อดีตผู้ลี้ภัยจากประเทศไทย Nomadic Voices
เมืองที่รักผู้ลี้ภัยในหุบเขาของชนเผ่าพื้นเมือง
ในวัย 22 ปี ต้าโบโบ นักศึกษาวิทยาลัย Utica ได้รับการประกาศชื่อให้เป็นหนึ่งในวีรบุรุษ (100 Heroes) ของหุบเขาโมฮอว์ก โดยกลุ่มประชาสังคมท้องถิ่น United Way of the Mohawk Vally จากกิจกรรม Nomadic Voices หรือเสียงแห่งผู้เร่ร่อนที่เขาริเริ่มขึ้นมาในช่วงโควิด 19
ต้าโบโบ เป็นชาวกะเหรี่ยงที่เกิดในค่ายผู้ลี้ภัยถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี พ่อแม่ของเขาหนีภัยสงครามและการกวาดล้างชาวบ้านออกจากพื้นที่โครงการท่อก๊าซยาดานา (ไทย-พม่า) มาในปีพ.ศ. 2540 ต้าโบโบมีโอกาสไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐฯตั้งแต่อายุได้เพียง 4 ขวบกว่า เขาเติบโตขึ้นมาในเมืองยูทากา (Utica) หุบเขาโมฮอว์ก สังคมที่เบ่งบานไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่สุดแห่งหนึ่ง
หุบเขาโมฮอว์กมีประวัติศาสตร์น่าเศร้า คือเป็นถิ่นฐานของชนพื้นเมืองอเมริกันหลายชนชาติซึ่งถูกกดดันขับไล่ออกไป เพื่อให้ผืนดินเป็นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ของนักบุกเบิกผิวขาว ยูทากาเติบโตเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ดึงดูดผู้อพยพไอริช อิตาลี โปลิช เลบานีส ฯลฯ หากเมื่อฐานอุตสาหกรรมเริ่มย้าย โรงงานทะยอยปิด เศรษฐกิจท้องถิ่นตกต่ำ ภาษีท้องถิ่นที่เก็บได้น้อยนิดจนไม่สามารถไปบำรุงสาธารณูปโภคและการศึกษา ตัวเมืองก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมเต็มที่
ทว่า ด้วยความที่อสังหาริมทรัพย์ในเมืองราคาตกต่ำ ยูทากาจึงกลับเป็นที่สนใจของคนอพยพข้ามชาติจากคาริบเบียนและผู้ลี้ภัยที่เดินทางมาตั้งถิ่นฐานใหม่ การค่อย ๆกลับมามีชีวิตชีวาของเมืองนับจากยุคปลาย 70s ที่มีผู้ลี้ภัยเวียดนาม, ต่อด้วยกัมพูชา ลาว โปแลนด์ อดีตสหภาพโซเวียตในยุค 80s, และผู้ลี้ภัยบอสเนียในยุค 90s ได้นำไปสู่นโยบายเปิดรับผู้ลี้ภัยจากอิรัก เนปาล โซมาเลีย ซูดาน และพม่าในช่วงหลังปี 2000 เมืองเล็ก ๆ จึงกลับฟื้นตื่นขึ้นมาใหม่ด้วยความภาคภูมิในความหลากหลาย และฝ่ายบริหารท้องถิ่นก็เปิดกว้างพอที่จะยกโบสถ์คริสเตียนเก่าที่เป็นอาคารร้างผุพังให้ชาวบอสเนียซ่อมแซมเป็นมัสยิดใหม่ของตน
ด้วยความที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่พร้อมจะให้มนุษย์เบ่งบานเช่นนี้ ในปี 2563 ต้าโบโบซึ่งนั่งเขียนบทกวีอยู่บ้านในช่วงเก็บตัวโควิด ก็เริ่มชักชวนเพื่อนนักดนตรีและศิลปินไปตระเวนจัดเวทีเปิดตามสวนสาธารณะ เพื่ออ่านบทกวี ร้องเพลง ขับแร็ป และชักชวนให้ผู้คนออกมาถ่ายทอดความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ หรือสิ่งที่อยากจะบอกกล่าวให้โลกรู้ผ่านงานศิลปะด้วยกัน เวทีเล็ก ๆ ค่อย ๆ ขยายจนเป็นที่รู้จัก และวิทยาลัยยูทากาก็ก้าวเข้ามาสนับสนุน
หนึ่งในคลิปที่มียอดวิวล้นหลามของต้าโบโบ คือคลิปที่เขาพูดถึงตัวเองว่าเคยรู้สึกอับอายที่เป็นผู้ลี้ภัย และไม่ชอบที่คนเรียกเขาว่าเป็นพม่า เพราะเขาเองได้หนีการทำร้ายของกองทัพพม่ามา แต่เมื่อบอกใครว่าเป็น Karen คนก็มักฟังเป็น Korea จนเขาไม่นึกอยากจะเก็บอัตลักษณ์นี้ไว้เป็นของตนอีกต่อไป แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อโตขึ้น ต้าโบโบกลับรู้สึกภาคภูมิใจในความพิเศษของตัวเอง และเป้าหมายของ Nomadic Voices ก็จึงคือการเชื้อเชิญให้คนหนุ่มสาว (ซึ่งจำนวนมากคือลูกหลานของผู้ลี้ภัย) ได้ตระหนักในอัตลักษณ์ และยินดีกับความหลากหลายนี้
ยูทากาอาจรับผู้ลี้ภัยได้เนื่องจากยังมีพื้นที่ว่าง หากพื้นที่ว่างทางกายภาพอาจไม่สำคัญเท่ากับพื้นที่ทางความคิด การเติบโตของเมืองส่วนหนึ่งมาจากต้าโบโบ และการเติบโตของต้าโบโบส่วนหนึ่งก็มาจากตัวเมือง ซึ่งประกอบไปด้วยอดีตผู้ลี้ภัยอยู่ร้อยละ 20 และมีผู้คนหลากสีผิวเผ่าพันธุ์ยืนถือป้าย “เรารักผู้ลี้ภัย” เพื่อต้อนรับการมาเยือนของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ที่มีนโยบาย “ไม่เอา” ผู้ลี้ภัย
29 เมษายน 2565
ภาพประกอบจาก FB page : nomadicvoices และภาพยนตร์สารคดี Utica : the Last Refuge
อ้างอิง
– http://www.wamc.org/…/documentary-explores-how-refugees…
– https://www.thecenterutica.org/about/our-history/