ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมมีความหมายมากกว่าการ “เลี้ยง” 

ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมมีความหมายมากกว่าการ “เลี้ยง” 

| | Share

ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมมีความหมายมากกว่าการ “เลี้ยง” 

กว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่เราพยายามส่งเสียงเพื่อการเปิดให้ผู้ลี้ภัยได้หนีตายเข้ามาในประเทศ  และเปิดให้ความช่วยเหลือจากน้ำใจของประชาชนไทยได้เข้าถึงพวกเขา ก็มีผู้หยิบยกข้อกล่าวหาดั้งเดิมต่อการรับผู้ลี้ภัยขึ้นมาโต้

หนึ่งในนั้นก็คือ รัฐไทยควรเอาเงินภาษีไปช่วยเหลือประชาชนไทย (โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด) แทนที่จะเป็นม้าอารีย์ รับ “เลี้ยง” คนเหล่านี้

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ควรมีการบอกกล่าวกันอย่างชัดเจนต่อสังคมไทยก็คือว่า ค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดน 9 แห่งและประชากรผู้ลี้ภัยราว 9 หมื่นในปัจจุบันนั้น ได้รับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจากองค์กรเอกชนต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยมีองค์กรไทย คือ สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย (โคเออร์) อยู่ด้วย หากการระดมทุนเกือบทั้งหมดก็มาจากทั้งรัฐบาลและเอกชนนานาชาติ

งบประมาณสำหรับค่ายผู้ลี้ภัย จึงคือเงินต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในประเทศไทย แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นการใช้จ้างงานบุคลากรต่างชาติ แต่ส่วนใหญ่ก็คือการจัดซื้อจัดจ้างและค่าจ้างบุคลากรไทย ตัวอย่างเช่น The Border Consortium (TBC) ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดและรับผิดชอบหลักในด้านอาหาร เชื้อเพลิงหุงต้ม วัสดุซ่อมแซมที่พักโครงการความมั่นคงทางอาหาร ฯลฯ ระบุในรายงานสาธารณะของตน (www.theborderconsortium.org) ถึงงบประมาณปี 2563 ซึ่งคาดไว้ที่ 589 ล้านบาท (เป็นงานในประเทศพม่า 11%) 

นอกจากนี้ ในเอกสารของสำนักงานศูนย์ดำเนินการเกี่ยวกับผู้อพยพ (สศอ.) กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยประสานงานกับองค์กรมนุษยธรรมที่ทำงานในค่ายผู้ลี้ภัยทั้งในด้านปัจจัยพื้นฐาน สุขภาพ การศึกษา สิ่งแวดล้อมฯลฯ ยังระบุว่า งบประมาณการดำเนินงานหลักของตนมาจาก UNHCR, องค์กรเอกชน และผู้บริจาคอื่น ๆ มีเพียงค่าใช้จ่าย “ทางอ้อม” เท่านั้นที่เป็นงบประมาณรัฐบาลไทย

เม็ดเงินเหล่านี้ มาจากการแบ่งปันของเพื่อนมนุษย์ทั่วโลกรวมถึงประชาชนไทย  ที่สำคัญ นี่ไม่ใช่การ “เลี้ยง” มนุษย์ให้ “ออกลูกออกหลาน” ดังเช่นที่มีผู้พยายามใช้ถ้อยคำรุนแรงบั่นทอนในโซเชียลมีเดีย  

นี่คือ “ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม” ซึ่งคือการแสดงออกถึงมโนธรรมสำนึก น้ำใจ ตลอดจนความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของมนุษยชาติ 

ผู้ลี้ภัยคือเพื่อนของเรา การมีความรู้สึกเป็นมิตรกับผู้ที่หนีตายอาจถูกกล่าวหาว่า “โลกสวย” เกินไป แต่สำหรับเราแล้ว นี่เอง คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ และทำให้มนุษยชาติดำรงอยู่มาได้จนถึงบัดนี้

15 เม.ย. 2564

ภาพประกอบ 1. แผนที่ตำแหน่งค่ายผู้ลี้ภัยและจำนวนคนจาก The Border Consortium (มี.ค.2564) 2. ภาพค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ โดย Wild Bird 3. เอกสารแนะนำ สศอ. http://www.fad.moi.go.th/…/PTC/OCDP-Slide.compressed.pdf

Related