“ควรพิจารณาหลักเกณฑ์อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยทำงานเลี้ยงตัวได้” เรื่องเล่าจากบทสนทนาเพื่อนข้างบ้าน (6)
วันผู้ลี้ภัยโลก 2565
“รัฐประหารของนายพลมินอ่องหล่ายเมื่อ 1 ก.พ. 64 ทำให้การอพยพย้ายถิ่นมีความซับซ้อนมากขึ้น ในแม่สอดมีผู้ประสบภัยการเมืองจากประเทศพม่า หรือที่เรียกกันว่าผู้ลี้ภัยในเมือง (urban refugee) เข้ามาหลังรัฐประหาร และมาขอขึ้นทะเบียนกับ UNHCR คนเหล่านี้คือผู้เข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืน (civil Disobedience Movement) หรือ CDM รวมถึงสื่อมวลชนและนักการเมืองโดยเฉพาะพรรค NLD ที่ได้หลบหนีมาในเขตของกองกำลังชาติพันธุ์กะเหรี่ยงก่อนที่จะเข้ามาที่แม่สอด
โดยปกติแล้วผู้ลี้ภัยในเมืองที่มาจากประเทศอื่น ๆ จะสามารถสมัครเข้ารับการพิจารณาเพื่อให้ได้การรับรองจาก UNHCR แต่สำหรับผู้ลี้ภัยในเมืองจากประเทศพม่า ซึ่งก่อน 1 ก.พ. 64 ไม่มีหลงเหลือแล้ว กลับไม่มีระบบชัดเจน และในที่สุดก็ต้องอยู่ในสภาพเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตกเป็นเหยื่อการจับกุมรีดไถเสมอ
การไม่มีระบบการพิจารณาและรับรองอย่างชัดเจนของ UNHCR หมายความว่า เมื่อผู้ลี้ภัยทางการเมืองพม่าถูกจับ ก็ไม่มีแนวทางว่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างไร จะขอความช่วยเหลือไปก็ล่าช้ามาก จนบางกรณีถูกส่งกลับหรือถูกส่งไปที่ต.ม.ส่วนกลางและติดค้างอยู่อย่างนั้น ปัญหาสำคัญคือทางการไทยพิจารณาคดีโดยยึดนิยามแต่ว่าคนกลุ่มนี้เป็นแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย ระบบการคัดกรองที่มีอยู่ก็เป็นเพียงกรอบคัดกรองเหยื่อการค้ามนุษย์เท่านั้น ยังไม่ได้ปรับตัวว่าสถานการณ์การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานหลังรัฐประหารนั้นต่างไปแล้ว
ผู้ลี้ภัยในเมืองต้องการกระบวนการคัดกรอง การจัดระเบียบ และกำหนดสถานะทางกฎหมายอย่างเป็นระบบด้วยการมีส่วนร่วมของ UNHCR กระบวนการคัดกรองที่ว่าจะต้องครอบคลุมนำมาใช้กับกลุ่มคนที่ถูกจับกุมในข้อหาลักลอบเข้าเมืองด้วย UNHCR ควรประกาศให้ชัดเจนถึงแนวทางการให้ความคุ้มครองและพิจารณาสถานะ และในระหว่างรอไปประเทศที่สามหรือรอสถานการณ์ในพม่าทุเลา รัฐควรเปิดให้องค์การระหว่างประเทศเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเบื้องต้น และควรมีการพิจารณาหลักเกณฑ์อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยทำงานเลี้ยงตนเองได้”
รวีพร ดอกไม้
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
ภาพประกอบ
1. “ในความฝัน” โดย ปริญญา ประณิธาน ภาพวาดเยาวชนส่งประกวดผลงานศิลปะ “เพื่อนไร้พรมแดน” ธันวาคม 2564
2-3. วันผู้ลี้ภัยโลก 2565