หาชีวิตที่ดีกว่า เรื่องปกติในความผิดปกติ

หาชีวิตที่ดีกว่า เรื่องปกติในความผิดปกติ

| | Share

หาชีวิตที่ดีกว่า เรื่องปกติในความผิดปกติ

เรื่องราวของชาวโรฮิงญาจากภาคตะวันตกของประเทศพม่าจำนวน 59 คนที่ถูกนำมาทิ้งไว้บนเกาะดง ตะวันตกของเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กับคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบ บอกเล่าถึงหลายสิ่ง

ชาวบ้าน ชาย 31 คน หญิง 23 คน และเด็ก 5คน ซึ่งถูกพบเจอโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตานี้ มาจากค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในบังคลาเทศ และต้องการเดินทางไปหาญาติพี่น้องเพื่อปักหลักหาเลี้ยงชีพในมาเลเซีย 

จากคำให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Reporters ชี้ว่า เหตุผลที่ต้องการเดินทางไปมาเลเซียก็เพราะชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัยอันยาวนานตั้งแต่เด็กจนโตนั้นมองไม่เห็นอนาคต จึงต้องการไปมีชีวิตที่ดีกว่า 

คนทั้ง 59 คนไม่ได้ตั้งใจจะมาลี้ภัยในไทย และไม่ได้หลบหนีการประหัตประหารมาโดยตรง แต่มาจากค่ายผู้ลี้ภัยที่ไม่มีมนุษย์คนใดอยากใช้ชีวิตอยู่ไปตลอดกาล เมื่อผู้ลี้ภัยนั่งรับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแต่อย่างเดียว ผู้คนก่นด่าว่าพวกเขาเป็นภาระ แต่การออกไปใช้ชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยไม่มีรัฐใดยอมรับเป็นพลเมืองก็กลับกลายเป็นอาชญากรรม 

ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้สัมภาษณ์ว่า หากพบว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่เหยื่อการค้ามนุษย์ ก็จะต้องถูกดำเนินคดีฐานหลบหนีเข้าเมือง อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงย่อมมีความซับซ้อนเสมอ เพราะแม้คน 59 คนอาจไม่ได้เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์มาแต่แรกเดินทาง แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาได้ถูก (หรือกำลังจะถูก) เปลี่ยนมือสู่ขบวนการค้ามนุษย์ในไทยเมื่อถูกนำมาทิ้งไว้บนเกาะแห่งนี้ 

ที่สำคัญคือ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีใครตั้งใจจะเข้ามาประเทศไทย พวกเขาถูกนำมาทิ้งไว้โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ประสงค์ และไม่ได้สมัครใจ ซึ่งเป็นกรณีเช่นเดียวกันกับชาวโรฮิงญาอีกจำนวนมาก ที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ในไทย ขณะที่เจ้าตัวมีเป้าหมายจะไปมาเลเซีย

ข่าวดังกล่าวได้นำไปสู่เสียงของหลายฝ่ายที่ชี้ว่า ปัญหาหลักของกรณีโรฮิงญา คือการที่รัฐพม่าไม่ยอมรับพวกเขาเป็นพลเมือง ดังนั้นจึงต้องผลักดันให้รัฐพม่ารับรองสถานะทางกฎหมาย 

“เพื่อให้กลับประเทศได้ และไม่ให้ไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในประเทศที่สาม” ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ให้สัมภาษณ์ไว้

ทว่า ชาวโรฮิงญานั้นร่อนเร่ออกนอกประเทศพม่ามาช้านานเนื่องจากการประหัตประหาร พวกเขาไม่ได้เดินทางออกมาเพราะไม่ได้รับสถานะทางกฎหมาย ดังนั้น แม้รัฐพม่าจะรับรองสถานะทางกฎหมาย แต่ยังปล่อยให้กองทัพดำเนินการประหัตประหารและแอบสนับสนุนให้กลุ่มต่อต้านโรฮิงญาปฏิบัติการได้ตามอำเภอใจต่อไป ก็เป็นไปไม่ได้ที่ชาวโรฮิงญาจะคืนถิ่นได้โดยสมัครใจ ปลอดภัย และสมศักดิ์ศรี 

และเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะอยู่ติดกับแผ่นดินไม่ไป “แสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในประเทศที่สาม” 

ประโยคสุดท้ายนี้เรามักใช้กับผู้อื่น แต่จะไม่ใช้กับตัวเองเท่าไรนัก

6 มิถุนายน 2565 
ภาพประกอบ : ชาวโรฮิงญาที่ถูกปล่อยทิ้งไว้บนกาะ จาก FB อุทยานแห่งชาติตะรุเตา

Related