ฉันอยู่ค่ายผู้ลี้ภัยได้ 10 ปี และมาอยู่ที่สหรัฐฯได้ 10 ปีเช่นกัน

ฉันอยู่ค่ายผู้ลี้ภัยได้ 10 ปี และมาอยู่ที่สหรัฐฯได้ 10 ปีเช่นกัน

| | Share

นอ เชอรีวา เกิดในค่ายผู้ลี้ภัยแม่ลามาหลวง 

ปัจจุบันอายุ 20 ปี เดินทางไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐฯเมื่ออายุ 10 ปี
หนึ่งใน “เสียง” ที่ร่วมออกอากาศเป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมงของวันผู้ลี้ภัยโลก

ฉันอยู่ค่ายผู้ลี้ภัยได้ 10 ปี และมาอยู่ที่สหรัฐฯได้ 10 ปีเช่นกัน  ฉันเพิ่งเรียนจบระดับวิทยาลัย กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยวิสคอนซินสาขาการพยาบาล  ทุกวันนี้ฉันเป็นสมาชิกคริสตจักรแบ๊บติสต์ของชาวกะเหรี่ยง ทำงานช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงที่มาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่นี่  เป็นทั้งล่าม ช่วยโทรศัพท์ติดต่อต่าง ๆ ช่วยพาไปหาหมอ หรือช่วยอะไรก็ได้ตามที่พวกเขาต้องการ  เพราะฉันอยากให้พวกเขาได้รู้ภาษาอังกฤษ ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมอเมริกัน และสบายใจขึ้นในการที่ต้องมาอยู่ต่างประเทศ

พ่อแม่ของฉันมาจากประเทศพม่า ซึ่งตอนนี้ถูกเรียกว่าเมียนมา พ่อเหยียบกับระเบิด ตาบอด และเสียแขนทั้งสองข้างถึงข้อศอก  เหตุการณ์นี้เปลี่ยนชีวิตเขา เพราะเขาต้องมีตาคู่อื่นมาช่วยมอง และต้องมีคนอยู่ด้วยเสมอ

ทั้งพ่อและแม่ของฉันพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ได้แต่ภาษากะเหรี่ยงเท่านั้น  ฉันมีน้องชายอีกคนหนึ่ง ซึ่งตอนมาที่นี่เขาอายุได้แค่ขวบเดียว และยังมีพี่สาวฝาแฝด กับพี่สาวอีกคนที่แต่งงานไปแล้ว 

ฉันรู้สึกสุขใจเมื่อคิดถึงชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัย  ฉันเป็นฉันในวันนี้ก็เพราะประสบการณ์นั้น  มันทำให้ฉันภูมิใจที่เป็นคนกะเหรี่ยง  ฉันรู้สึกปลอดภัยและได้รับความรัก  ตอนเด็ก ๆ ฉันชอบออกไปเล่นกับเพื่อนนอกบ้าน  มันเป็นชีวิตวัยเด็กที่มีความสุข  เราไม่มีคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กโทรนิค  เราปลูกผักกินเองเสียส่วนใหญ่  ฉันรักทุกเวลาในค่ายแม่ลามาหลวง  ความทรงจำทั้งหมดยังอยู่ในหัวใจและมันจะอยู่กับฉันตลอดไป  วันเวลาที่ได้อยู่ท่ามกลางคนกะเหรี่ยง  ซึ่งรักและห่วงใยกันและกัน  เราเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน

ฉันคิดว่าประเทศต่าง ๆ ควรรับผู้ลี้ภัยไว้  ผู้ลี้ภัยสามารถเป็นประโยชน์ได้  พวกเขาทำให้สันติภาพเกิดขึ้นได้  ผู้ลี้ภัยช่วยสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น  และเป็นพลังของประเทศที่พวกเขาไปอยู่  การรับผู้ลี้ภัยคือการช่วยชีวิต สนับสนุนสิทธิที่จะมีชีวิตของผู้ลี้ภัย  ขณะที่การปฏิเสธไม่รับผู้ลี้ภัยอาจนำไปสู่ความตาย การอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเข้าประเทศก็คือความหวังและสันติภาพ

กองทัพพม่าไม่ต้องการให้ชาวกะเหรี่ยงอยู่นี่นั่น เขาเข่นฆ่าเรา เราจึงต้องหนี  ค่ายผู้ลี้ภัยของประเทศไทยนั้นมีความเข้มงวด  เราออกไปไหนไม่ได้  และไม่สามารถเป็นพลเมืองไทยได้  แต่แม้จะไม่มีอำนาจควบคุมชีวิตของเราเองได้ อย่างน้อยมันก็ช่วยให้เราได้มีชีวิตปกติบ้าง  หากเขาปิดค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ชาวกะเหรี่ยงจะหนีไปอยู่ที่ไหนกัน  ประเทศไทยควรช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงให้พวกเขาได้ผสมกลมกลืนเข้ากับสังคมไทย และได้รับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการรับชาวกะเหรี่ยงไว้ให้เป็นสมาชิกของสังคมไทย”

Related