การศึกษารอไม่ได้
บรรยากาศการเปิดเทอมของโรงเรียนไทยปีนี้คึกคักเพราะเด็ก ๆ เรียน ๆ หยุด ๆ จ้องจอออนไลน์มาตลอดปี
โรงเรียนในรัฐกะเรนนีก็ใกล้เปิดเช่นกัน ในปีที่ผ่านมา ช่วงแรกเด็ก ๆ หยุดมากกว่าเรียนเพราะต้องคอยหนีภัยสงคราม แต่เมื่อสภาวะฉุกเฉินของการพลัดถิ่นฐานยืดเยื้อนานเข้า ด้วยสัดส่วนคนกะเรนนีพลัดถิ่นภายในประเทศมากเกินครึ่ง (197115 คน, KCSN, May 2022) ของประชากรทั้งหมดราวสามแสน การศึกษาก็รอไม่ได้
โรงเรียนกะเรนนีวันนี้มีทั้งโรงเรียนเดิมในหมู่บ้านที่ยังปลอดภัย ซึ่งขยายเพิ่มล้นหลามไปด้วยเด็กกับครูที่พลัดถิ่นมาจากแห่งอื่น และโรงเรียนใต้ต้นไม้ เพิงชั่วคราว กับครูเคลื่อนที่ ซึ่งแบกเอาอุปกรณ์การเรียนการสอนติดตัวไปทุกหนแห่ง
สงครามทำให้จำนวนครูกะเรนนีลดหายไปไม่น้อย หลายคนจำเป็นต้องไปจับอาวุธเพื่อป้องกันชุมชนของตนเอง และเรียกได้ว่าครูที่เหลือทั้งหมดคือผู้พลัดถิ่น หรือไม่ก็ได้รับผลกระทบจากการสู้รบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ถึงวันนี้ นิยามของการศึกษาต่างไปจากเดิมมาก โรงเรียนอาจคือที่ไหนก็ได้ อุปกรณ์การเรียนไม่จำเป็นต้องคงทนถาวรเพราะอาจกลายเป็นร่องรอยให้กองทัพพม่าตามเจอ งบประมาณการศึกษาต้องรวมถึงอาหาร เพราะเด็ก ๆ จะเรียนรู้ในขณะท้องหิวไม่ได้ และครูไม่เพียงจะต้องมีศักยภาพในการสอน แต่ต้องได้รับการอบรมการวิชาการทหารกับการป้องกันตัว การปฐมพยาบาล และการช่วยเหลือเด็กหลบภัยในภาวะฉุกเฉินด้วย
“หลักสูตรของเราต้องปรับให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้สิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตในปัจจุบัน อย่างเช่นการรู้จักสัญญาณเตือนและการหนีภัย” นักการศึกษากะเรนนีกล่าว “นอกจากนี้เรายังปรับ โดยฉวยโอกาสที่มีค่าในเวลาที่รัฐบาลพม่าไม่ได้ควบคุมโรงเรียนอีกต่อไปด้วย นี่คือโอกาสที่ดีที่สุดในการจัดการสอนหลักสูตรในภาษาแม่และพหุภาษา (mother tongue based and multilingual) ซึ่งเราเชื่อว่าจะช่วยให้เด็กกะเรนนีมีพัฒนาการได้ดีที่สุด”
ในสถานการณ์พลัดถิ่นฐาน การศึกษามักถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ภายหลังเนื่องจากมองว่าไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน
“ข้าวและน้ำสะอาดเป็นความจำเป็นที่สุด ผู้พลัดถิ่นจะต้องได้รับความช่วยเหลือให้ไม่อดตาย แต่เราจะรอให้สงครามและความขัดแย้งจบลงก่อนแล้วค่อยมาว่าเรื่องการศึกษาไม่ได้ เพราะเราไม่มีวันรู้เลยว่าสงครามนี้จะจบลงเมื่อไหร่”
“และถ้าไม่มีการศึกษา เราก็ไม่มีอนาคต”
28 พฤษภาคม 2565
ภาพประกอบ ห้องเรียนกลางป่าและการศึกษาเคลื่อนที่
โดย Seh Theh Foundation