คำขอบคุณ

คำขอบคุณ

| | Share

คำขอบคุณ

เพื่อนไร้พรมแดน ขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมส่งเสียงและรับฟังกันในวันผู้ลี้ภัยโลก และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะสื่อสารถึงกันและกันเช่นนี้ในวันต่อ ๆ ไปด้วย เพราะในทุก ๆ วัน เพื่อนชาวกะเหรี่ยง กะเรนนี กะฉิ่น พม่า ฯลฯ ของเรายังกำลังอพยพหลบภัยอยู่ด้วยความหวาดกลัว ทว่าห้าวหาญเป็นอย่างยิ่ง ด้วยนั่นคือความพยายามที่จะพาชีวิตตนและคนที่รักให้อยู่รอด 

การพลัดถิ่นฐานนี้ เกิดขึ้นขณะที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติเสียงข้างมาก 119 เสียง เห็นชอบให้นานาชาติห้ามขายอาวุธให้ประเทศพม่า ทว่าไทยกลับเป็นหนึ่งใน 36 ประเทศที่ “งดออกเสียง” โดยอ้างว่ามติดังกล่าว “ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเห็นของคนที่ไม่ได้มีพรมแดนติดกับประเทศพม่า”

ในที่นี้ เราขอนำคลิปวิดีโอถ้อยแถลงในวันผู้ลี้ภัยโลกของ ออง มิว มิน อดีตผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสิทธิมนุษยชน ของรัฐบาลพลัดถิ่นของพม่า “NUG” มาฝาก ดังนี้

“ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญให้กล่าวอะไรสั้น ๆ สำหรับวันผู้ลี้ภัยโลก ซึ่งเมื่อได้รับคำเชิญ ภาพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวันผู้ลี้ภัยโลกก็ผุดขึ้นมาในหัว แล้วภาพเหล่านั้นคืออะไรนะหรือ ?

แน่ละ ภาพการละเมิดสิทธิมนุษยชน การสู้รบ ความขัดแย้ง อาชญากรรม และน้ำตา

คนกลุ่มหนึ่ง พยายามข้ามพรมแดนรัฐเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย

ผู้ลี้ภัยคือผู้ที่ต้องจากครอบครัว ชุมชน  และประเทศของตน เนื่องจากสงคราม ความขัดแย้ง หรือความหวาดกลัวอันมีมูลว่าจะถูกประหัตประหารโดยรัฐบาลของตนเอง กองทัพ หรือโดยกลุ่มอื่น ๆ

พวกเขาข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อขอลี้ภัยในสถานที่ปลอดภัย เพื่อให้รอดชีวิต

ข้าพเจ้าเข้าใจสิ่งนี้ดี เพราะเคยเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ. 2531 เมื่อต้องหลบหนีออกจากประเทศ เนื่องด้วยกิจกรรมทางการเมืองของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้ายังจำได้ ถึงการเดินทางที่ยาวไกลจากบ้าน มายังประเทศไทย

จำได้ว่ามันยากลำบากและยาวนานภายใต้ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเพียงไร  

จำได้ว่าข้าพเจ้าได้กลายมาเป็นผู้ลี้ภัยที่ชายแดนไทย-พม่าอย่างไร

แต่ข้าพเจ้านั้นโชคดี ที่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลไทย และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคนไทย จนได้ไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ และทำงานต่อมา 

จนกระทั่งตอนนี้ ที่ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีสิทธิมนุษยชน เพื่อรับใช้ประเทศของข้าพเจ้า

หากมิได้มีหลายคนที่โชคดีแบบนี้ ผู้ลี้ภัยยังมักถูกมองว่าไม่เป็นที่ต้องการ

ไม่เป็นที่ต้อนรับในประเทศที่พวกเขาไปอยู่ และมักถูกปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องเสมอ ด้วยเหตุที่ผู้คนไม่เข้าใจเหตุผลที่แท้จริงของการอพยพและการที่จำต้องไปอยู่ประเทศอื่นของพวกเขา 

ในหลายกรณี คนมองผู้ลี้ภัยว่าเป็นเหยื่อสงคราม เหยื่อการสู้รบ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน บางครั้งพวกเขาลืมที่จะมองผู้ลี้ภัยว่าเขาผู้รอดชีวิต โดยใช้ความกล้าหาญและความสามารถในการปรับตัว เอาชนะความทุกข์ยากที่ประสบในบ้านเกิดได้

นี่คือที่มาของวันผู้ลี้ภัยโลก ในปี 2544 สหประชาชาติได้กำหนดวันที่ 20 มิ.ย.ให้เป็นวันผู้ลี้ภัยโลก เพื่อเป็นเกียรติต่อความกล้าหาญ และความสามารถในการปรับตนของผู้ลี้ภัย และเพื่อให้ผู้คนได้เข้าใจความทุกข์ยากของผู้ลี้ภัยเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจ

ดังนี้ เราจะฉลองวันผู้ลี้ภัยโลกโดยไม่มองว่าผู้ลี้ภัยเป็นเพียงเหยื่อ

หากคือผู้รอดชีวิตจากความทุกข์ยากทั้งมวล

ข้าพเจ้าอยากใช้โอกาสนี้ขอฝากถึงประเทศไทยและรัฐบาลไทย 

สถานการณ์ในประเทศพม่าย่ำแย่ลงมากโดยเฉพาะหลังจากรัฐประหาร

ผู้คนล้มตาย ถูกเข่นฆ่าโดยกองทัพ และในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น 

เนื่องจากการสู้รบและการโจมตีของทหารพม่าต่อประชาชนชาติพันธุ์ ผู้คนหลายพันได้อพยพเข้าประเทศไทย หรือหลบซ่อนอยู่ในป่าในประเทศของตน เป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศ (IDP)

ผมขอให้รัฐบาลไทยมองผู้ลี้ภัยใหม่กลุ่มนี้บนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน และหลักการมนุษยธรรม ขอให้ยอมรับผู้ลี้ภัย อนุญาตให้ความช่วยเหลือข้ามพรมแดนได้ข้ามไปถึง IDP และประกันว่า จะไม่มีการบังคับส่งพวกเขากลับไปยังประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไปสู่มือของกองทัพพม่า ซึ่งนั่นหมายถึงอันตรายถึงชีวิต

ปีนี้ แนวคิดหลักสำหรับวันผู้ลี้ภัยโลกก็คือ เราจะร่วมเยียวยา เรียนรู้ และเปล่งประกายไปด้วยกัน นั่นคือเราขอให้ผู้ลี้ภัยได้รับการเยียวยาจากความทุกข์ยาก ขอให้ผู้ลี้ภัยได้มีโอกาสเรียนรู้เพื่อการพัฒนาใหม่ ๆ และให้ผู้ลี้ภัย ได้เปล่งประกาย สาดฉายถึงอนาคตด้วยความหวัง

ขอบคุณเพื่อนคนไทย ขอเรามาเฉลิมฉลองวันผู้ลี้ภัยโลกด้วยความภาคภูมิ เห็นอกเห็นใจ และเข้าอกเข้าใจผู้ลี้ภัย

20 มิถุนายน 2564

วันผู้ลี้ภัยโลก

Related