บันทึกโควิด
โดย ธน เดร อู นักเรียนหญิงชั้นม. 2 (ชั้นปีที่ 8 )
โรงเรียนแลเบง แม่สอด จ.ตาก
ฉันเป็นนักเรียน แต่ปีนี้โรงเรียนของฉันต้องปิดทั้งปีเพราะโรคโควิด 19 ฉันมาจากครอบครัวแรงงานมอญจากพม่า บ้านของฉันมีด้วยกัน 5 คน พ่อ แม่ น้าสาว ฉัน และมีน้องเล็กด้วย ในช่วงเวลาโควิดนี้ พวกเราจึงลำบากมาก
แม่ของฉันนั้นอยู่บ้านดูแลน้องเล็กและทำงานบ้าน ปกติแล้วแม่เป็นคนรอบคอบหรือจะเรียกว่าช่างวิตกกังวลก็ได้ เมื่อเกิดสถานการณ์อย่างนี้ แม่จึงเครียดมาก แม่พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าเมือง เลิกไปตลาดแม่สอด เลือกที่จะซื้อของจากร้านค้าแถวบ้าน จะเข้าเมืองก็ต่อเมื่อมีการนัดหมายวัคซีนของน้องเล็กเท่านั้น เวลาไปทีแม่ก็จะสวมใส่หน้ากากผ้าให้กับตัวเองและมีหน้ากากอันเล็กให้น้อง แถมยังพกเจลแอลกอฮอล์ขวดเล็ก ๆ ที่เราได้รับแจกไปด้วย พวกเราทุกคนใช้หน้ากากผ้าแทนหน้ากากอนามัยจริง ๆ ที่ใช้แล้วทิ้ง เพราะมันราคาสูงเกินไป
พ่อของฉันเป็นหัวหน้าคนงานที่ไซท์ก่อสร้าง เมื่อก่อนพ่อไปทำงานที่ไหนก็จะกลับมากินข้าวที่หุงใหม่ ๆ ที่บ้านทุกกลางวัน แต่ตอนนี้ไซท์งานหมู่บ้านจัดสรรที่พ่อทำอยู่ไกลพอสมควร เจ้าของงานสั่งห้ามไม่ให้คนงานเข้า ๆ ออก ๆ บ่อย ๆ เพราะเขาก็มีกฎระเบียบเรื่องการป้องกันโควิด 19 เคร่งครัดมาก พ่อจึงเปลี่ยนเป็นห่อข้าวกลางวันไปทุกวันแทน ในการระบาดรอบแรกเมื่อต้นปีที่แล้ว ตำรวจเข้ามาตรวจค้นและจับแรงงานที่ไม่มีบัตรหรือใบอนุญาตหมดไปเยอะ พ่อกับแม่ต้องรีบต่ออายุพาสปอร์ตให้ถูกต้องทั้ง ๆ ที่เราไม่ค่อยมีเงิน
ตั้งแต่มีโควิด 19 ครอบครัวของฉันเจอกับปัญหาการเงินเสมอ บางทีก็ถูกล็อคดาวน์พ่อไปทำงานไม่ได้ บางทีพ่อสร้างบ้านให้เขาเสร็จแล้วเงินก็ไม่ออก ได้ค่าแรงช้าไปมาก จนเราต้องเอาของที่มีอยู่ในบ้านรวมทั้งทองของแม่ไปขายเพื่อเอาเงินไปต่ออายุพาสปอร์ตให้ลูกน้องของพ่อให้ครบ ไม่อย่างนั้นพวกเขาจะถูกจับ ที่จริงแล้วแรงงานควรจะเบิกค่าแรงได้ตอนสิ้นเดือนของทุกเดือน แต่ตอนนี้ทุกคนได้เงินช้าไปหมด และเจอกับปัญหาไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง ค่าอาหาร และอื่น ๆ อีกมาก
น้าสาวของฉันนั้นลำบากมากเหมือนกัน น้าอยู่โรงงานเย็บผ้า เมื่อปีที่แล้วตอนที่โควิด 19 ระบาดรอบแรก โรงงานประกาศให้คนงานย้ายไปอยู่ในโรงงาน ไม่ให้เดินทางไป-กลับ และไม่ให้ใครเข้าออกโรงงานได้ น้าต้องลำบากเรื่องอาหารการกินมากพอควร พวกเราต้องเอาอาหารไปส่งให้ที่หน้าประตูทางเข้าโรงงาน แต่จะส่งข้าวสารถุงใหญ่หรือเนื้อ-ปลาก็ไม่ได้ เพราะข้างในไม่มีที่เก็บ และน้าก็ไม่มีเวลาทำกับข้าวเลยด้วย บ้านเราจะเอาข้าวไปส่งให้ที่โรงงานทุกวันทุกมื้อก็เป็นไปไม่ได้อีก ได้แต่ทำอาหารที่เก็บได้ไปให้อาทิตย์ละสองครั้งเท่านั้น น้าจึงไม่ได้กินอาหารดี ๆ ที่สดใหม่เลย แถมช่วงนั้นงานมีเพิ่มขึ้นมากจากการที่โรงงานได้รับออเดอร์ตัดเสื้อกาวน์ของทีมสาธารณสุข น้าจึงต้องทำโอที พักผ่อนน้อย กินข้าวไม่ตรงเวลา จนในที่สุดถึงกับล้มป่วยและโรงงานก็อนุญาตให้กลับมาพักที่บ้าน ซึ่งพออาการดีขึ้นน้าก็รีบกลับไปทำงานทันที เพราะถ้าไม่ไปก็ไม่มีเงิน แต่กลับเข้าไปได้เดือนเดียวก็มีการระบาดรอบสองมาอีก คราวนี้โรงงานให้คนงานพักอยู่ที่นั่นตลอดสามเดือนไม่ให้ไปไหน แม้น้าจะไม่สบายเขาก็ไม่ให้กลับบ้านแล้ว เพราะเขาบอกว่าได้มีการจัดห้องพยาบาลให้คนงานที่เจ็บป่วยแล้ว
ตัวฉันเองนั้นแต่เดิมวางแผนไว้อย่างดีว่าจะไปเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมในประเทศพม่า เพื่อจะได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยในพม่าในสะดวกขึ้น แต่พอมีโควิด 19 ระบาด ด่านชายแดนปิด การจะเดินทางไปเรียนแบบไปกลับก็เป็นไปไม่ได้ (ครอบครัวของฉันนั้นอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากกว่าประเทศพม่า) แผนการเดิมจึงต้องพักไว้ก่อน ตอนแรกฉันคิดว่าถ้าสถานการณ์โควิด 19 ดีขึ้นแล้ว โรงเรียนก็คงจะกลับมาเปิดอีก และฉันจะได้เรียนต่อที่นี่ ครูของเราพยายามอย่างมากที่จะให้โรงเรียนเปิดได้ตามกฎระเบียบของรัฐบาลไทย แต่พอการระบาดรอบสองมาถึงจนบัดนี้ผ่านไปตลอดปี โรงเรียนของเราก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดอีกเลย การแพร่ระบาดของโควิดทำให้พวกเราเรียนช้าไปหนึ่งปี เพราะการเรียนที่บ้าน (home-base learning) มันแทบไม่รู้เรื่องอะไร ลูกพี่ลูกน้องของฉันคนหนึ่งตัดสินใจออกไปหางานทำ เขาพยายามอ่านหนังสือด้วย ทำงานไปด้วย แต่ก็ต้องช่วยแม่หาเงินเพราะในสถานการณ์แบบนี้แม่ของเขาหาเงินได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม ถ้าโรงเรียนเปิด เขาก็คงไม่ไปทำงาน แต่ตั้งใจเรียนให้จบเพื่อจะได้งานดีกว่านี้
โควิด 19 ทำให้ชีวิตของพวกเราเปลี่ยนไปมาก บางคนติดตามข้อมูลข่าวสาร ซึ่งก็มีข่าวจริงและข่าวปลอม จนหวาดกลัวและเครียดไปหมด ในช่วงปีใหม่ที่ระบาดรุนแรง มีการปิดด่านไทย-พม่า ครอบครัวของฉันและเพื่อนบ้านก็ถูกล็อกดาวน์ให้อยู่แต่ในชุมชน พี่สาวฉันทำงานอยู่กรุงเทพฯก็กลับมาไม่ได้ ได้แต่ส่งเงินค่าขนมมาให้ลูกแทน ส่วนครอบครัวของลุงนั้นนายจ้างไม่ให้ออกจากบ้านเลยด้วยซ้ำ ในระยะหลัง ร้านค้าต่าง ๆ ตามชุมชนปิดร้านกันไปเสียมาก ถึงไม่อยากไปตลาดแม่สอดบางครั้งก็จำเป็นต้องไป พวกเราต้องคอยระวังตัวเวลาไปไหนมาไหน ยิ่งบ้านไหนมีเด็กเล็กหรือคนแก่ก็ยิ่งต้องระวัง ใคร ๆ ก็บอกว่า “ป้องกันโรคดีกว่าต้องมารักษา” ทุกคนพูดอย่างนี้เพื่อเป็นกำลังใจในการที่จะต้องอดทนทำอะไรต่าง ๆ อย่างบ้านของเรา เพื่อนจะมาเที่ยวหาก็ต้องให้เขาล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัยก็ต้องมีไว้ ใช้แล้วก็ซัก รีด แล้วเก็บไว้อย่างดีเพื่อเอามาใช้ต่อ ออกไปไหนก็ต้องใส่หน้ากาก กลับถึงบ้านมาก็ต้องอาบน้ำให้สะอาด อาหารก็ต้องพยายามกินที่มีประโยชน์จะได้มีภูมิคุ้มกันที่ดี ทุกคนต้องดูแลตัวเองและปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโรคตามที่ทางชุมชนกำหนด แล้วก็หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
แม้พวกเราทุกคนต้องเจอกับปัญหามากมายหลากหลาย เราต่างก็พยายามจะหาทางออกด้วยตัวเองอยู่เสมอ สถานการณ์โควิด 19 ทำให้แรงงานมีรายได้น้อยลงมาก ๆ ได้บ้างไม่ได้บ้าง หลายคนต้องไปขอยืมเงินมาต่ออายุพาสปอร์ต แล้วก็ต้องเป็นหนี้พร้อมดอกเบี้ยที่สูงมาก ๆ แต่ถึงอย่างนั้น ฉันก็ได้ข่าวว่ายังมีคนพยายามลักลอบข้ามแดนจากพม่ามาเสมอ พวกเขาข้ามแม่น้ำมาทางป่า แล้วก็มีตำรวจไปสกัดจับไว้ได้ คนเหล่านี้น่าจะมีปัญหาการเงินมากอยู่แล้ว ถ้าถูกจับก็คงไม่มีเงินมาจ่ายค่าปรับแน่นอน ในการระบาดรอบสองต้นปีนี้ แรงงานจากพม่าที่ไปอยู่แถว ๆ กรุงเทพฯถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของความเดือดร้อนในเรื่องโควิด 19 ทำให้มีร้านค้าที่ถึงกับไม่ต้อนรับคนพม่า บางแห่งเขียนป้ายปิดไว้หน้าร้านด้วยว่า “ไม่อนุญาตให้แรงงานพม่าเข้า” พวกเราต้องเจอกับปัญหาการแบ่งแยก เลือกปฏิบัติ และถูกรังเกียจจากสังคมอย่างรุนแรง บางโรงงานประกาศจะไม่รับคนงานจากพม่าเข้าทำงานอีกด้วย
ถึงวันนี้ ทุกอย่างซาลงไป แต่ฉันคิดว่า ในใจของคนทำงานก็คงจะยังมีความรู้สึกเจ็บปวดเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ฉันอยากจะบอกว่ามันไม่ได้เป็นความผิดของคนจากพม่าที่อยากมาประเทศไทย เพราะเราทุกคนต่างก็พยายามดิ้นรนเพื่อครอบครัวของเรา
ภาพประกอบ จักรพันธ์ ศรีวิชัย
บันทึกโควิด เป็นผลงานร่วมระหว่างเพื่อนไร้พรมแดน กับโรงเรียนเด็กข้ามชาติหรือศูนย์การเรียนซ่าทูเหล่ ซ่าทูก้อ และแลเบง (แหล่เบ) ภายใต้โครงการ Project for the Agents of Changes (PAC) ด้วยการสนับสนุนของ Norwegian Human Rights Fund (NHRF)