การรับและดูแลผู้ลี้ภัยไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับประเทศไทย
การรับมือของจังหวัดตากและอำเภอแม่สอด ต่อการอพยพหนีภัยสงคราล่าสุดของผู้คนราว 2,700 คนมาที่อ.แม่สอด จ.ตาก แสดงให้เห็นว่า รัฐไทย โดยกระทรวงมหาดไทยร่วมด้วยหน่วยงานความมั่นคง สามารถรักษาความมั่นคงและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้โดยเปิดประตูมนุษยธรรม บริหารจัดการสถานที่พักพิงที่ปลอดภัยตามแผนเผชิญเหตุ และอำนวยความสะดวกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากประชาชนท้องถิ่นสามารถเข้าถึง
เมื่อการสู้รบสงบได้ 1 วัน ผู้ลี้ภัย 277 คน จึงประสงค์เดินทางกลับด้วยความเป็นห่วงทรัพย์สิน ซึ่งทางการก็ได้จัดการรถนำไปส่งให้ที่ชายแดน ทั้งนี้ แม้ผู้ไม่เกี่ยวข้องจะไม่สามารถเดินดุ่ม ๆ เข้าไปหาผู้ลี้ภัยได้ ก็ไม่ถึงกับปิดกั้นข้อมูลข่าวสารการรับรู้ของสื่อมวลชนและประชาชนโดยเหตุผล “ความมั่นคง” อย่างที่เคยเป็นมา
ทั้งหมดนี้ ให้เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องปฏิเสธการลี้ภัย เร่งผลักดันกลับแม้ผู้คนยังหวาดกลัว ปิดกั้นความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ทำให้การทำหน้าที่ทางมนุษยธรรมของชาวบ้านท้องถิ่นและหน้าที่ของสื่อมวลชนกลายเป็นอาชญากรรม ดังเช่นเหตุการณ์อพยพลี้ภัยเมื่อมีนาคม – พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมาที่อ.แม่สะเรียงและสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
การจัดการดังกล่าวตามแผนเผชิญเหตุน่าจะเหมาะสมกับการอพยพลี้ภัยชั่วคราว ประชาชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมชาวกะเหรี่ยงได้ระดมความช่วยเหลือไปให้ผู้ลี้ภัยมากมายจนต้องปิดรับ โดยที่ไม่จำเป็นต้องหวั่นเกรงการ “สิ้นเปลือง” งบประมาณ และหากเป็นไปตามคาดแล้ว เมื่อการสู้รบยุติลง ชาวบ้านก็จะต้องการกลับคืนถิ่นฐานของตน ไม่มีความจำเป็นใด ๆ จะต้องหวาดกลัว “การอยู่นาน” ซึ่งเชื่อได้ว่า ในกรณีที่การสู้รบยืดเยื้อเกินคาด
ก็น่าจะมีการปรับเปลี่ยนการจัดการใ้ห้เหมาะสม
เพื่อนไร้พรมแดนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หากมีการอพยพลี้ภัยข้ามแม่น้ำสาละวินมาอีกด้วยสงครามฤดูแล้งนี้ ประตูมนุษยธรรมจะเปิด สิทธิการลี้ภัยจะได้รับการคุ้มครอง และผู้ลี้ภัยจะได้รับความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เพราะมันไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับรัฐไทย
19 ธันวาคม 2564
ภาพจาก The Reporters