กลางวงล้อมสงคราม ไวรัส และความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
2564 เป็นปีที่โหดร้ายที่สุดปีหนึ่งของประชาชนพม่า เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับวิกฤตการเมืองไปพร้อม ๆ กับโรคระบาดใหญ่ การเมืองที่ปฏิเสธระบบตรวจสอบและถ่วงดุลย์อำนาจรวมถึงจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทำให้การระบาดโหมแรง และเกิดความสูญเสียเกินกว่าจำเป็นไปมาก
ติดชายแดนไทย ทั้งในรัฐกะเรนนีและจ.มื่อตรอของรัฐกะเหรี่ยง ประชาชนร่วมแสนใช้ชีวิตเป็นผู้พลัดถิ่นอยู่หลายเดือน การปะทะกันระหว่างกองทัพพม่าและ KnDF ขยายทั่วรัฐกะเรนนีเหลือเพียงบริเวณติดชายแดนไทย ขณะที่มื่อตรอด้านในตลอด 4 วันที่ผ่านมามีการปะทะกันถึง 30 ครั้ง อีกทั้งกองทัพพม่ากำลังมุ่งโจมตีเขตกองพลที่ 1 KNU (จ.ดูตาทู) ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์จากภาคกลางพม่าเข้าสู่มื่อตรอ
ล่าสุด บนชายแดนที่มีผู้พลัดถิ่นกะเหรี่ยง-กะเรนนจำนวนมากนั้นยังปลอดภัยจากโควิด 19 ทว่าการระบาดก็แผ่ล้อมทุกทิศทาง ทั้งจากรัฐกะเรนนีตะวันตก-เหนือมาถึงจ.ดูตาทู-พะอันทางใต้ของมื่อตรอ และชายแดนไทย
“การส่งความช่วยเหลือในฤดูฝนยากลำบากด้วยสภาพธรรมชาติอยู่แล้ว เรายังต้องพยายามหลบหน่วยลาดตระเวนพม่า ไม่ทำให้ผู้พลัดถิ่นตกเป็นเป้า และต้องคิดถึงความเสี่ยงในการนำไวรัสเข้าพื้นที่ด้วย”
สิ่งของช่วยเหลือส่วนหนึ่งยังคงกองอยู่ในเมือง เนื่องจากการส่งมอบทำได้ไม่เร็วนัก ผู้นำและองค์กรประชาสังคมท้องถิ่นกำลังพยายามหามาตรการป้องกันมิให้โควิดเดินทางเข้ามาพร้อมกับความช่วยเหลือ
“ชาวบ้านลำบากสาหัสอยู่แล้ว เราไม่อยากให้ความช่วยเหลือทำให้เขาต้องลำบากมากไปกว่านี้”
ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมยังเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ และสิ่งที่ต้องการที่สุด ก็คือความช่วยเหลือที่มิใช่การทิ้งขยะซึ่งไม่มีใครต้องการ มิใช่การแปะโลโก้โฆษณาพร้อมถ่ายภาพเอิกเกริกจนอาจนำอันตรายมาสู่ผู้รับ และมิใช่การบุกถึงพื้นที่เพื่อสัมผัสชีวิตชาวบ้านในวันเวลาที่พวกเขาไม่พร้อมรับแขก
“เราขอบคุณทุกคนที่เข้าใจและให้ความช่วยเหลือพวกเรา กองทัพพม่า โควิด พายุฝน ทั้งหมดทำให้ยากมาก แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความช่วยเหลือจะต้องไปถึงคนที่ต้องการมัน โดยที่ต้องไม่ทำให้พวกเขาตกเป็นเหยื่ออีกครั้ง ไม่ว่าจะเหยื่ออะไรก็ตาม”
จากการสนทนากับภาคประชาสังคมชายแดน
22 ส.ค. 2564
**ผู้สนใจสนับสนุนความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ติดต่อสอบถามได้ทาง bordervoices2010@gmail.com