม่าจะเข้ามา ชาวบ้านต้องหนีให้ไกลเพราะกลัวถูกจับไปเป็นลูกหาบ แต่ถ้ามีเสียงปืนปะทะกันหรือทหารพม่ายิงปืนใหญ่เข้าหมู่บ้าน เราก็จะหนีไปที่หลุมหลบภัยที่ขุดเตรียมไว้ไม่ไกลนัก บางคืนก็นอนในนั้นไม่กล้าออกมา


(2) สงครามมีแต่ความสูญเสีย ผมโตมาเห็นแต่ผลของสงคราม คนที่ได้โตมากับครอบครัวกับคนที่ต้องเสียพ่อแม่หรือบางทีรวมถึงญาติพี่น้องไปกับสงครามนั้น ชีวิตมันต่างกันมาก  

ตั้งแต่เด็ก ลุงของผมที่เป็นผู้ใหญ่บ้านถูกทหารพม่ายิงตาย ลูกของแกก็ถูกฆ่าตาย มีครั้งหนึ่งผมจำได้ว่าเรากำลังอยู่บนบ้านน้าสาวผม แล้วทหารพม่ายิงปืนใหญ่เข้ามา น้าวิ่งหนีลงกระไดบ้านแต่ไม่พ้น โดนกระสุนปืนใหญ่เข้าอย่างจัง ผมและพวกเราทุกคนเห็นกับตา แต่วินาทีนั้นก็ได้แต่พยายามหนีเอาชีวิตรอด ช่วยอะไรน้าไม่ได้เลย เราได้แต่ต้องหลบอยู่และคอยปลอบลูก ๆ ของน้าที่ร้องไห้อยู่อย่างนั้น  

เช้าวันรุ่งขึ้นกลับเข้าหมู่บ้านเห็นหมูไก่ที่เลี้ยงไว้มาเดินจิกแทะเล็มร่างคนที่เสียชีวิต ก็ไม่มีใครกล้ากินสัตว์เหล่านี้ 


(3) ถ้าจำไม่ผิด ผมเคยหนีมาลี้ภัยอยู่ที่แม่สามแลบแล้วครั้งหนึ่งเมื่อตอนเล็ก ๆ มาก ๆ ตอนนั้นทหารพม่าเผาหมู่บ้านของเราและพ่อของผมไม่อยู่บ้าน แม่พาเราหนีไปใกล้ ๆ หมู่บ้านแม่แล้วพ่อก็มาตามหาเรา พาเราหนีข้ามมาฝั่งไทย ผมไม่รู้หรอกว่าอยู่ฝั่งไทยนานเท่าไหร่ จำได้คลับคล้ายคลับคลาเคยอยู่ได้เรียนหนังสือก.ไก่ ข.ไข่ อยู่พักหนึ่ง


(4) ตอนประถมต้นผมเรียนหนังสือในโรงเรียนกะเหรี่ยง ต่อมาพ่อส่งให้ไปโรงเรียนพม่าในเมืองถึงชั้นปีที่ 7 เพราะมันปลอดภัยกว่า ดีที่พ่อผมเคยเรียนโรงเรียนพม่าถึงป.4 เขาจึงสอนหนังสือพม่าให้ผมไว้บ้างก่อนจะไป ผมจึงไม่มีปัญหาในการไปโรงเรียนพม่ามากนัก แต่พอผมมาต่อมัธยมที่ค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละในประเทศไทย ผมก็ต้องมาหัดอ่านเขียนภาษาปกาเกอะญอใหม่อยู่ปีหนึ่งถึงจะเข้าที่เข้าทาง


(5) ผมจบมัธยมและวิทยาลัยในค่ายผู้ลี้ภัยนั้นเอง ในใจคิดเสมอว่าอยากจะไปเป็นทหาร หมอในสนามรบ หรือทำงานกับ KNU เพื่อต่อสู้กับพม่าเพราะผมมีความแค้นในใจมากมาย พ่อผมเองก็เป็นทหาร KNU มาตั้งแต่อายุ 14 และเป็นต่อมาตลอดชีวิต แต่พอดีมีคนชวนว่าที่หมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดพะอันขาดครู ให้ผมไปช่วยได้ไหม ผมจึงคิดว่าจะไปสอนสักปีหนึ่งก่อน


(6) เมื่อได้เริ่มสอนหนังสือ ผมก็ได้เห็นประโยชน์ของงานการศึกษา วันหนึ่งเด็ก ๆ ที่มีการศึกษาเหล่านี้เองเขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับหมู่บ้านและสังคมของเรา นี่คือชัยชนะที่แท้จริง ผมเชื่อของผมอย่างนี้  

ในที่สุด ผมก็ติดอยู่กับงานสอนหนังสือ แต่งงานมีครอบครัวในหมู่บ้าน และเป็นครูจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งก็ไม่ใช่ที่เดิมแล้ว ผมมารับผิดชอบดูแลโรงเรียนมัธยมที่เปิดใหม่ในเขต เพื่อรองรับเด็ก ๆ จากแถบนี้ให้ไม่ต้องไปเรียนไกลบ้าน และไม่จำเป็นต้องข้ามมาเรียนในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยแบบผม


(7) ครั้งล่าสุดที่ผมต้องหนีสงครามมาฝั่งไทย คือปี 2552 ที่กองทัพพม่าร่วมมือกับกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ DKBA บุกเข้ามาในพื้นที่ของ KNU รวมถึงหมู่บ้านที่ผมสอนหนังสืออยู่ เรา ทั้งผม ครู นักเรียน ชาวบ้านอีกหลายหมู่บ้าน หนีข้ามมาฝั่งไทย กลุ่มหนึ่งอยู่ที่บ้านหนองบัว และอีกกลุ่มอยู่ที่บ้านแม่อุสุ ตัวผมนั้น มาอยู่ที่แม่อุสุ ซึ่งไม่ห่างไปจากบ้านที่ผมอยู่สักเท่าไหร่


(8)​ การมาอยู่เป็นคนลี้ภัย เราไม่สบายใจหลายอย่าง ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวแบบนี้ แม้แต่เพื่อนของเราจะเข้ามาช่วย ก็ไม่ได้รับอนุญาตจากทหารไทยให้เข้าไปได้ ต่อมาเมื่อทหารไทยเข้ามาสร้างค่ายพักอยู่ใกล้กับเรามากขึ้น เราก็ต้องทำงานให้เขาด้วย เช่น วันหนึ่งเขาเรียกให้เราไปช่วยขุดหลุมห้องน้ำให้ แม้ว่าวันนี้ผมจะต้องไปรับเพื่อนที่จะเอาของมาช่วยพวกเราก็ตาม เป็นต้น ผมได้แต่คิดว่ามันเป็นประเทศของคนอื่นที่เรามาขออาศัย เราต้องทำใจและเข้าใจตรงนี้ 

เมื่อมาได้สักพัก ผมก็คิดว่าเราควรจะสร้างโรงเรียนชั่วคราวให้เด็ก ๆ ครูที่หนีมาด้วยกันก็จะได้มาช่วยกันสอน ผู้นำชุมชนของเราและของชุมชนฝั่งไทยก็สนับสนุนความคิดนี้ แต่เมื่อเขาขอทหารไทยก็กลับไม่ได้รับอนุญาต เราถูกสั่งให้รื้อถอนออกทั้งหมด ต่อมา ผู้นำชุมชนกับผมคุยกันว่า เราเป็นปกาเกอะญอ หากต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัวไปอย่างนี้ ชีวิตก็ไม่มีความหมาย เราจึงสร้างเพิงพักชั่วคราวให้เป็นโรงเรียนขึ้นมาอีกครั้งและและเรียกเด็ก ๆ มาเรียนเลย ปรากฎว่าวันหนึ่งเมื่อทหารไทยเข้ามาเห็น เขาก็กลับไม่ได้ว่าอะไร 


(9) แต่แล้ววันหนึ่งเจ้าหน้าที่ไทยก็จะไล่ผมกลับ เขามาตรวจรูปถ่ายที่ทำทะเบียนครอบครัวในพื้นที่พักพิงและพบว่าไม่มีผมอยู่ในภาพถ่ายนั้น ผมพยายามอธิบายว่า วันที่เขามาถ่ายนั้นผมไปเอาหนังสือเรียนให้เด็กที่ค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละพอดี ก็เลยไม่ได้ถ่าย และไม่มีชื่อเป็นคนที่ได้รับอาหาร ซึ่งที่ผ่านมาคนอื่นก็ช่วยผมเพราะเข้าใจว่าวันนั้นผมเป็นครู และไปเอาหนังสือให้เด็ก ๆ จริง ๆ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ฟังผมเลย เขาบอกว่าผมดูไม่เหมือนชาวบ้าน มีบัตรประชาชนไทยแล้วมาแอบแฝงอยู่หรือเปล่า ผมบอกว่าผมไม่มี ผมแค่ไม่อยู่วันนั้นเพราะไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้าว่าจะมีการถ่ายรูป ผมคงพูดผิด เพราะเขาก็บอกว่าเราไม่มีสิทธิออกไปที่ไหน  

เขาถามว่า ผู้หญิงที่ท้องนั้นเป็นอะไรกับแก ผมบอกว่าเมียผม แต่เขาบอกว่าถ้าเป็นเมียจริงแกก็ต้องมีรูปอยู่กับครอบครัวสิ แล้วเขาไล่ผมอออก เขาว่าอยู่ที่นี่ไม่ได้เพราะไม่มีรูป อยู่บ้านที่ไหนก็กลับไปซะ เดี๋ยวจ่ายค่ารถให้ ผมบอกว่า ผมไม่เอาค่าเดินทางจากคุณหรอก ผมไม่กลับ เขาบอกว่าแกต้องกลับ ผมก็เถียงว่าผมต้องอยู่กับเมียผม เขาจึงขู่ว่าจะส่งผมไปเข้าห้องขังตม.ที่แม่สอด


(10) ในที่สุด ผู้นำชุมชนมาขอไม่ให้ผมเถียงเพราะกลัวเรื่องจะหนักขึ้น ผมจึงต้องยอม เมียผมก็เก็บเสื้อผ้าให้ผม ผมไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากหันกลับไปฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ผมสะพายกระเป๋าแล้วเดินออกไปจากตรงนั้น พวกเจ้าหน้าที่ไทยมองมาแล้วถามว่า เฮ้ย จะให้ไปส่งมั้ย ผมบอกไม่ต้องมายุ่ง นี่มันเรื่องของผม 

เมื่อข้ามกลับไปจริง ๆ ผมก็กลัว ผมรู้เส้นทางอยู่แล้วเพราะมันเป็นบ้านของผม แต่ผมไม่รู้ว่าที่ไหนมีกับระเบิด หรือทหารทางนั้นจะว่ายังไง นั่นคือสิ่งที่ผมกลัวมาก ผมไปเจอกับทหารกะเหรี่ยงพุทธเข้าคนหนึ่ง โชคดีที่ทหารคนนี้มาได้เมียแถวนี้และเขาเห็นใจชาวบ้าน เขาบอกทางที่ปลอดภัย บอกหมดว่าให้ระวังกับระเบิดที่ไหน ผมจึงกลับมาถึงบ้านได้ แต่ไม่มีใครอยู่ในหมู่บ้านเลยนอกจากในวัด ที่มีพระอยู่กับลุงแก่ ๆ ที่เฝ้าดูแลพระ  

ผมรู้สึกเครียดและเคว้งคว้างไปหมด ตอนนั้นผมก็ได้แต่ใช้ชีวิตไปวัน ๆ บางวันก็ไปนั่งจับเจ่าอยู่กับคนที่วัด เวลามองเห็นบ้านทุกหลังไม่มีคนอยู่ มันเหมือนกับเราอยู่ในโลกนิทาน ที่ยักษ์จับผู้คนกินไปหมดแล้ว


(11) ผมอยู่อย่างนั้นนาน นานจนกระทั่งมีคนกลับมาครอบครัวแรก จึงได้ไปอยู่กับเขา หลังจากนั้นอีกอาทิตย์หนึ่งชาวบ้านรวมทั้งเมียผมก็กลับมา เพราะทหารไทยให้คนที่อุสุท่ากลับออกจากประเทศไทย เราพยายามสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่ ทั้งชีวิตของเราและโรงเรียน แม้ว่าเหตุการณ์จะยังตึงเครียดและไม่น่าไว้วางใจ  

เวลาผมย้อนนึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น ผมจะรู้สึกไม่สบายใจนัก ได้แต่บอกตัวเองว่า พวกเจ้าหน้าที่ไทยคงไม่ผิดหรอก พวกเขามีกฏของประเทศเขา ซึ่งเราไม่สามารถก้าวล่วงได้


(12) สงครามไม่มีอะไรดี รอบตัวเรามีแต่ความตาย ความอดอยาก การอพยพ เร่ร่อน ต้องไปไกลถึงกรุงเทพฯ ไปอยู่เป็นลูกน้องของคนไทย ไม่มีอิสระเสรีเหมือนอยู่กับไร่กับนาของเรา คนกะเหรี่ยงจำนวนมากต้องไปเติบโตประเทศอื่น ญาติพี่น้องกระจัดกระจายไปหลายแห่ง 

หลังจากรัฐประหารที่มิน อ่อง หล่ายยึดอำนาจ สงครามที่มื่อตรอบ้านเกิดของผมก็รุนแรงขึ้น ผมเองที่ย้ายมาอยู่พะอันแล้วยังไม่เจอสงคราม แต่ก็รู้สึกเจ็บปวดจำทนกับเขาไปด้วย อีกทั้งในเขตเรายังมีเด็กกำพร้าหรือเด็กที่หลบภัยจากเขตสงครามเข้ามาขออยู่ในหอพักโรงเรียนมากขึ้น โรงเรียนของผมนั้นถึงกับต้องสร้างหอพักเพิ่ม เพราะมีเด็กจากพื้นที่ตอนในที่ไม่สามารถไปโรงเรียนเข้ามาขอเรียนจำนวนมาก พวกเราต้องดิ้นรนขอทุนการศึกษาให้พวกเขาเพื่อเป็นค่าอาหาร เสื้อผ้า และค่าจ้างครูมาเพิ่ม  

ในช่วงโควิดระบาดและชายแดนปิด การข้ามมาซื้อตะปูหรืออาหารแห้งฝั่งไทยเป็นเรื่องยาก เสี่ยง และต้องจ่ายแพงขึ้นไม่ใช่น้อย แต่ตราบใดที่สงครามยังมาไม่ถึง โรงเรียนของเราก็จะยังต้องเปิดสอนเด็ก ๆ ที่ต้องการเรียนทุกคนให้ได้ 


(13) สำหรับผมนั้น การปกครองไม่ว่าจะเป็นของประเทศก้อธูเหล่ หรือสหพันธรัฐ/สหภาพพม่า หรืออะไรก็ตามแต่ ที่สำคัญที่สุดคือผู้นำที่ขึ้นมา จะต้องเป็นคนที่ประชาชนเลือกมา และเขาจะต้องทำงานตามความต้องการของประชาชน ไม่ใช่ทำแต่ตามอำเภอใจ กฎหมายที่เขาออกในสภาจะต้องเป็นกฎหมายที่ประชาชนเห็นด้วย ส่วนเขาจะเป็นคนพม่า หรือกะเหรี่ยง หรือชาติพันธุ์อะไรนั้น ผมคิดว่ายังไงก็ได้ ขอให้ตามกฎหมายและในการปฏิบัติทุกชนชาติพันธุ์ได้รับการเคารพและคุ้มครองสิทธิเท่าเทียมกันก็พอแล้ว

—- ตุลาคม 2564—

Related