17 มีนาคม 2560 หรือเกือบเจ็ดปีที่แล้ว จะอุ๊ ชัยภูมิ ป่าแส ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเข้าทางด้านหลังที่ด่านอรุโณทัย ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยอ้างว่าเขาขนค้ายาเสพติด ขัดขืนการจับกุม และจะต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ด้วยมีด กับระเบิดมือ ที่สำคัญ เรายังไม่เคยได้เห็นภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณนั้นที่มีอยู่ถึง 9 ตัว ภาพจากกล้องวงจรปิดยังหายไปอย่างลึกลับจนถึงทุกวันนี้
จะอุ๊ หรือ ชัยภูมิ ป่าแส เด็กหนุ่มชาวลาหู่วัย 17 ปี เป็นเยาวชนชาวลาหู่ที่กำลังเติบโตในเส้นทางนักกิจกรรม ในปี 2554-2555 จะอุ๊เข้าร่วมโครงการเกี่ยวก้อยของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมให้เยาวชนไทยและชาติพันธุ์ได้เป็นมิตรและเรียนรู้การทำหนังสั้นบอกเล่าเรื่องราวและความคิดอ่านของตนเอง จากนั้น จะอุ๊มีส่วนร่วมกับการทำหนังสั้นในโครงการเกี่ยวก้อยรวม 5 เรื่องร่วมกับทีมรักษ์ลาหู่บ้านกองผักปิ้ง ได้แก่ “จะโบแปลว่าผู้มีวาสนา” (2555, ไมตรี จำเริญสุขสกุล, เกี่ยวก้อย 2), “ทางเลือกของจะดอ” (2555, ธนิต จำเริญสุขสกุล, เกี่ยวก้อย 2, ชมเชย รัตน์ เปสตันยี เทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 16), “เข็มขัดกับหวี” (2555, สุทิต ซาจ๊ะ, เกี่ยวก้อย 2, รางวัลดีเด่น (ที่ 2) ช้างเผือกพิเศษ เทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 16) “จะไม่ยอมแพ้” (2556,สุทิต ซาจ๊ะ, เกี่ยวก้อย 3) และ “ชอค่อ” (2559, ไมตรี จำเริญสุขสกุล, เกี่ยวก้อย 8) และเป็นหนึ่งในตัวละครเอกของภาพยนตร์สารคดี “ชุมนุมซามูไร” ซึ่งติดตามการทำหนังของพวกเขาอีก 1 เรื่อง ในปีหลัง ๆ ก่อนเสียชีวิต จะอุ๊ยังได้แวะเวียนมาช่วยจัดกิจกรรมศิลปะวัฒนธรรมและเทศกาลภาพยนตร์ของมูลนิธิฯ อยู่เสมอ นอกเหนือจากการทำหนังแล้ว จะอุ๊ยังเป็นผู้นำเยาวชนชาติพันธุ์ที่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมด้านวัฒนธรรม และรณรงค์เพื่อสิทธิของคนไร้สัญชาติด้วย จนเป็นที่รู้จักในเครือข่ายเยาวชนและคนทำงานด้านสิทธิเด็กอย่างกว้างขวาง
เนื่องใน
7 ปีแห่งการจากไปของจะอุ๊ ชัยภูมิ ป่าแส
6 ปีแห่งการต่อสู้และเรียกร้องความเป็นธรรมของครอบครัวจะอุ๊ ชัยภูมิ ป่าแส
เพื่อนไร้พรมแดนขอแสดงความระลึกถึงและยืนหยัดเคียงข้างครอบครัวของจะอุ๊ ชัยภูมิ ป่าแส
ให้ได้รับความเป็นธรรมรวมถึงการชดใช้เยียวยาตามกฎหมายโดยทันที
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานกรณีศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้กองทัพบกชดใช้ค่าเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 2,072,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่มารดาของนายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชาติพันธุ์ลาหู่ ที่ถูกฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ทหารนั้น ปัจจุบัน กองทัพยังคงไม่ดำเนินการนำเงินมาวางที่ศาลชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด
นับตั้งแต่ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ในคดีที่ มารดาของ นายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชาติพันธุ์ลาหู่ ที่ถูกฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก โดยศาลฎีกามีคำสั่งให้กองทัพบกชดใช้ค่าเสียหายให้แก่มารดาของนายชัยภูมิ ป่าแส เป็นจำนวนเงิน 2,072,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่ทว่าจวบจนถึงปัจจุบัน จากการติดตามเป็นเวลาเกือบ 3 เดือนที่กองทัพยังคงไม่ดำเนินการนำเงินมาวางที่ศาลชดใช้ค่าเสียหายแก่ครอบครัวของ นายชัยภูมิ ป่าแส ผู้ซึ่งได้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมนับเป็นเวลานานกว่า 6 ปี โดยไม่ทราบเหตุผลความจำเป็นที่ยังไม่ชำระเงินตามคำพิพากษา
คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนชาติพันธุ์จากกลุ่ม ‘รักษ์ลาหู่’ ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมเยาวชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของคนชาติพันธุ์และคนไร้สัญชาติในประเทศไทย ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ตรวจค้นรถยนต์นายชัยภูมิ ป่าแส ที่ขับมาพร้อมเพื่อนอีกหนึ่งคน เมื่อผ่านด่านตรวจดังกล่าว นายชัยภูมิ ป่าแสได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจค้นแล้วใช้อาวุธปืนยิงจนเสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่อ้างว่านายชัยภูมิขัดขืนและพยายามทำร้ายเจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้เพื่อป้องกันตนเอง
โดยต่อมา มารดา นางนาปอย ป่าแส (ชนเผ่าพื้นเมืองลาหู่) ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำอยู่ที่ด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ใช้อาวุธปืนยิงสังหารนายชัยภูมิ ป่าแส ลูกชายของตน ซึ่งผลการพิจารณาของศาลชั้นต้นกลับมองว่า เจ้าหน้าที่ทหารที่ยิงผู้ตายกระทำเพื่อป้องกันตัว สมควรแก่เหตุ ไม่ถือว่าละเมิดต่อโจทก์ พิพากษาให้ยกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น จึงเป็นเหตุให้ทางครอบครัวของชัยภูมิและทนายความขอยื่นฎีกาต่อ เพื่อตามหาความจริงและทวงคืนความยุติธรรมให้ชัยภูมิและครอบครัว
อย่างไรก็ตาม แม้ศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้กองทัพบกชดใช้ค่าเสียหายแล้วก็ตาม แต่กองทัพบกยังคงเพิกเฉย ปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยมาเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ที่กองทัพบกยังไม่นำเงินมาชำระให้กับครอบครัวชัยภูมิป่าแส ความล่าช้าที่ไม่มีเหตุผลความจำเป็นนี้อาจทำให้ครอบครัวและสังคมเข้าใจไปว่ากองทัพบกยังไม่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อการกระทำละเมิดต่อครอบครัวของนายชัยภูมิ ป่าแสแต่อย่างใด กว่า 6 ปีที่ครอบครัวของชัยภูมิเดินทางออกมาต่อสู้เพื่อเรียกกร้องความยุติธรรม จนกระทั่งศาลสูงสุดตัดสินคดีเสร็จสิ้นแล้ว แต่ครอบครัวของชัยภูมิ ป่าแส ยังคงต้องรอให้กองทัพบกแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อชัยภูมิ ปัจจุบันก็ยังไม่มีคำขอโทษหรือแสดงความเสียใจของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวและสังคม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอยืนหยัดเคียงข้างครอบครัวชัยภูมิ ป่าแสผู้ซึ่งยังคงต้องอดทนรอคอยความยุติธรรม และขอเชิญชวนสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจในคดีดังกล่าวร่วมส่งกำลังใจให้กับครอบครัวของนายชัยภูมิ ป่าแส รวมถึงกรณีอื่นๆที่อาจเผชิญเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันและยังคงต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ให้ได้รับความเป็นธรรมรวมถึงการชดใช้เยียวยาตามกฎหมายต่อไป
ข้อมูลจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Cross Cultural Foundation (CrCF)