ลบเส้นพรมแดนให้คนบางกลอย

ลบเส้นพรมแดนให้คนบางกลอย

| | Share

ลบเส้นพรมแดนให้คนบางกลอย

ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยซึ่งออกไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม เดินทางกลับบ้านมาโดยไม่ทราบว่าตนติดเชื้อโควิด 19  
หลังจากมีอาการและตรวจพบเชื้อ ชุมชนซึ่งกำลังวิตกว่าได้มีการแพร่ระบาดไปแล้วหรือไม่ ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ จากหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นด้านการให้ความรู้ อุปกรณ์ป้องกันตัว หรือเครื่องใช้เพื่อสุขอนามัย 

การร้องเรียนต่อรัฐไม่เคยนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาสำหรับคนบางกลอย ก่อนหน้านี้ พวกเขายื่นจดหมายที่ไม่ได้รับคำตอบถึงกสม. ว่าด้วยความเดือดร้อนเรื่องความมั่นคงทางอาหาร อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการถูกบังคับอพยพโดยปราศจากสวัสดิการหรือแม้แต่การจัดการพื้นฐานตามที่จนท.รัฐแจ้งไว้  ล่าสุด ชาวบ้านกว่าสิบตกอยู่ในภาวะเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราการเจ็บป่วยในชุมชนสูงเช่นนี้ มาจากคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่กว่ามาตรฐานปกติที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมี รวมถึงความเครียดที่สะสมมาแสนนาน หรือไม่

ผู้ที่ติดตามเพื่อนไร้พรมแดนและข่าวสารเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น แรงงานข้ามชาติ ชนเผ่าพื้นเมือง หรือชนกลุ่มใดที่ถูกมอง “เป็นอื่น” เสมอมา น่าจะคุ้นเคยกับเรื่องราวความทุกข์ยากและการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน เพชรบุรีเป็นอย่างดี  ชาวบ้านเหล่านี้ถูกกดดัน หรือบังคับโดยใช้ความรุนแรง ให้อพยพจากผืนดินบรรพบุรุษที่บางกลอย-ใจแผ่นดินมาแล้วหลายครานับแต่ปีพ.ศ. 2539  ทั้งนี้ ด้วยข้อหาดั้งเดิมคือการ “ตัดไม้ทำลายป่า” ทั้งที่ข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นว่า วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงซึ่งดำรงอยู่ในผืนป่ามามากกว่าร้อยปี ได้รักษาแก่งกระจานให้อุดมสมบูรณ์เสียจนกระทั่งถูกประกาศให้กลายเป็นอุทยานแห่งชาติใช่หรือไม่

ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยเริ่มเป็นที่รู้จักในสื่อกระแสหลักในปี 2554 เมื่อมีข่าวเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำตกในป่าแก่งกระจาน  ตามด้วยข้อมูลที่มาของปฏิบัติการที่ใช้เฮลิคอปเตอร์นั้นซึ่งคือการไปเผาบ้าน ข้าว และทรัพย์สินของชาวบ้านเพื่อขับไล่ออกจากพื้นที่  ข่าวการฟ้องคดีของชาวบ้านต่อการปฏิบัติอันมิชอบของจนท.อุทยานต่อศาลปกครอง ข่าวการถูกทำให้สูญหาย/ฆาตกรรรมผู้นำชุมชน บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ เรื่องราวเล่าขานว่าด้วยปู่คออิ้ ผู้นำทางจิตวิญญาณอายุกว่าร้อยซึ่งลุกขึ้นสู้เพื่อจะได้เดินทางกลับบ้านอย่างสง่างาม กระทั่งถึงอารยะขัดขืนล่าสุดเมื่อต้นปีนี้ของกลุ่มชาวบ้านที่เดินเท้ากลับไปใช้ชีวิตที่บางกลอย-ใจแผ่นดินเป็นจำนวนถึง 36 ครอบครัว ทวีขึ้นมากกว่าที่เคยมีผู้แอบกลับขึ้นไปทำกินอยู่ตลอดในทุก ๆ ปี

เหตุที่ชาวบ้านไม่ต้องการโยกย้ายลงมายังพื้นที่จัดสรรใหม่นั้นมีมากมาย นอกเหนือไปจากศักดิ์ศรี ความเชื่อ และความรู้สึกไม่อยากจากบ้านเกิด อันถือเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ของชนเผ่าพื้นเมืองผู้อาศัยอยู่บนแผ่นดินนี้มาก่อนความเป็นรัฐชาติหรือการลากเส้นพรมแดนแล้ว การโยกย้ายผู้คนไปตั้งถิ่นฐานใหม่นี้ ก็ยังไม่ได้กระทำโดยเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากคือปฏิบัติการ “จับวาง” หรือ “กวาดต้อน” โดยให้เงื่อนไขการสงเคราะห์ซึ่งไม่ได้แม้แต่จะปฏิบัติตาม 

ในพื้นที่ใหม่ ครอบครัวส่วนหนึ่งจึงไม่มีที่ทำกินเลย ส่วนหนึ่งได้รับการจัดสรรที่ทำกินแต่ไม่เพียงพอ หรือได้รับที่ทำกินแต่ไปทับที่ของชุมชนข้าง ๆ หรือมีที่ทำกินคุณภาพต่ำเกินกว่าจะเพาะปลูกได้  ที่สำคัญ พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้หาอาหาร ใช้ และจัดการทรัพยากรธรรมชาติตามภูมิปัญญา ไม่ได้รับอนุญาตกระทั่งจะสร้างบ้านให้มั่นคงถาวร ขาดเสรีภาพแม้กระทั่งจะเดินทางเข้าออกบ้านตนเอง ขณะที่ถูกสั่งให้ร่วมโครงการพัฒนาซึ่งไม่เป็นที่ต้องการ ไม่เป็นประโยชน์ ตลอดจนถึงไม่เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของชาวบ้านที่มาใช้แรงงาน 

ผลโดยสรุปของการบังคับโยกย้ายชุมชนบางกลอย จึงคือการกัดกร่อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน ความอดอยากหิวโหย  สุขภาพกายและจิตที่ทรุดโทรม ขณะที่การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีมีคุณภาพ และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวบ้านก็เป็นไปได้ไม่ง่าย

แม้ “บางกลอย” จะคือภาพสะท้อนความล้มเหลวของรัฐ รัฐไทยยังพยายายามเร่งผลักดันให้ป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ขณะที่พยายาม “กู้หน้า” เพื่อโต้แย้งข้อคัดค้านจากภาคประชาชน ด้วยการการประชาสัมพันธ์ถึงความสำเร็จล้ำเลิศของงานพัฒนาชุมชนและ “บริจาค” เงิน 50,000 บาทผ่านโครงการผักปลอดภัยให้ติดตั้งท่อส่งน้ำ  ทั้ง ๆ ที่การจัดทำระบบน้ำเป็นหน้าที่ของอุทยานฯตามเงื่อนไขการอพยพซึ่งควรกระทำให้ได้สำเร็จแต่นานแล้ว  การนำเงินมาให้ชาวบ้านต้องดำเนินการเองจึงเป็นเพียงเรื่องตลกร้าย

เพื่อนไร้พรมแดนต่อต้านนโยบายและการปฏิบัติของรัฐ ที่การมองชนเผ่าพื้นเมือง ผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติให้ “เป็นอื่น” และนำไปสู่การกระทำเสมือนว่าพวกเขามิใช่มนุษย์ที่มีชีวิต ความรู้สึก และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชาชนไทยเสมอมา  คนบางกลอยนั้นแม้ส่วนใหญ่จะถือสัญชาติไทย ก็ได้รับการปฏิบัติไม่ต่างกับผู้ลี้ภัยที่ถูกกักเก็บในค่าย หรือแรงงานข้ามชาติที่ถูกทิ้งไว้ให้เผชิญควันพิษจากอุบัติภัยล่าสุดนั้น

นอกจากมิตรจะไม่ทำร้ายมิตรด้วยกันแล้ว มิตรก็ย่อมจะไม่นิ่งเฉยเมื่อมิตรถูกทำร้าย  สิ่งที่ทำได้ ณ เวลานี้สำหรับเพื่อนชนเผ่าพื้นเมือง ผู้ลี้ภัย และแรงงานข้ามชาติของเรา จึงคือการช่วยกันลบเส้นพรมแดนด้วยการส่งต่อข้อมูลข่าวสารให้เป็นที่รับรู้กว้างขวางในสังคม และในกรณีชาวบ้านบางกลอยซึ่งกำลังต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ท่านสามารถติดต่อบริจาคอาหารแห้ง หน้ากากอนามัย สบู่ล้างมือ เจลแอลกอฮอล์ เครื่องใช้เพื่อสุขอนามัย ค่าเดินทาง และอื่น ๆ ได้ที่ FB ภาคีSaveบางกลอย

ด้วยความศรัทธาในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

8 ก.ค. 2564

** ภาพประกอบจาก ภาคีSaveบางกลอย และนิทรรศการ​ “บางกลอย” ของเพื่อนไร้พรมแดน

Related