Liz Hope และ Unboxed นิทรรศการที่ชวนศิลปินมาเปิดกล่องความคิดสร้างสรรค์เพื่อ-เพื่อนไร้พรมแดน

Liz Hope และ Unboxed นิทรรศการที่ชวนศิลปินมาเปิดกล่องความคิดสร้างสรรค์เพื่อ-เพื่อนไร้พรมแดน

| | Share

ลิซ โฮป (Liz Hope) คือ ศิลปินจากอังกฤษที่แวะมาเยี่ยมเยียนเชียงใหม่ เพื่อจัดนิทรรศการสำหรับระดมทุนให้เพื่อนไร้พรมแดนในชื่อ Unboxed ซึ่งเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา เธอบอกว่า จุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้มาจากการเปิดกล่องในห้องใต้หลังคาที่บ้านแล้วเจองานเก่าๆ ของเธอ

ส่วนเราก็จะบอกว่า จุดเริ่มต้นในมิตรภาพของเรากับลิซคือ การที่เธอมาเป็นอาสาสมัครให้กับโครงการ SchoolPower โดยเธอทำเวิร์กช็อปให้กับครูในพื้นที่สำหรับสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้เรากับลิซได้ไปมาหาสู่กันบ่อยๆ

ลิซมีความตั้งใจที่จะกลับมาเชียงใหม่ปีละครั้งด้วยเหตุผลส่วนตัว แต่การเดินทางมาเยือนเชียงใหม่ครั้งนี้เปลี่ยนไปเพราะแรงบันดาลใจจากกล่องในห้องใต้หลังคา ที่ทำให้เธอเลือกชวนศิลปินในเชียงใหม่ทั้งไทย เทศ หรือเพื่อนพ้องที่เธอรู้จักร่วมกันหยิบงานศิลปะอะไรก็ตามที่ “อยู่ในกล่อง” ที่อาจหมายถึง ไม่เคยนำมาจัดแสดงมาก่อน หรือไม่เคยรู้ว่ามีอยู่มาจัดแสดงเพื่อสร้างความหมายให้กับสิ่งที่อยู่ในกล่องของศิลปินแต่ละคน

นิทรรศการครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนเป็น “กาดหมั้วครัวฮอม” เพราะมันคือการรวบรวมผลงานที่ผ่านการ “เปิดกล่อง” ออกมาแล้วจากศิลปินกว่า 40 ชิ้นงาน มีทั้งศิลปินในท้องถิ่น เพื่อนพ้องของลิซ และผลงานของเพื่อนไร้พรมแดนที่มาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ และยังมีเวิร์กช็อปที่ลิซและเพื่อนชวนเรามาสร้างงานประดิษฐ์เล็กๆ น้อยๆ จากวัสดุเหลือใช้ใกล้ตัว 

ลิซเปิดกล่องเบื้องหลังของนิทรรศการครั้งนี้ให้เราฟัง ตั้งแต่ครั้งทำงานเป็นอาสาสมัครให้เพื่อนไร้พรมแดน การหลงรักศิลปะในเมืองที่เธอชื่นชอบถึงขั้นมาพักผ่อนปีละครั้ง และศิลปะที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับชีวิตของเธอ รวมถึงรีวิวผลงานที่จัดแสดงในทิทรรศการครั้งนี้

กล่องใบที่ 1
กล่องเก็บผลงานของกระบวนกร

ลิซเป็นชาวอังกฤษที่เคยทำงานร่วมกับกับครูในบอเนียว ประเทศมาเลเซียมาก่อน ก่อนที่เธอจะย้ายมาเมืองไทย แรกเริ่มเธอต้องทำงานที่กรุงเทพร่วมกับบริติช เคาน์ซิล เมื่อโปรเจคต์นั้นจบลง เธอยังถูกชักชวนให้ทำงานในโปรเจคต์ใหม่ แต่ลิซมีเงื่อนไขว่า เธอต้องได้ทำงานที่เชียงใหม่เท่านั้น

สุดท้ายเธอก็ได้ทำงานที่เชียงใหม่จริงๆ ด้วยการอบรมครูเพื่อเพิ่มเครื่องมือและทักษะสำหรับสอนภาษาอังกฤษ

“ฉันมาที่นี่เพื่อจัดเวิร์กช็อปกับคุณครูประถมกว่า 500 คน ซึ่งทำให้ฉันรู้จักคนไทยเป็นหลักร้อยคน ทำให้ฉันได้รู้จักชุมชนคุณครูของคนไทย เราทำงานร่วมกันอย่างสนิทสนม โดยการเอากระบวนการจากที่เคยทำมาทำที่นี่ ซึ่งทำให้คุณครูเป็นผู้มีการสอนมืออาชีพ ฉันเข้าใจปัญหาของครูที่สอน และทำให้เราได้เรียนรู้ร่วมกัน และฉันคิดว่าการทำงานอย่างเปิดใจ เปิดความคิดให้กับคนอื่นๆ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ครูคนไทยมีความกล้าหาญ มั่นใจ และอยากสร้างสรรค์หลักสูตรในการสอนภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น” ลิซเล่า

ลิซสนุกกับการจัดกระบวนการเพื่อติดอาวุธให้กับครูไทยโดยมีเชียงใหม่เป็นฉากหลัง เธอพบว่าเธอผูกพันกับเมืองนี้มากกว่าที่คิด และอยากลงหลักปักฐานอยู่ที่นี่ เธอทำงานอยู่ที่เชียงใหม่อยู่ 5 ปี โดยสองปีแรกเป็นการทำกิจกรรม ส่วนสามปีหลังคือการทำงานกับโรงเรียน

เวลาว่างหลังการสอน ประกอบกับว่าเธอเป็นศิลปินที่ยังทำงานศิลปะอยู่เนืองๆ เธอมี “ของ” ซึ่งนับรวมทั้งผลงานที่เธอทำเมื่อมีเวลาว่าง และของอีกหลายๆ อย่างที่ถูกบรรจุเอาไว้อยู่ในกล่อง ด้วยความหวังที่เธอจะได้กลับมาอยู่ที่ไทยอีกครั้ง

ลิซจึงทิ้งกล่องเหล่านั้นเอาไว้ และหวังว่าสักวันเธอจะได้กลับมาเปิดมัน

กล่องใบที่ 2
กล่องชอล์กในโครงการ SchoolPower

ช่วงเวลาที่ลิซจัดกระบวนการให้ครูประถม เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ลิซได้รู้จักกับเพื่อนไร้พรมแดนจากการแนะนำของเพื่อนชาวต่างชาติที่ทำงานด้วยกัน ด้วยความสนิทสนมคุ้นเคยและความสนใจที่คล้ายคลึงกัน ทำให้ลิซได้ร่วมงานกับเพื่อนไร้พรมแดนในโครงการ SchoolPower ที่เธอเข้ามามีส่วนร่วมในการเวิร์กช็อปครูในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ตรงอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก 

เธอได้นำกระบวนการพัฒนาศักยภาพครูจากครั้งที่เธอเคยทำในประเทศมาเลเซีย มาใช้ในพื้นที่เพื่อการสอนภาษาอังกฤษที่มีประสิทธิภาพ มาให้คุณครูปรับใช้ในการเรียนการสอน

“แต่ฉันพูดตามตรง ฉันว่าการเวิร์กช็อปในครั้งนั้น ฉันทำได้แย่มากจริงๆ นะ” ลิซชิงตอบเรา

ลิซเข้ามาทำกระบวนการนี้ในช่วงปี 2019 มันเป็นกิจกรรม 3 วัน 2 คืนที่เธอใช้ความรู้ในการสอน รวมถึงการปรับทัศนคติและทำความเข้าใจกับครูในพื้นที่ โดยมีคุณครูเข้าร่วมกิจกรรมนี้ถึง 18 คน

“ฉันท้าทายให้คุณครูเหล่านั้นกล้าที่จะเสี่ยง ลองทำสิ่งใหม่ ซึ่งพวกเขามีความคิดสร้างสรรค์รวมถึงมีพลังเชิงบวก ฉันรู้สึกสบายใจ และสนุกที่จะได้ทำงานกับพวกเขา น่าเสียดายนิดหน่อยที่ฉันไม่ได้สื่อสารภาษาเดียวกับพวกเขา แต่การสื่อสารที่ฉันได้ทำคือ การคุยกับครู  และการสอนงานด้านความคิดสร้างสรรค์”

ลิซเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการ SchoolPower แข็งแรงและสามารถพัฒนาศักยภาพของครูในพื้นที่ได้จริงๆ เพราะองค์ความรู้ที่เธอมีนี่แหละที่ช่วยพัฒนาคุณครูในพื้นที่ให้สามารถสอนนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กล่องใบที่ 3
กล่องเก็บงานศิลปะ

“ฉันต้องการเอาขาหนึ่งข้างไว้ที่เอเชีย และขาอีกหนึ่งข้างที่ยุโรป เพราะหัวใจส่วนหนึ่งของฉันอยู่ที่นี่” นั่นคือสิ่งที่ลิซบอกเรา

ในช่วงเวลาที่ลิซทำงานกับเพื่อนไร้พรมแดน และทำงานส่วนตัว เธอได้ใช้เวลาร่วมกับ “ชุมชน” ที่เธอได้พบเจอในเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนของคุณครูที่เธอได้ทำการเวิร์กช็อป หรือชุมชนศิลปินท้องถิ่น ผู้คนเหล่านั้นเป็นมิตรภาพที่งดงามเกินกว่าที่ลิซจะปล่อยให้มันจางหายไป และมันเปิดโลกใหม่ๆ ให้เธอได้รับแรงบันดาลใจจากคนเหล่านั้น แต่ด้วยเป้าหมายที่เปลี่ยนไป และตัวลิซต้องการขยับขยายตามเส้นทางชีวิตที่เปลี่ยนแปลง เธอก็ตัดสินใจกลับอังกฤษ 

แต่เธอยังตั้งปณิธานไว้ว่า เธอจะกลับมาเชียงใหม่ปีละครั้ง ครั้งละหนึ่งเดือน เพื่อทำอะไรสนุกๆ ในเมืองที่เป็นหัวใจของเธอ ซึ่งย้อนกลับไปในช่วงเวลาหนึ่งที่เธออาศัยในประเทศไทย ลิซยังมี​ “กล่อง” ที่เก็บรวบรวมผลงานศิลปะของเธอเอาไว้ตั้งแต่ครั้งที่เธอทำงานที่เชียงใหม่ ซึ่งเธอเก็บมันกลับบ้านไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อเธอกลับบ้าน นอกจากกล่องที่เธอหยิบมาด้วย ยังมีกล่องอีกมากมายที่แม่ของเธอเก็บรักษาเอาไว้ในห้องใต้หลังคา 

ซึ่งเมื่อเธอพูดถึงเรื่องนี้ให้เราฟัง น้ำตาของเธอก็ค่อยๆ ไหลออกมา

“ฉันรู้สึกโชคดีมากๆ ที่ได้รู้ว่าของในกล่องที่ห้องใต้หลังคาทั้งหมดยังอยู่เก็บเอาไว้อย่างดีมาตลอดหลายปี ฉันทำหลายอย่างจนมีกล่องหลายใบตั้งแต่ฉันอายุ 37 โดยฉันจำไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่ามันมีอะไรบ้าง” ลิซเล่าพลางปาดน้ำตา

เมื่อการพบเจอกล่องผลงาน รวมกับไอเดียที่อยากมาจัดงานที่เชียงใหม่ ลิซจึงติดต่อหาเพื่อนศิลปิน หาที่จัดแสดงผลงาน และติดต่อมาที่เพื่อนไร้พรมแดนเพื่อจัดนิทรรศการเล็กๆ โดยใจความสำคัญของมันคือ การปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์จากผลงานที่มีอยู่ ให้มีตำแหน่งแห่งที่ได้แสดงมันออกมา

ทุกอย่างเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ลิซได้รับการตอบรับจากศิลปินทั้งหมด 18 คน ทั้งการนำผลงานมาจัดแสดง และการออกแบบกิจกรรมภายในนิทรรศการ โดยเฉพาะเวิร์กช็อปงานคราฟต์ที่ลิซบอกเราว่า ผู้ร่วมกิจกรรมสนุกกับงานมากๆ

ซึ่งทั้งหมดจัดไปเมื่อ 16-18 มกราคมที่ผ่านมา ณ Some Space Gallery

กล่องใบที่ 4
กล่องของศิลปิน

โจทย์ของ Unboxed ที่ลิซให้ศิลปินทุกคนคือ อย่าปั้นงานขึ้นมาใหม่ ให้ใช้งานที่มีอยู่แล้ว

มันจึงเป็นความท้าทาย และความสนุกที่ศิลปินแต่ละคนหอบงานขึ้นมาวาง มาจัดแสดง ซึ่งมีทุกรูปแบบจริงๆ ตั้งแต่ภาพวาด ภาพถ่าย งานปั้น หรืองานที่เราก็ไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไร แต่นี่คือผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการ Unboxed ซึ่งทุกชิ้นงานต่างมีแนวคิดที่น่าสนใจ และนำเสนอตัวตนของศิลปินได้เป็นอย่างดี ซึ่งเราต้องขอขอบคุณศิลปินเหล่านี้ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Unboxed 

Kenneth B. Deckhard
Oo Reh
Purim Suvee
Lon Luna (studio)
Boat Sutasinee Kansomdee
Suzanna Crawford
Somchai Pinitsub
Katerine Kestemont
JoAn Sarmogenes
Catherine Head
Surasak Jongsomjit
Nuttawut Chumphomrach
Arnon Sattasri
Chamaiporn Tunyachroen
Tom Fleming
June Unland
Tracey Challis (Coppermouse)
Lai Chee

กล่องใบที่ 5
กล่องนี้เพื่อเพื่อนไร้พรมแดน

ท้ายที่สุด นิทรรศการ Unboxed ปิดกล่องไปได้อย่างงสวยงามด้วยการสนับสนุนจากเพื่อนฝูงของลิซ เพื่อนไร้พรมแดน และผู้สนใจที่แวะเวียนมาชมนิทรรศการอย่างไม่ขาดสายตลอด 3 วันที่ผ่านมา โดยลิซสามารถระดมทุนเพื่อมอบให้กับการจัดกิจกรรมของเพื่อนไร้พรมแดนไปได้ถึง 11,770 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ เพื่อนไร้พรมแดนจะส่งต่อเพื่อสนับสนุนกิจกรรมนอกห้องเรียนในช่วงฤดูร้อนของเหล่าคุณครูที่ลิซเคยนำกระบวนการ

นอกจากแรงบันดาลใจที่อยากให้ใครก็ตามปลดปล่อยตัวเองจากศิลปะแล้ว สาระสำคัญที่ลิซอยากให้นิทรรศการครั้งนี้เป็นการระดมทุนเพื่อเพื่อนไร้พรมแดน มาจากการที่เธอเคยร่วมงานกับเราในฐานะกระบวนกรเพื่อพัฒนาครูในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า จนเธอได้เห็นฉากทัศน์ของสิ่งที่ครูกลุ่มประสบอยู่ ซึ่งมันคือเรื่องจริงที่มีผลกับความรู้สึกของเธอ 

และมันทำให้เธออยากทำอะไรสักอย่างเพื่อครูกลุ่มนี้

“ในวันที่ฉันเจอกล่องเหล่านั้นอีกครั้ง มันค่อนข้างกระทบจิตใจฉันมากที่ได้กลับมาคิดว่า ในขณะที่ฉันสามารถเก็บของๆ ตัวเอง โยกย้ายตัวเองไปไหนมาไหน หรือกลับไปยังภูมิลำเนา หรือเดินทางไปที่ไหนก็ตาม มันทำให้ฉันนึกถึงคุณครูเหล่านั้นที่พวกเขาต้องประสบกับอุปสรรคต่างๆ ฉันจึงรู้สึกเข้าใจพวกเขามากๆ เพราะมันยากจริงๆ หากฉันไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ทั้งการเป็นศิลปิน การมีที่พำนักอาศัย และการได้เดินทางอย่างอิสระ แต่พวกเขากลับทำสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เลย” ลิซสรุป

Related