มนุษยธรรมต้องอาศัยการบริหารจัดการ (1)
จากรายงานข่าววันที่ 21 พ.ค. วันเดียวกันกับที่มีการประชุมนัดแรกของคณะทำงานฯ ระดับจังหวัด ผวจ.แม่ฮ่องสอนได้ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวว่า “ไม่มีการผลักดันส่งกลับผู้ลี้ภัย” หน่วยปฏิบัติจะกระทำตามแนวทางซึ่งยึดหลักมนุษยธรรม
เพื่อนไร้พรมแดนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ต่อจากนี้ เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงจะไม่ “กดดัน” หรือปฏิบัติการทางจิตวิทยาใด ๆ เพื่อให้กดดันผู้ลี้ภัยต้องจำใจกลับไปสู่สถานการณ์ไม่ปลอดภัยอีก
นอกจากนี้ การประเมินสภาพความไม่ปลอดภัยด้วยการพิจารณาเพียง “การสู้รบ” หรือ “การโจมตี” ในระยะประชิดชายแดนเพียงราว 2 กม.ตามที่ผู้ลี้ภัยได้รับแจ้งนั้น ควรได้รับการทบทวน เช่นเดียวกับข้อแนะนำที่เจ้าหน้าที่ฯมักกล่าวหลังจากไม่มีการโจมตีทางอากาศได้ไม่กี่วันว่า ผู้ลี้ภัยสามารถกลับไปก่อนได้ เพราะเครื่องบินรบมาอีกเมื่อไรก็กลับมาใหม่ได้ไม่มีปัญหา
ข้อเท็จจริงก็คือ การหนีเอาชีวิตรอดและเดินทางข้ามแม่น้ำสาละวินไป-มาระหว่างชุมชนหรือ “จุดหลบภัย” ริมรัฐกะเหรี่ยงกับฝั่งไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายดังการวิ่งข้ามแม่น้ำในฉากคลาสสิกในภาพยนตร์ “มือปืน 2 สาละวิน” การเดินทางมาถึงฝั่งน้ำ จะต้องอาศัยการแบกของหรือคนเดิน-วิ่ง เมื่อถึงฝั่งน้ำแล้วก็ต้องขึ้นเรือ มีน้ำมันเติมเรือ คำนวณจำนวนคนและข้าวของกับเรือต่อเที่ยว กว่าจะหมดทั้งกลุ่มก็หลายรอบ
ที่สำคัญ ในการเดินทาง แต่ละชุมชนยังต้องคอยดูแลผู้คนที่เปราะบางเป็นพิเศษ ในชุมชนที่เผชิญกับสงครามมาหลายทศวรรษนั้น มีผู้พิการทางกาย ผู้พิการทางสมอง อีกทั้งยังมีผู้ป่วยมาลาเรีย ผู้ป่วยอื่น ๆ หญิงท้องแก่ใกล้คลอด แม่ลูกอ่อน คนชราที่บางรายอายุร่วมร้อยและไม่สามารถกระทั่งเดินได้เร็วนัก หรือมีภาวะสมองเสื่อมไม่สามารถดูแลตนเองได้ดีด้วย
การอพยพแต่ละครั้งเป็นเรื่องที่ชาวบ้านและผู้นำชุมชนต้องจัดการ และไม่เคยเป็นเรื่องง่าย การรับผู้ลี้ภัยให้พักอยู่จนกว่าจะสามารถกลับไปได้อย่างปลอดภัยและสมศักดิ์ศรีนั้นก็ไม่ง่ายเช่นเดียวกัน หาก การ “บริหารจัดการ” ที่เหมาะสมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นของทั้งสองฝั่งลำน้ำ จะค่อย ๆ สามารถนำไปสู่ทางออกที่ยั่งยืนของปัญหาได้
ทั้งหมดนี้ย่อมดีกว่าการใช้เพียง “คำสั่ง” ที่มักก่อให้เกิดปัญหาตามมาไม่รู้จบ
(ยังมีต่อ)