จะเป็นผู้ลี้ภัยนานเท่าไร ไม่ได้ขึ้นกับความ “”อยากอยู่” 

จะเป็นผู้ลี้ภัยนานเท่าไร ไม่ได้ขึ้นกับความ “”อยากอยู่” 

| | Share

จะเป็นผู้ลี้ภัยนานเท่าไร ไม่ได้ขึ้นกับความ “”อยากอยู่” 

อีกหนึ่งข้อกล่าวหาดั้งเดิมต่อการรับผู้ลี้ภัย คือคำย้ำซ้ำ ๆ ว่า หากรับไว้ ก็จะเกิดปัญหาคนตกค้างตลอดกาลเหมือนผู้ลี้ภัยใน 9 ค่ายชายแดน (หรือที่รัฐเรียกว่า “พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ) ดังที่มีสื่อมวลชนรายหนึ่งพาดหัวข่าวว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้คือ “ภาระถาวร”

คนที่ทำงานกับผู้ลี้ภัยชายแดนพม่าแต่เดิมย่อมจำได้ว่า ข้อกล่าวหาเช่นนี้ มักตามมาด้วยมาตรการที่จะทำให้ผู้ลี้ภัยไม่ “สบายจนเกินไป” รวมจนถึงการไม่สนับสนุนให้เรียนภาษาไทยเพราะกลัวจะ “อยู่นาน”  และไม่ยอมเปิดให้มีการไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามเพราะกลัวเป็น “ปัจจัยดึง” 

อันที่จริง การที่ผู้ลี้ภัยจะอยู่ในประเทศไทยยาวนานหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นกับ “ตัวผู้ลี้ภัย” ว่าอยากอยู่หรือไม่ แต่ขึ้นกับ “สถานการณ์” และพัฒนาการทางการเมืองของรัฐที่ผลักดันให้เกิดผู้ลี้ภัยเป็นสำคัญ

ก่อนการจัดตั้งค่ายผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าแห่งแรกเมื่อปี 2527  ชายแดนพม่าอยู่ในความควบคุมดูแลของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เกือบทั้งสิ้น  กองทัพพม่ามักเข้าโจมตีในฤดูแล้ง ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านหนีข้ามแดนมาหลบภัยแล้วกลับไปในฤดูฝน  แต่ในปี 2527 กองทัพพม่ายึดพื้นที่ของสหภาพกะเหรี่ยงแห่งชาติ (KNU – Karen National Union) ส่วนหนึ่งไว้ได้โดยไม่ได้กลับไปในฤดูฝนเหมือนเดิม ชาวบ้านนับหมื่นจึงต้องลี้ภัยอยู่เป็นเวลานานจนรัฐอนุญาตให้องค์กรมนุษยธรรมมาให้ความช่วยเหลือ  

ผู้ลี้ภัยกลุ่มแรกเข้าใจว่าตนจะพักอยู่ประเทศไทยไม่นานนัก แต่กองทัพพม่ากลับมุ่งโจมตีชายแดนอย่างหนักต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับจากปี 2531 ที่นักศึกษาปัญญาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยหลบหนีการปราบปรามมาเข้าร่วมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์รวมถึง KNU และมีบริษัทธุรกิจไทยเข้าไปตัดไม้ทำถนน อำนวยให้กองทัพพม่าเข้าจู่โจมได้รวดเร็วและกว้างขวางขึ้น การกลับคืนถิ่นฐานจึงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

ยิ่ง KNU เสียพื้นที่มากขึ้นเท่าไร ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงก็ต้องหลบหนีมามากขึ้นเท่านั้น  หลังจากปี 2538 ที่กองทัพพม่าสามารถยึดศูนย์บัญชาการใหญ่ของ KNU และรุกไปยังทุกพื้นที่ชายแดนรวมถึงฐานที่มั่นของพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี (KNPP- Karenni National Progressive Party) ตรงข้ามแม่ฮ่องสอน ต่อเลยถึงการบังคับโยกย้ายและกวาดล้างชุมชนชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ท่อก๊าซไทย-พม่าหรือโครงการยาดานาในปีพ.ศ. 2539-2540  ในที่สุดรัฐบาลทหารพม่า/กองทัพก็สามารถเข้าควบคุมพื้นที่ตลอดแนวชายแดนได้ทั้งหมดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์  และผู้ลี้ภัยก็ทวีจำนวนขึ้นเกินแสน โดยไม่มีทีท่าว่าจะกลับบ้านได้ เพราะแม้อยู่ในไทย ค่ายพักหลายแห่งก็ยังถูกโจมตีและเผาบ้านเรือนหลายครั้ง  จนเกิดการรวมค่ายเล็ก ๆ ราว 30 แห่งเข้าด้วยกันเหลือเพียง 10 แห่ง 

กาลเวลาผ่านไป สถานการณ์ชายแดนพม่าไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ผู้ลี้ภัยซึ่งเพิ่มขึ้นถึงกว่า 150,000 คนได้สูญเสียความหวังที่จะกลับถิ่นฐานในอนาคตอันใกล้  ตั้งแต่รัฐไทยเริ่มยอมรับกระบวนการไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามในปีพ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน จึงมีผู้ตัดสินใจละทิ้งความหวังสุดท้ายที่จะกลับไปบ้านเกิดและเดินทางไปประเทศที่สามแล้วราวแสน ขณะที่มีคนยังอยู่ค่าย 9 แห่งอีกราวเก้าหมื่น เนื่องจากยังมีผู้ที่อพยพมาใหม่อยู่เป็นระลอก  แม้หลายคนมองว่าการเลือกตั้งพม่าปี 2553 หรือการเลือกตั้งกับข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศปี 2558 จะเป็นสัญญาณว่าผู้ลี้ภัยอาจกลับบ้านได้แล้ว ในความเป็นจริง พื้นที่ชุมชนและที่ทำกินของผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ก็ได้ตกไปเป็นของเจ้าของใหม่ซึ่งอพยพหนีมาจากตอนในประเทศไปแล้ว  ในขณะที่บางแห่งกลายเป็นถิ่นที่มีชาวพม่ามาอาศัยอยู่ หรือไม่ก็เต็มไปด้วยกับระเบิด  นอกจากนี้ ครอบครัว โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่เกิด/เติบโตขึ้นอย่างปลอดภัยในค่ายผู้ลี้ภัย ก็มักไม่ต้องการกลับไปอาศัยอยู่ติดกับฐานทหารพม่า หรือกลับไปสู่สภาพที่ต้องหลบซ่อนอยู่ในป่าแบบในจังหวัดมื่อตรอ

คนทั้งเก้าหมื่นในเก้าค่ายไม่ใช่ผู้ที่รัฐเรียกว่า “ตกค้าง” มาหลายสิบปีทั้งหมด และสำหรับผู้ที่จำต้องอาศัยอยู่ในสถานที่ที่มีรั้วลวดหนามกั้นอยู่เป็น 10-20-30 ปีนั้น หากเรามองเขาด้วยหัวใจของมนุษย์ต่อมนุษย์ ก็คงจะเห็นได้ว่า ไม่มีใครอยากอยู่อย่างพึ่งพา ไร้เสรีภาพ และมีชีวิตแบบ “ชั่วคราว” ในที่ “ชั่วคราว” ไปอย่างถาวร 

21 เมษายน 2564

Related