นอ ตาโน่โน่
ค่ายผู้ลี้ภัยอุ้มเปี้ยมใหม่
อีกหนึ่งใน “เสียง” ที่ร่วมออกอากาศเป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมงของวันผู้ลี้ภัยโลก 2564
“ตอนอยู่บ้าน ฉันต้องคอยหนีทหารพม่าที่เข้ามาทำร้ายข่มเหงชาวบ้านอยู่บ่อย ๆ พวกเราต้องไปหลบในป่า ขนาดกลางคืนเวลาหุงข้าวแล้วมีควัน ก็ยังต้องกลัวพวกทหารจะเห็น กองทัพพม่ามายึดนายึดไร่ของเรา จนไม่สามารถจะทำมาหากินอะไรได้”
“ในปี 2551 ฉันจึงอพยพมาที่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ เขาให้ที่อยู่ที่ดี มีอาหารเพียงพอ ครอบครัวก็ได้กินอิ่ม แต่พออยู่นาน ๆ ไป ความช่วยเหลือก็เริ่มลดลง ฉันได้ยินว่าผู้ที่ช่วยเหลือเรานั้นต้องหันไปช่วยเหลือคนที่อื่นมากขึ้น เราจึงได้รับความช่วยเหลือด้านอาหารน้อยลง และต้องยืนด้วยลำแข้งตนเอง”
“ฉันออกไปหางานทำนอกค่ายผู้ลี้ภัย ถ้าอยู่แต่ในนี้ มันไม่พอกินหรอก แต่ตอนนี้ เพราะโควิด19 เจ้าหน้าที่ก็เลยปิดทางเข้าออกไม่ให้เราออกไปทำงาน ก็เลยเกิดปัญหาอาหารไม่เพียงพอ จะเห็นได้ว่า มีคนยากจนมากขึ้น”
“เมื่อก่อนนี้ โรงเรียนอนุบาลนี่เราไม่ต้องเสียเงิน เขาสอนหนังสือให้ลูกเราและยังเลี้ยงข้าวกลางวันด้วย แต่ตอนหลังทุกอย่างขาดแคลน ความช่วยเหลือเรื่องเงินเดือนครูก็ลดลง พ่อแม่ก็เลยต้องช่วยเงินเดือนครูเอง ซึ่งเขากำหนดว่าสำหรับเด็กอนุบาลต้องจ่ายเดือนละ 100บาท และให้เด็ก ๆ เรียนแค่ครึ่งวัน ไม่ได้เรียนทั้งวัน ไม่ได้กินอาหารกลางวันเหมือนก่อน ส่วน ป.1- ป. 2 จ่าย 500กว่าบาท ป.3 700 กว่า แล้วในค่ายผู้ลี้ภัยนี้บางคนไม่ได้ไปทำงาน ก็ส่งลูกเรียนไม่ไหว หรือพ่อแม่บางคนเมื่อก่อนส่งลูกเรียนได้ แต่พอเขาไม่ให้ไปทำงานข้างนอก ก็ส่งลูกเรียนไม่ไหวเหมือนกัน เด็ก ๆ บางคนก็เลยต้องเริ่มทำงานเพราะพ่อแม่ไม่มีเงินส่งเขาเรียน”
” ความหวังของฉันก็คือว่า อยากให้รัฐบาลไทยออกบัตรใบให้ถือไปทำงานข้างนอกได้ง่ายขึ้น จะได้มีสิทธิ์ทำงานโดยที่ไม่ต้องกังวล ส่วนเรื่องการกลับถิ่นฐาน ตอนนี้ฉันไม่มีบ้านแล้วและไม่กล้ากลับด้วย ได้ยินมาว่าสถานการณ์พม่าไม่ค่อยดี คนตั้งมากมายต้องอพยพหลบหนี ทุกคนก็รู้ว่าการปกครองของกองทัพพม่าเป็นยังไง ฉันไม่กล้ากลับหรอก ลูก ๆ ไม่ได้เกิดในประเทศพม่า พวกเขาเกิดในค่ายผู้ลี้ภัย ในประเทศไทย แต่ก็ไม่ใช่ว่าเกิดในไทยแล้วได้สิทธิเหมือนคนไทยหรอกนะ นโยบายก็คือ เราเป็นผู้ลี้ภัย พูดตรง ๆ ก็คือ ลูกหลานเราไม่มีความมั่นคงในชีวิตหรอก เขามองว่าเราเป็นคนไม่มีประเทศ เป็นผู้ลี้ภัย เขาไม่นับเราเป็นคนไทย ในพม่าพวกเขาก็ไม่นับเราป็นพม่าเหมือนกัน ชีวิตของเราเลยค่อนข้างลำบาก เพราะเรายังไม่มีเสรีภาพ ไม่มีอิสรภาพ”