ถ้อยแถลง มิตรภาพไร้พรมแดน ไม่ใช่อาชญากรรม

ถ้อยแถลง มิตรภาพไร้พรมแดน ไม่ใช่อาชญากรรม

| | Share

ถ้อยแถลง มิตรภาพไร้พรมแดน ไม่ใช่อาชญากรรม

ในปี 2542 เพื่อนไร้พรมแดนจัดตั้งขึ้นมาด้วยความตั้งใจที่จะสื่อสาร สร้างสัมพันธ์ และมิตรภาพระหว่างกลุ่มชนที่หลากหลายสัญชาติ เชื้อชาติ สถานะทางกฎหมาย เพศสภาพ ความเชื่อทางศาสนาและอื่น ๆ 

ด้วยความศรัทธาในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราเลือกทำงานประเด็นผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ รวมถึงชนเผ่าพื้นเมืองของทั้งไทยและพม่า งานของเรามุ่งลบเส้นพรมแดนของความเป็นอื่น หรือความเป็น “เขา” อัน “มิใช่เรา” ด้วยการสื่อสารกับสังคม การสร้างศักยภาพชุมชน ตลอดจนถึงการผลักดันเชิงนโยบายในบางครั้งบางครา ซึ่งทั้งหมดนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานในสิ่งที่เราเชื่อ คือ หลักการสิทธิมนุษยชน

กว่า 23 ปีผ่านไป เราเดินหน้ากันด้วยความเชื่อมั่นในแนวคิดว่า หากมิใช่อื่นใดแต่ได้เป็นเพื่อนกันแล้ว เพื่อนก็ย่อมไม่ทำร้ายเพื่อน และยิ่งไปกว่านั้น เพื่อนจะไม่นิ่งเฉย เมื่อเพื่อนของตนถูกทำร้าย

เราเคยถูกตั้งคำถามว่า “คุณทำงานเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่” คำตอบของเราคือ การเมืองอยู่ทุกก้าวของการใช้ชีวิตประจำวัน การที่เราจะจ่ายค่าพาหนะโดยสารเท่าไร ซื้ออาหารกี่บาท พาลูกไปโรงเรียนที่ไหน พาพ่อแม่ไปโรงพยาบาลแบบใด แต่งงานแบบจดทะเบียนหรือไม่จด หรือกระทั่งจัดงานศพอย่างไร ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น  

ดังนั้น การที่เราจะทำงานด้วยความคาดหวังให้มิตรต่างชาติต่างภาษาของเราได้ใช้ชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่ด้วยเป็นธรรมดา

แล้วถ้าเช่นนั้น การทำงานของเรา “การกระทบความมั่นคงของรัฐในด้านเศรษฐกิจหรือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” หรือ “กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” หรือ “ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม” หรือ “กระทบต่อประโยชน์สาธารณะรวมทั้งความปลอดภัยสาธารณะ” อันเป็นข้อห้ามในการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงกำไร ตาม (ร่าง) พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ.   ซึ่งได้ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปเมื่อ 4 มกราคม 2565 นั้น หรือไม่

เราเชื่อว่า การทำงานของเราควรต้องส่งผลกระทบใน “เชิงบวก” ต่อความมั่นคงทุก ๆ ด้านของ “ประชาชน” และรัฐ ส่งผลต่อ “สันติภาพ”  และเป็นประโยชน์รวมถึงสร้างความปลอดภัยสาธารณะในระยะยาว  เพราะนั่นคือเป้าหมายของคนทำงานภาคประชาสังคมอย่างเรา 

ทว่า ความผิดอันปล่อยกรอบกว้างให้เป็นตามแต่ “ทัศนคติ” ของผู้ตีความ บนพื้นฐานกฎหมายที่ร่างขึ้นจากเจตจำนงที่จะควบคุมภาคประชาชนราวกับว่าประชาชนเป็นศัตรูของรัฐนั้นจะหมายถึงอะไร ?

ประเทศไทยไม่ได้พัฒนาจนถึงทุกวันนี้เนื่องด้วยผู้ปกครอง ผู้บริหาร หรือราชการแต่เพียงอย่างเดียว  ประชาชนและภาคประชาสังคมมีส่วนสร้างประเทศในทุก ๆ ย่างก้าว การวิพากษ์วิจารณ์รัฐไม่ใช่อาชญากรรม  การตัดสินใจทำงานในสิ่งที่รัฐทำไม่ได้ไม่ใช่การบ่อนทำลาย  การทำประโยชน์โดยไม่แสวงกำไรนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพของผู้ที่ต้องการให้บ้านน่าอยู่  ประชาชนไม่ได้เป็นศัตรูกับรัฐ แม้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐบางคนจะมองประชาชนเป็นศัตรู 

เพื่อนไร้พรมแดนเชื่อว่า การกวาดเก็บภาคประชาสังคมเข้าสู่กล่องแคบ ๆ ของรัฐต่างหาก คือการบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ และประชาชน

16 กุมภาพันธ์ 2565

#ยุติกฎหมายควบคุมภาคประชาชน ยุติการเดินหน้าร่างพ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร 

ภาพประกอบ : เทศกาลศิลปวัฒนธรรม “บินข้ามลวดหนาม” โดยมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนและมิตรสหายเครือข่าย พ.ศ. 2560

Related