มนุษยธรรมต้องอาศัยการบริหารจัดการ (2)
นอกจากความจำเป็นที่จะต้อง “บริหารจัดการ” ประเมินสภาพความไม่ปลอดภัย (อันเป็นเหตุสมควรให้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรม) อย่างเป็นระบบมีมาตรฐาน แทนที่จะให้อำนาจหน่วยงานความมั่นคงออก “คำสั่ง” รับ-ไม่รับ และกลับ-ไม่กลับโดยใช้หลักเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมาเองว่าจะต้องมีการสู้รบ/โจมตีประชิดชายแดนเพียงราว 2 กม.นั้น
การจัดพื้นที่พักอาศัยของผู้ลี้ภัย ก็เป็นงานมนุษยธรรมที่ต้องอาศัยการบริหารจัดการ และไม่ควรอย่างยิ่งที่หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่หลักในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยชายแดน จะมีอำนาจในการตัดสินใจและจัดการอยู่เพียงผู้เดียว
ผู้ลี้ภัยกลุ่มปี 2564 ไม่มีความประสงค์ หรือยังมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยยาวนานหลายปี ด้วยสถานการณ์ที่ต่างกับผู้ลี้ภัยช่วงปีพ.ศ. 2527-2541 อยู่มาก (รายละเอียดในโพสต์วันที่ 21 เม.ย. 2564) การจัดให้อยู่ในพื้นที่พักรอที่เหมาะสมก่อนจึงเป็นที่ยอมรับได้ ซึ่งอันที่จริงแล้ว รัฐไทยก็ได้ร่วมกับองค์กรเอกชนด้านมนุษยธรรมและ UNHCR วางแผนเผชิญเหตุ (contingency plan) และกระทั่งได้ร่วมการตรวจสอบพื้นที่พักรอตัวอย่างร่วมกันมาตั้งแต่ก่อนการโจมตีทางอากาศครั้งแรกในเดือนมี.ค.แล้ว กระทั่งล่าสุดก็ยังมีการประชุมวางแผนเช่นนั้นอีก
ทว่า แผนการดังกล่าว และสถานที่ซึ่งมีการออกข่าวว่าได้จัดเตรียมไว้จำนวนมากตลอดแนวชายแดน ก็กลับไม่เคยได้รับการนำมาใช้
ตลอดร่วม 2 เดือนที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยแต่ละกลุ่มพักอยู่ในบริเวณใกล้กับที่ตนข้ามน้ำสาละวินมา เกือบทั้งหมดอยู่ในเขตอนุรักษ์ซึ่งมีกฎระเบียบเข้มงวดในการใช้พื้นที่ (แม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ป่าสงวนและเขตอนุรักษ์สูงถึง 86.99 %ของพื้นที่ทั้งหมด) การกล่าวหาว่าพวกเขาเป็น “ภาระ” สำหรับผู้ดูแล สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ จะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงด้วยว่า ผู้ลี้ภัยไม่เคยมีสิทธิเลือกสถานที่พัก พื้นที่พักรอที่เตรียมไว้ไม่เคยได้รับการนำมาใช้ ไม่เคยมีการใช้แผนเผชิญเหตุที่วางไว้ และไม่มีการใช้ศักยภาพกับประสบการณ์ด้านการจัดการงานมนุษยธรรมของหน่วยงานรัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่นเลย
เมื่อมีความจำเป็นต้องรับรองคนที่หนีภัยความตายมา การวางแผนและบริหารจัดการที่ดีก็สามารถลดผลกระทบที่ไม่ต้องการได้มาก จากการศึกษาวิจัยเรื่องการจัดการผู้ลี้ภัยและสิ่งแวดล้อมในรายงาน “คนลี้ภัยในร่มป่า” (2544) พบว่า การรับผู้ลี้ภัยในยุคแรกก่อนปี 2538 ซึ่งแต่ละกลุ่มกระจายตัวกันใกล้กับชุมชนท้องถิ่นนั้น ไม่รบกวนสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรรายรอบมากเท่ากับเมื่อมีการรวมกันเป็นค่ายขนาดใหญ่ที่มีผู้คนหลายพันถึงหลายหมื่น ผู้ลี้ภัยกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีกินอยู่กับป่า-รักษาป่ามาตลอดจะใช้ชีวิตร่วมกับป่าได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการเรียนรู้และตกลงกฎระเบียบร่วมกันกับชุมชนท้องถิ่นซึ่งก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน นอกจากนี้ องค์กรเอกชนที่มีประสบการณ์ยังสามารถเข้ามาให้การสนับสนุนด้านวิธีการกำจัดขยะ หรือแนะนำเชื้อเพลิงหุงต้มเช่นถ่านอัดแกลบที่ใช้กันในค่ายผู้ลี้ภัยได้ เป็นต้น
การวางแผน ออกแบบ จัดการ ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย และไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้หมดจดในคราวเดียว แต่ละปัญหาต้องการการเรียนรู้รู้พัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์ให้ได้ดีขึ้นอยู่เสมอ
ด้วยสถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะต้องมีผู้คนหลบหนีตายมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่เฉพาะชายแดนแม่สะเรียงและสบเมย เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริหารจัดการงานมนุษยธรรม และยุติการใช้คำสั่งอันมาจากมิติความมั่นคงแต่เพียงอย่างเดียว
(ยังมีต่อ)