ในวันที่โควิดเดินทางมาทั่วถึง
หากว่ากรุงเทพฯกำลังสะเทือนอย่างหนักกับภาวะเกือบล็อคดาวน์จนกระทั่งมาถึงล็อคจริงในวันนี้ (20 ก.ค.) ซึ่งรวมถึงความเข้มงวดกับการเดินทางเข้า-ออกจังหวัด ชุมชนชาติพันธุ์หลายแห่งก็กำลังเผชิญสิ่งเดียวกัน พวกเขาถูกล็อคจริงให้อยู่แต่เฉพาะในเขตหมู่บ้านของตนเท่านั้น
สำหรับชุมชนบนดอย แม้พบผู้ติดเชื้อเพียงคนเดียว ก็ต้องเผชิญกับภาวะ “ปิดชุมชน” อย่างกระทันหันแล้ว ด้วยวิถีชีวิตที่สัมพันธ์ใกล้ชิด จากคนติดเชื้อหนึ่งคนจึงนำไปสู่คนเข้าข่ายเสี่ยงสูงจำนวนมาก
“แต่เราไม่ได้โทษกันนะ ทุกคนรู้ว่าไม่มีใครอยากติดโควิด” เพื่อนลาหู่ของเราบอก
โควิด 19 เดินทางถึงชุมชนชาติพันธุ์บนดอยสูงอย่างเงียบ ๆ นับตั้งแต่คนทำงานในกรุงเทพฯและปริมณฑลหลั่งไหลกลับบ้าน หรือไปหางานต่างจังหวัด ตอบสนองกับมาตรการปิดแคมป์คนงานและหลายสถานที่ทำงานในส่วนกลางจากวันที่ 28 มิ.ย. 2564 เป็นต้นมา
หลายครั้ง การเดินทางของโควิดขึ้นดอยไม่ได้มาโดยตรงจากกรุงเทพฯ แต่มาเป็นทอด ๆ จากส่วนกลาง สู่พื้นที่เมืองจังหวัดอื่น จากคนนั้น ไปสู่คนนี้ ก่อนจะเดินทางถึงหมู่บ้าน การระแวดระวังในชุมชนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้ป่วยในชุมชนมักไม่ได้เดินทางมาจาก “พื้นที่เสี่ยงสูง” โดยตรง (ซึ่งหลายชุมชนก็กำหนดให้กักตัว) แต่ไปรับเชื้อต่อเนื่องมาเป็นทอด ๆ อย่างที่ว่า
“มันไม่ใช่ว่าเราไม่ระวังตัว มันไม่ใช่ว่าเราหละหลวม …. “
เพื่อนของเราบางชุมชนมีต้นทุนทางทรัพยากร คือมีข้าว พืชผล สัตว์เลี้ยง และอาหารจากผืนป่าที่ได้มาจากการต่อสู้อันยืดเยื้อยาวนานเพื่อสิทธิในการจัดการทรัพยากร จึงพอจะอยู่อย่างอึดอัดในชุมชนไปได้ในระยะ 14 วันโดยไม่ขาดแคลนนัก แต่บางชุมชน เช่น ชาวลาหู่บ้านแกน้อย (อ.เชียงดาว เชียงใหม่) หรือชาวกะเหรี่ยงบางกลอย (อ.แก่งกระจาน เพชรบุรี) ซึ่งถูกประกาศเขตอนุรักษ์ทับที่ดินทำกินไปเสียมาก จนแม้ในภาวะปกติก็ไม่สามารถปลูกข้าวได้พอกิน และต้องออกมาหางานรับจ้างรายวันอยู่แล้ว การปิดชุมชนจึงหมายถึงการขาดรายได้สำคัญ ทับถมไปจากการที่ลูกหลานที่ไปทำงานในเมืองจำนวนไม่น้อยกำลังตกงานในภาวะโควิด
“แต่ถ้าวันนี้มีกิน ก็ไม่ได้หมายความว่าวันหน้าจะไม่ลำบาก” เพื่อนชาวม้งอธิบาย “บางทีผลกระทบมันต่อไปอีกในระยะยาว อยู่ที่ว่าเราจะต้องอยู่กันแบบนี้นานแค่ไหน”
ชาวม้งบ้านบวกเต๋ย (อ.แม่ริม เชียงใหม่) มีอาชีพทำไร่กุหลาบเป็นหลัก กุหลาบของพวกเขาส่งมาถึงเชียงใหม่และเดินทางไปหลายแห่งในประเทศไทย การปิดชุมชนหมายถึงการปิดช่องทางขนส่งดอกไม้ซึ่งย่อมเหี่ยวเฉาไปเมื่อเกินกำหนดเวลา และแม้ว่าล่าสุดผู้นำชุมชนจะพยายามเจรจาจนมีการผ่อนปรนให้สำหรับรถขนส่งกุหลาบออกไปได้บางคัน โดยมีเงื่อนไขว่าคนขับรถจะต้องไม่กลับมาอยู่บ้านกับครอบครัวตลอดระยะเวลานี้ ผลก็ปรากฎว่า ตลาดหลายแห่งที่รู้ข่าวก็ปฏิเสธกุหลาบจากพวกเขา
“เขาไม่ต้องการกุหลาบจากชุมชนที่ถูกสั่งปิดเพราะโควิด” เพื่อนบอก แม้ถึงปัจจุบันที่นั่นจะมีผู้ติดเชื้อเพียงบ้านเดียวจาก 165 หลังคาเรือนก็ตาม “ดอกไม้ที่ขายไม่ได้ ก็ต้องขนกลับมา และทิ้ง…”
ผ่านมาแล้ว 5 วัน ที่ชาวบ้าน เครือข่ายเพื่อนฝูง และลูกหลานของพวกเขาที่ยังทำงานอยู่ในเมือง ต่างพากันระดมทุนระดมช่วยเหลือทั้งด้านอาหาร อุปกรณ์ป้องกันตัวเช่นหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับเจ้าหน้าที่ เช่นชุด PPE เฟสชิลด์ รองเท้าบู๊ต ฯลฯ ด้วยกันเอง
“เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องช่วยเหลือกันเอง เรื่องโควิดเป็นเรื่องที่ชุมชนต้องตระหนักและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เราไม่คิดว่าจะไปพึ่งพาอะไรกับรัฐบาลได้” เพื่อนชาวลาหู่บอก เช่นเดียวกับเพื่อนชาวม้งที่มองว่า “ชุมชนต้องจัดการดูแลกันเอง เจ้าของสวนกุหลาบจะต้องดูแลแรงงานของตัวเอง เพราะเราคือคนที่จะเดือดร้อน”
“เจ้าหน้าที่ไม่ได้มาเดือดร้อนกับเรา บ้านเราถูกล็อคดาวน์ แต่การตรวจหาเชื้อเหมือนการทำตามหน้าที่ให้จบไป ที่นี่ไม่มีการตรวจละเอียดปูพรม เขาอยากตรวจใครก็ตรวจไป แต่สำหรับเรา ถ้ามีคนติดเชื้ออีก เราก็ต้องล็อค 14 วันต่อไปอีก ถ้ายืดเยื้อไปเรื่อย ๆ ก็จะยิ่งยากขึ้นเรื่อย ๆ”
“มาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลนะเหรอ” เขาหัวเราะ “คงไม่ต้องพูดถึงก็ได้มั้ง ที่ออก ๆ มามันแทบจะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลยซักอย่าง อย่างเรื่องวัคซีน ชาวบ้านบ้านเราตอนนี้มีวัคซีนอะไรก็คงจะฉีดไว้ก่อน แต่แม้แต่ซิโนแวคก็ยังไม่มีมาให้ฉีดเลย ยี่ห้ออื่นที่ดี ๆ คนอยากฉีดอย่าได้พูดถึง มันมาไม่ถึงที่นี่หรอก ทุกคนพร้อมฉีด แต่วันนี้มันไม่มีวัคซีน”
“มันควรจะมีทางเลือกอื่นให้ประชาชนอย่างเรา ๆ ไม่ใช่วัคซีนที่ผู้นำประเทศเองก็ไม่ยอมฉีด ฉีดไปแล้วยังต้องภาวนาว่าผลข้างเคียงจะเป็นยังไง ฉีดแล้วจะติดอีกไหม ติดแล้วจะตายไหม ประชาชนไม่ใช่หนูทดลอง” เพื่อนลาหู่ส่งเสียงมา
การสนทนาสั้น ๆ กับเพื่อน คือการย้ำเตือนให้รู้ว่า แม้ว่าบ้านของเขาจะอยู่ห่างไกลเมืองจนกระทั่งวัคซีนและการบริการของรัฐต่าง ๆ อาจเดินทางมาไม่ทั่วถึง แต่โควิดนั้นเดินทางทั่วถึง เช่นเดียวกับข้อมูล ความรู้ และการตื่นรู้ของประชาชน
20 ก.ค. 2564