ความผิดปกติของความปกติ
กฤษณ์พชร โสมณวัตร
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หนึ่งใน “เสียง” ที่ร่วมออกอากาศเป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมงของวันผู้ลี้ภัยโลก
“สิ่งที่ผมอยากจะพูดวันนี้ คือความผิดปกติของความปกติที่เรายอมรับกัน โดยที่ไม่ได้ตั้งคำถามกับมันอย่างจริงจัง
“ในปริมณฑลของความรู้ที่ผมพออาจพูดได้ คือทางด้านประวัติศาสตร์และด้านของกฎหมาย เราสามารถเขียนประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์โลกในมุมของผู้ลี้ภัยได้ทั้งสิ้น จริง ๆ แล้วภูมิภาคและประเทศของเรามีความคุ้นเคยกับคนข้ามแดน คนที่ย้ายถิ่นมาเพราะภัยพิบัติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ ภัยการเมือง หรือภัยเศรษฐกิจ มาตลอดอยู่แล้ว
“บทเรียนของคนจีน อินเดีย หรือเวียดนามในประเทศไทย แสดงให้เห็นชัดเจนพอสมควรแล้วว่า ไม่มีใครต้องการใช้ชีวิตอย่างเป็นภาระของผู้อื่น ถ้าเขามีโอกาสดูแลตัวเองได้ เขาก็จะสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ และกลายเป็นคนไทยได้
“การที่เรายังกีดกันผู้ลี้ภัยในหลาย ๆ เรื่องทำให้ผมรู้สึกว่า เราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นของไทย หรือของโลกเลยก็ตาม
“ในมุมมองของนักกฏหมาย ความผิดปกติของความปกติอีกอย่างหนึ่ง ผมจะยกตัวอย่างคือ โดยปกติแล้วตัวกฎหมายจะเปิดโอกาสให้มีสภาวะยกเว้นในกรณีจำเป็น หรือกรณีที่มีภาวะอันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อยู่เสมอ เช่น เมื่อบุคคลอยู่ในภาวะของความจำยอม ถูกบังคับให้กระทำ แม้แต่กฎหมายอาญา ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยตรง ก็ยังมีข้อยกเว้นให้เกิดทางออกอื่น ๆ ได้
“สถานการณ์ของผู้ลี้ภัยก็คือ คนเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทยด้วยความจำยอม เขาเข้ามาในประเทศไทยเพราะว่าบ้านเขาไฟไหม้ มันมีความไม่สงบ มีความไม่ปลอดภัยในชีวิต ถ้าเราจะบอกว่า คนเหล่านี้กระทำความผิดฐานเกี่ยวกับกฎหมายคนเข้าเมือง ผมจะถามว่าเขาทำโดยจำเป็นหรือเปล่า ถ้าถูกบังคับ เขาไม่ได้อยากมา เราก็ไม่ควรจะเอาโทษและเอาผิดเขา
“นี่เป็นอุทาหรณ์ที่ผมอยากจะยกไว้ว่า โดยปกติแล้ว ตัวกฎหมายอนุญาตให้มีสภาวะยกเว้นอยู่ในเรื่องต่าง ๆ มากมาย แต่เงื่อนไขและการตีความสำหรับกฎหมายคนเข้าเมืองและเรื่องของผู้ลี้ภัย กลับปฏิเสธที่จะใช้เหตุและผลในการพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ดังที่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลบอกไว้ว่า สภาวะยกเว้นของประเทศไทย นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม ได้้ถูกใช้กับชนชั้นนำเท่านั้น
“สิ่งที่ผมอยากสรุปไว้ตรงนี้ก็คือ เราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ เราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากกฎหมาย
“ในทัศนะของผม ทางออกของปัญหาผู้ลี้ภัยคือต้องมีประชาธิปไตย ประชาธิปไตยดังกล่าว ต้องเป็นประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาค ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีเชื้อสายไทยหรือสัญชาติไทย หรือไม่ก็ตามตราบใดที่เขามีส่วนได้เสีย เขาก็ควรจะมีสิทธิ์และมีอำนาจในการกำหนดอนาคตตัวเอง
“ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่ควรถูกนำมาใช้เพื่อแบ่งเขา หรือแบ่งเรา แต่ต้องถูกเอามาใช้เพื่อให้ทุกคนสามารถแสดงออก รักษาสิทธิประโยชน์ ผลประโยชน์ และความมั่นคงปลอดภัยของตน โดยไม่แบ่งเขาแบ่งเรา”