คือสิทธิหรือการควบคุม
“บัตรประชาชนมีเอาไว้ทำอะไรตอนนี้”
ครูหนุ่มจากอำเภอโน่ตาก่อ (จะเอ็งไซจี) ตอนในของจังหวัดดูปลายา รัฐกะเหรี่ยง กล่าวถึงข่าวที่ปรากฎในสื่อภาษาพม่าที่ว่า ผู้นำ KNU เขตกองพลที่ 6 หรือจังหวัดดูปลายา ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับแม่สอด-พบพระ-อุ้มผางของไทย ประกาศไม่อนุญาตให้รัฐบาลทหารพม่า (SAC) เข้ามาดำเนินการสำรวจทำทะเบียนราษฎรและออกบัตรประชาชนในพื้นที่อีกต่อไป
ในปีพ.ศ. 2555 โครงการสำรวจทำทะเบียนราษฎรซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลนอร์เวย์ จัดพิธีเฉลิมฉลองการออกบัตรประชาชนให้กับผู้พลัดถิ่นชาวกะเหรี่ยง (IDP) ในมณฑลพะโคอย่างครึกโครม หากการดำเนินการต่อมากลับเป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่ได้เป็นเชิงรุกมากนัก
เก้าปีผ่านไปจนถึงวันรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2564 ชาวบ้านชาติพันธุ์จำนวนมากยังไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร และการยื่นเรื่องขอทำบัตรประชาชนที่เกิดขึ้น ก็มักเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการเดินทางเข้าเมืองหรือระหว่างเมือง และอย่างมากก็เพื่อให้ได้เข้าสถาบันการศึกษาของรัฐบาลพม่าเท่านั้น
“คนส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าการมีบัตรคือการได้รับการยอมรับให้ถือสัญชาติ หรือได้เป็นพลเมืองของประเทศ เรายังเรียกมันว่าเป็นแค่บัตรพม่าอยู่เลย เราไม่ได้เรียกว่ามันเป็นบัตรประชาชนที่จะรับรองสิทธิอะไรได้ ” ชายหนุ่มจากพื้นที่ริมเมย จังหวัดพะอันอธิบาย ตัวเขาเองถือ “บัตรพม่า” ไว้เดินทางเช่นกัน “ในเมืองไทย การมีบัตรอาจจะทำให้เรารู้สึกว่าต่อไปนี้ชีวิตเราจะมั่นคงเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ แต่บัตรพม่าไม่ได้มีความหมายอย่างนั้น”
หลังรัฐประหาร โครงการทำทะเบียนราษฎรและบัตรประชาชนขณะที่ยังมีการปราบปรามผู้คนในเมืองและการสู้รบแถบชายแดน จึงถูกมองด้วยสายตาเคลือบแคลงยิ่งไปกว่าเดิม
“ตอนนี้ การเข้ามาทำบัตรประชาชนก็เป็นแค่ยุทธศาสตร์ทางการทหาร” ครูหนุ่มจากโน่ตาก่อกล่าว “มันคือการส่งเจ้าหน้าที่กับทหารเข้ามาเพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับการขู่ว่า คนที่ไม่มีบัตรฯอาจจะถูกจับได้นะ นี่ไม่ใช่เรื่องของสิทธิ นี่คือการควบคุม เราไม่ไว้ใจกับการที่เขาจะมาเก็บข้อมูลส่วนตัวและปั๊มนิ้วมือเรา ในสถานการณ์แบบนี้เขาอาจจะเอาไปใช้ยังไงก็ได้”
“ในเมืองไทย การปั๊มนิ้วมือมีสองแบบ แบบหนึ่งคือเวลาเราไปทำบัตร เมื่อมีบัตรก็ถือว่าเราได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่ไทยระดับหนึ่ง” ชายหนุ่มกล่าว เขาเคยใช้ชีวิตอยู่ในแม่สอดมาหลายปี “ส่วนอีกแบบหนึ่ง คือเวลาที่ตำรวจจับแล้วให้นักโทษปั๊มนิ้วมือ การปั๊มนิ้วมือกับรัฐบาลทหารพม่ามันเหมือนกับอย่างหลังมากกว่าอย่างแรก ลองคิดดูแล้วกัน การเปิดทำบัตรฯให้กับหมู่บ้านหนึ่งในขณะที่เสียงปืนใหญ่ยังดังอยู่ไม่ไกลเท่าไหร่ มันหมายความว่ายังไง”
“ที่โรงเรียนเรายังได้ยินเสียงปืนกับปืนใหญ่อยู่เสมอ” กองทัพพม่าพยายามเข้าถึงพื้นที่ที่เขาอยู่จากหลายทิศทาง “นักเรียนมัธยมปลายของผมหลายคนมาเรียนภาคฤดูร้อนไม่ได้เพราะติดการสู้รบ ผมไม่คิดว่าการมีบัตรพม่าจะช่วยให้เขาได้มาเรียน”
“ฉันมีบัตรประชาชนพม่า มันทำขึ้นมาในยุคของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” หญิงอดีตผู้ลี้ภัยจากค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งบนชายแดนไทยกล่าว ทุกวันนี้เธอกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในแถบอำเภอโน่ตาก่อเช่นเดียวกัน “แต่มันไม่ได้หมายความว่าทุกวันนี้ฉันจะไม่ต้องหนี มองไปบนฟ้าสิ เดี๋ยวโดรนก็มา เดี๋ยวเครื่องบินก็มา ถึงระเบิดจะยังไม่ได้ลงที่นี่ก็ตาม แล้วเราก็ต้องคอยหนี เปลี่ยนที่ไปเรื่อย ๆ ที่ยังไม่ได้หนีมาถึงฝั่งไทยก็เพราะมันไกลเกินไป”
“เขาควรจะต้องมองให้เห็นก่อนว่าเราเป็นพลเมือง เขาจะต้องคิดว่าเราเป็นพลเมืองก่อนที่จะมาทำบัตร” เธอเห็นด้วยกับการยกเลิกการบัตรประชาชนพม่าในจังหวัดดูปลายาภายใต้รัฐบาลทหาร (SAC) “การมีบัตรมีสัญชาติตามกฎหมายจะมีประโยชน์อะไร ถ้าหากว่ากองทัพพม่ายังเห็นเราเป็นแค่เป้าให้เขาทิ้งระเบิดอยู่เหมือนเดิม”
23 เมษายน 2565
ภาพประกอบ : หลุมหลบภัย สิ่งที่มีเป็นปกติของทุกบ้าน โดย ชาวบ้านริมเมย