การสังหารหมู่ที่รัฐกะฉิ่น

การสังหารหมู่ที่รัฐกะฉิ่น

| | Share

การสังหารหมู่ที่รัฐกะฉิ่น

ขณะที่อาเซียนกำลังเตรียมตัวประชุม “ฉุกเฉิน” ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซียในวันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคมที่จะถึง เพื่อทบทวน “ฉันทามติอาเซียน” ซึ่งไม่มีความก้าวหน้าหรือเรียกได้ว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง กองทัพพม่าก็แสดงตนไม่ยี่หระ ด้วยการปิดกั้นเส้นทางการส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และทวีความรุนแรงของปฏิบัติการโจมตี ทั้งการโจมตีทางอากาศและด้วยปืนใหญ่ที่มีเป้าหมายเป็นชุมชน เมือง หรือกระทั่งค่ายพักผู้พลัดถิ่น ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งทางวัตถุและชีวิต อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด กองทัพพม่าก้าวไปถึงขั้นการก่อการร้าย (terrorism) อันเป็นการสังหารหมู่ (massacre) ซึ่งคร่าชีวิตพลเรือน ชาย หญิง เด็ก รวมถึงศิลปินนักร้องนักดนตรี มากกว่า 60 คน และที่ยังบาดเจ็บสาหัสทางร่างกายและจิตใจอีกนับไม่ถ้วน จากการโจมตีทางอากาศในงานคอนเสิร์ทเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 62 ปีองค์การเอกราชแห่งกะฉิ่น (Kachin Independence Organization) ที่อำเภอพากั้น เมื่อเวลา 20.30 น. ของวันที่  23 ตุลาคม 2565 

“มันเป็นสิ่งที่โหดเหี้ยมที่สุดจนผมนึกไม่ออกว่าจะพูดว่าอะไรดี” อดีตผู้นำเยาวชนกะฉิ่นซึ่งใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนมายาวนานกล่าว “เขารบไม่ชนะ เขาจึงต้องทำให้เรากลัว ผมไม่รู้จริง ๆ ว่านานาชาติมองไม่เห็นการกระทำของกองทัพพม่าได้ยังไง” 

“ตลอดปีที่ผ่านมา คนกะฉิ่นต้องทิ้งบ้านทิ้งเมืองมาอีกไม่รู้เท่าไหร่ มีทั้งชาวบ้านที่ต่อต้านรัฐประหารหนีการไล่จับและบางคนก็หนีสงคราม  เวลาเขามาถึงเมืองไทย ทุกคนต้องหางานทำ แล้วพวกเขาก็คือแรงงาน รัฐกะฉิ่นไกลเมืองไทย เสียงปืนเสียงระเบิดดังอยู่ไกลเกินไปจนคนที่นี่ไม่ได้ยิน”

ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ตั้งเป้าหมายเพื่อสร้างสันติภาพ โดยมองประเด็นปัญหาเป็นเรื่องของ “ความขัดแย้ง” ระหว่างกองทัพพม่ากับฝ่ายต่าง ๆ ที่จะต้อง “ยับยั้งชั่งใจ” อย่างเต็มที่เพื่อสร้างสันติ  ทว่า ภาพที่ปรากฏทุกวันนี้คือ   วิกฤตสิทธิมนุษยชน ที่ก่อการโดยกองทัพพม่าอย่างไม่เกรงอกเกรงใจสายตาโลกทั้งใบ  ฉันทามติเดิมของอาเซียนจึงไม่อาจเป็นอื่นใดได้เลย นอกจากจะล้มเหลว

24 ตุลาคม 2565

ภาพประกอบ
1. หนึ่งในนักร้องหญิงชาวกะฉิ่นที่เสียชีวิตในการโจมตีทางอากาศ 23 ต.ค. 2565 (แก้ไขเพิ่มเติม -​ ญาติแจ้งว่า ได้รับการติดต่อจากเธอแล้ว ว่าเธอได้รับบาดเจ็บและกำลังเข้ารับการรักษาตัว)​
2. สถานที่จัดคอนเสิร์ต อำเภอ พากั้น รัฐกะฉิ่น ที่ถูกโจมตี 
3. ค่ายพักผู้พลัดถิ่นกะเรนนีที่ถูกโจมตีเมื่อ 23 ต.ค. 2565

Related