การอพยพลี้ภัยไม่ใช่อาชญากรรม

การอพยพลี้ภัยไม่ใช่อาชญากรรม

| | Share

การอพยพลี้ภัยไม่ใช่อาชญากรรม

ภาพการจับกุม “ต่างด้าว” ที่บริเวณชายแดน อ.พบพระ จ.ตาก ล่าสุดนี้ อาจคือผลลัพธ์ตัวอย่างของนโยบายที่ไม่มีนโยบาย ไม่มีนโยบายผู้ลี้ภัยเพราะไม่มีผู้ลี้ภัย 

16 ต.ค. 2565 ปรากฏเป็นข่าวเล็ก ๆ ว่าด้วยผลงานของหน่วยงานความมั่นคงชายแดน ที่สนธิกำลังเข้าจับกุม “แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” (ตามที่ระบุในข่าว แม่สอด มีเดีย 16/10/65) จำนวน 8 คน ที่บริเวณเส้นทางธรรมชาติ บ้านห้วยน้ำนัก อ.พบพระ จ.ตาก 

แม้เราไม่อาจยืนยันว่า ผู้ถูกจับกุมทั้งหมดตามข่าวหนีภัยอันตรายมาจริงหรือไม่  อย่างแรกที่ควรพิจารณาก็คือ พื้นที่ห้วยน้ำนัก อยู่ตรงข้ามกับบ้านเบล้อโด้ ซึ่งเป็นเป้าการโจมมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นเส้นทางที่กองทัพพม่าจะส่งกำลังทหารเข้าสู่พื้นที่เซ่บอโบ ซึ่งอยู่อยู่ตรงข้ามกับบ้านหมื่นฤาชัย หมู่บ้านเบล้อโด้ถูกทิ้งร้าง ชาวบ้านกระจัดกระจายไปหาที่ปลอดภัยเท่าที่พวกเขาจะทำได้ 

เมื่อคนที่จำเป็นต้องหนีภัยในภาวะสงครามโดยข้ามแดนมาประเทศไทย ต้องกลายสภาพเป็น “คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย” ถูกปฏิเสธสิทธิและความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัย หากยังย้อนกลับไปใช้ชีวิตเป็นคนจรอยู่ตามป่าเขาในรัฐกะเหรี่ยงไม่ได้ พวกเขาก็ต้องหลบซ่อนหรือหางานทำเลี้ยงปากท้อง และถูกจับในสภาพ “แรงงาน” ข้ามชาติ ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองและทำงาน

การจับกุม “ต่างด้าว” จากพื้นที่ที่รู้กันดีว่า มีผู้หนีภัยสงครามหนีมาหลบซ่อนอยู่ ก็คือการใช้กฎหมายไทยอย่างแข็งกระด้างโดยไม่นำเอาเจตนารมย์ของกฎหมาย ผนวกกับหลักการสิทธิมนุษยชน หลักมนุษยธรรม หรือกระทั่งหลักความมั่นคงของมนุษย์ในระยะยาวมาพิจารณา ซึ่งขั้นตอนต่อไปตามข่าว ก็คือ “ทำบันทึกการจับกุม พร้อมนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป” 

การหนีภัยอันตรายอันถึงแก่ชีวิตไม่ใช่อาชญากรรม เพราะหากว่ามันถูกตีค่าเป็นอาชญากรรมมาตลอดจากอดีตกาล มนุษยชาติก็คงไม่หลงเหลือจนถึงปัจจุบัน

17 ตุลาคม 2565

ภาพประกอบ 
1. ภาพการจับกุมผู้อพยพเข้าเมือง ตามรายงานข่าว แม่สอด มีเดีย 16 ต.ค. 2565
2-3. ภาพบ้านเบล้อโด้ที่ถูกทิ้งร้าง ถ่ายโดย ชาวบ้านริมเมย

Related