We are Family

We are Family

| | Share

We are Family

ในการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายอันวาร์ อิบราฮิม ได้กล่าวกับนายกรัฐมนตรีไทยว่า 

“ท่านอยู่ในฐานะที่ดีกว่าที่จะแสดงความห่วงใยของพวกเราออกไปว่า (แม้) ปัญหาภายในพม่าจะต้องได้รับการแก้ไขภายใน ทว่ามันก็มีความเกี่ยวข้องหรือผลกระทบกับภูมิภาคด้วยเช่นกัน”

ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทยไม่ได้ตอบประเด็นดังกล่าว มีแต่พูดขึ้นภายหลังว่า “We are family. Thank you, my friend” (Bangkok Post, 10/02/23)

ในปาฐกถาพิเศษ The Future of ASEAN เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้กล่าวว่า เมื่ออาเซียนไม่ต้องการให้ใครอื่นมาสั่งสอนให้ทำนั่นทำนี่ อาเซียนก็จะต้องทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาด้วยตนเอง 

ดังนั้น จึงควรมีฉันทามติอันแรงกล้าที่จะส่งสารอันแข็งกร้าว (ต่อพม่า) ได้แล้วว่า “ท่านมีสิทธิทุกประการที่จะดำเนินนโยบาย (หรือจัดลำดับความสำคัญอะไรต่าง ๆ) เป็นการภายในของท่าน แต่ไม่ควรจะหลงเหลือประเทศไหนในยุคสมัยนี้ ที่จะดำเนินนโยบายเลือกปฏิบัติ ผลักประชาชนของตนให้ไปอยู่ชายขอบ ข่มขู่คุกคามหรือแย่ยิ่งกว่านั้นคือ กระทำการรุนแรงแก่ประชาชนของตนเอง อีกต่อไป”

ขณะที่นายอันวาร์กำลังเยือนประเทศไทย เครื่องบินของกองทัพพม่าก็บินวนมาทิ้งระเบิดอยู่ในแถบชายแดนไทย อย่างที่กระทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ยามบ่าย โบสถ์คริสต์กับบ้านเรือนของหมู่บ้านทีกะเปอ ตรงข้ามต.หนองหลวง อ.อุ้มผาง จ.ตาก เหลือเพียงเศษซาก  ตกกลางคืน เครื่องบินก็วนมาอีกรอบเพื่อที่จะทิ้งระเบิดลงใกล้กับบ้านปะนวยโพโกล ซึ่งมีผู้พลัดถิ่นจากพื้นที่อื่นมาอาศัยอยู่ร่วมด้วยจำนวนมาก 

โชคดีที่ระเบิดตกลงบนพื้นสนาม จึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บเพียง 1 คน ชาวบ้านหนีตายกันทุกทิศทาง รวมทั้งเส้นทางมายังต.โมโกร อ.อุ้มผาง ประเทศไทย 

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ชุมชนท้องถิ่นตามแนวชายแดนอ.พบพระและอุ้มผาง ได้พยายามช่วยเหลือ และปฏิบัติกับผู้ลี้ภัยจากดูปลายา รัฐกะเหรี่ยง ด้วยแนวคิดดังเช่นที่นายกรัฐมนตรีไทยกล่าว 

นั่นคือ “เราคือครอบครัวเดียวกัน” 

ถ้าหากรัฐไทยไม่ยอมคิดเป็นอื่น มุ่งแต่จะยึดหลักการ “เป็นครอบครัวเดียวกันกับกองทัพ” ที่ “ดำเนินนโยบายเลือกปฏิบัติ ผลักประชาชนของตนให้ไปอยู่ชายขอบ ข่มขู่คุกคามกระทำการรุนแรงแก่ประชาชนของตนเอง” ที่ไม่ควรจะหลงเหลือแล้วยุคสมัยนี้ต่อไป อีกทั้งยังมองประชาชนไทยออกปากเสนอแนะว่าควรจะทำอย่างไรเป็นศัตรูอยู่เสมอ ก็คงจะหลีกเลี่ยงยากที่จะต้องก้มหน้ารับฟังคำแนะนำของผู้นำรัฐอื่นประเทศอื่นอยู่เช่นนี้เอง

11 ก.พ. 2566
ภาพประกอบ “ต่างฟ้าเดียวกัน” โดย สุรศักดิ์ จงสมจิตต์ รางวัลบินข้ามลวดหนามจากการประกวดภาพวาด “เพื่อนไร้พรมแดน” 2564

Related