การทำร้ายผู้ลี้ภัยตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่จะต้องยุติ

การทำร้ายผู้ลี้ภัยตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่จะต้องยุติ

| | Share

ขอเรียกร้องให้มีการรักษาความปลอดภัยให้แก่พยาน รวมถึงดำเนินกระบวนการสอบสวนและกระบวนการยุติธรรมอย่างเปิดเผยและโปร่งใส ต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่อ.ส.ทำร้ายร่างกายผู้ลี้ภัยในค่ายแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

จากรายงานข่าวของสื่อภาคประชาชนชาวกะเหรี่ยง เมื่อบ่ายวันที่ 15 ก.ย. 2564  ผู้ลี้ภัยซึ่งมีชื่อในทะเบียนของมหาดไทย/UNHCR ในค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ ถูกเจ้าหน้าที่อ.ส.ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของค่ายราว 10 คน รุมทำร้ายร่างกาย ณ บริเวณโซน B 3b ที่สนามตะกร้อ จนบาดเจ็บมีแผลหลายแห่ง รวมถึงฟันหัก และไม่สามารถเดินได้เป็นปรกติ 

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันดังกล่าว มีเด็กวัยรุ่นเล่นตะกร้อกันที่สนาม ซึ่งเป็นการขัดคำสั่งของเจ้าหน้าที่อส. ผู้เสียหายเป็นหนึ่งในบุคคลที่นั่งอยู่หน้าบ้านในบริเวณนั้น ซึ่งไม่ชัดเจนว่า มีการโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่หรืออย่างไร หากมีการเรียกอ.ส.ผู้อื่นมาสมทบ และเกิดการรุมทำร้ายร่างกายขึ้น

เจ้าหน้าที่อ.ส.ต้องการจับผู้เสียหายซึ่งบาดเจ็บสาหัสขังไว้ในห้องขังค่ายผู้ลี้ภัย หากมีผู้ขอร้องให้ละเว้นโทษ และขอพาตัวไปโรงพยาบาลแม่สอด แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากค่ายผู้ลี้ภัยถูกปิดกั้นการเข้าออกด้วยมาตรการป้องกันโควิด

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 17 ก.ย. 2564 เพื่อนไร้พรมแดนได้รับแจ้งว่า องค์กรมนุษยธรรมที่ทำงานในค่ายผู้ลี้ภัย ได้ประสานงานพาตัวผู้เสียหายมารักษาตัวที่โรงพยาบาลแม่สอดแล้ว และจะมีการดำเนินการตามกระบวนการต่อไปโดย UNHCR สำนักงานแม่สอด

เหตุการณ์ทำร้ายผู้ลี้ภัยโดยเจ้าหน้าที่อ.ส.ซึ่งมีหน้าที่ดูแลค่ายฯนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในหลายครั้งเรื่องจะจบที่การตกลงยอมความเพื่อไม่ให้เป็นเรื่องใหญ่ และผู้ลี้ภัยก็ต้องยอมรับโดยไม่มีทางเลือกอื่น เพราะยังต้องใช้ชีวิตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยต่อไปกับเจ้าหน้าที่ชุดเดิม ในอดีตนั้น สังคมไทยไม่มีโอกาสรับรู้มากนักเนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดภายในรั้วลวดหนาม แต่เทคโนโลยีการสื่อสารและการตื่นรู้สิทธิของตนในวันนี้ไม่อาจมีอะไรขวางกั้นได้

เพื่อนไร้พรมแดนขอเรียกร้องให้ทั้งกระทรวงมหาดไทยและ UNHCR ได้ร่วมกันดำเนินกระบวนการสอบสวนและกระบวนการยุติธรรมอย่างเปิดเผยและโปร่งใส  เจ้าหน้าที่คู่กรณีทั้งหมดควรได้รับการพักงานอย่างน้อยจนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น  ที่สำคัญที่สุดก็คือ พยานผู้เห็นเหตุการณ์และผู้เสียหายจะต้องได้รับการดูแลรักษาความปลอดภัยทั้งในขณะดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดี จนถึงหลังผลการดำเนินคดี

ผู้ลี้ภัยที่กระทำผิดกฎเกณฑ์ของทางการ จะต้องได้รับการลงโทษตามที่กฎหมายอนุญาตเท่านั้น ซึ่งไม่มีโทษการทำร้ายร่างกายระบุไว้ในกฎหมายฉบับใดของประเทศไทย  ผู้ลี้ภัยจะต้องสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแม้คู่กรณีจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

การทำร้ายผู้ลี้ภัยตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่จะต้องยุติ

17 กันยายน 2564 

ภาพถ่ายและวิดีโอจากแฟนเพจ Mae La Times/Kyi Soe

Related