“ในหมู่บ้านของเรามีฐานของทหารพม่าอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน รอบๆ ฐานมีการฝังระเบิดไว้รอบๆ ชาวบ้านออกไปใช้ชีวิต หาของป่าตามปกติ แต่โชคไม่ดีมีชาวบ้านคนหนึ่ง เดินไปเหยียบกับระเบิดที่ทหารพม่าวางไว้จนเสียชีวิต จากวันนั้นถึงตอนนี้ไม่มีใครกล้าไปแถวนั้นเพราะกลัวเหยีบกับระเบิด ไม่รู้มีเยอะเท่าไหร่” ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านหนึ่งในเขตตร้าแก้ รัฐกะเหรี่ยงเล่าเหตุการณ์นี้ให้ทีมผู้ประสานงานพื้นที่ของ SchoolPower ฟัง
เนื่องจากเขตกองพลที่ 7 เป็นเขตเดียวในรัฐกะเหรี่ยงที่พอจะพูดได้ว่า สงครามยังมาไม่ถึง
อ้างอิงถึงแผนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของ Karen Human Rights Group จะเห็นได้ว่าพื้นที่นี้แทบจะไม่มีการสู้รบกันเกิดขึ้นเลยจนถึงปัจจุบัน
พื้นที่เขตกองพลที่ 7 วิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ยังคงเป็นปกติ ผู้คนยังทำไร่ ทำนา หาของป่า ใช้ชีวิตตามวิถีเดิม ช่วงนี้เป็นหน้าฝน ชาวบ้านเข้าป่าหาผัก หาเห็ด ส่วนเด็กๆ และวัยรุ่นต่างพากันไปหาปลา หากบที่แม่น้ำ
“ผู้ใหญ่บ้านก็ประชุมเตรียมความพร้อมอยู่นะ ให้เตรียมทำหลุมหลบภัย บางบ้านก็ทำ บางบ้านก็ไม่ได้ทำ มีบ้านหลังหนึ่งอยู่ใกล้ๆ หอประชุมนี่แหละ พรุ่งนี้เช้าลองไปดูนะ” ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าให้ฟังหลังดูหนังกับเราเสร็จ
เช้าวันรุ่งขึ้น ชี-ลูกชายเจ้าของบ้านที่เราพักด้วยรีบปลุกพวกเราไปดูหลุมหลบภัยของชาวบ้านที่ทำไว้ หลุมแรกทำไว้สักระยะหนึ่งแล้ว คานด้านบนหลุมซึ่งทำด้วยไม้เริ่มผุพัง ทางเข้าหลุมเริ่มปิด หลุมที่สองยังคงใช้ได้อยู่ ชีรีบกระโดดเข้าไปในหลุมโชว์ให้พวกเราดูว่ามันยังใช้ได้จริงๆ
ชาวบ้านบางคนเล่าให้เราฟังว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์การสู้รบขึ้นจริงๆ เราคงต้องหนีไปตามที่ต่างๆ ใกล้ไหนก็ไปนั่น ไม่ว่าจะเป็นในป่า ในถ้ำ หรือถ้ามันหนักจนจำเป็นที่จะต้องขอข้ามมาประเทศไทยพวกเราก็คงต้องทำ
ก่อนฉายหนัง
ห้าโมงเย็นพวกเรากลับถึงบ้านที่เราพัก ฝนที่ตกหนักทั้งวันสภาพของพวกเราก็ดูไม่จึดกันสักเท่าไหร่ ที่บ้านอาหารถูกเตรียมไว้รอพวกเราแล้ว พวกเราทีมฉายหนังเฉพาะกิจ พูดคุยกันระหว่างกินข้าวเย็นว่านอกจากฉายหนังแล้วน่าจะเป็นโอกาสดีที่เราจะได้แนะนำวีธีรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์โจมตีในพื้นที่โดยอ้างอิงจากเอกสารของ KNU ที่ครูพึ่งได้รับแจกมาหลังจากการประชุมครูเมื่อเดือนที่ผ่านมา
หลังทานข้าวเย็นเสร็จ พวกเราเช็คความพร้อมของอุปกรณ์ฉายหนังว่าพร้อมแล้ว โปรเจคเตอร์ตัวจิ๋วที่ได้รับบริจาคมาฉายหนังได้ทีนานเป็นชั่วโมงเหมาะกับพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าแบบนี้ ฉันหยิบลำโพงบลูทูธตัวจิ๋ว แต่เสียงไม่จิ๋วไปด้วย แต่พอครูเห็นบอกว่ามันสู้เสียงฝนไม่ได้แน่เดี่ยวไปเอาของโรงเรียนมาให้ยืมใช้ก่อน คอมพิวเตอร์แบตเตอร์รี่ร้อยเปอร์เซนต์ ทุกอย่างพร้อม
ขณะที่พวกเราตระเตรียมข้าวของสำหรับฉายหนังกันอยู่ คายแมนครูผู้ประสานงานพื้นที่รีบอ่านทำความเข้าใจเนื้อหาในคู่มืออีกครั้ง ไม่นานเขาก็บอกกับฉันว่าเขาจำได้หมดแล้ว ฉันรีบถ่ายรูปในคู่มือเล่มนั้นทำเป็นไฟล์ภาพเพื่อจะใช้ฉายขึ้นจอตอนเขาสอนชาวบ้าน
หนังเริ่มเดินทาง
หกโมงเย็นฟ้าเริ่มมึด มอเตอร์ไซต์สองคันถูกเตรียมไว้ ตอนนี้ฝนหยุดตกแล้วและหมู่บ้านที่เราจะไปฉายหนังเป็นหมู่บ้านถัดไปไม่ไกลกันมากนัก พวกเราทีมฉายหนังสี่คนขึ้นมอเตอร์ไซต์ขับออกไปยังหมู่บ้านต้ากะป่อ ที่ศาลาหลังใหม่ของหมู่บ้าน ชาวบ้านนั่งรอพวกเราอยู่แล้ว พอพวกเราถึงเครื่องปั่นไฟก็เริ่มทำงาน ไฟในศาลาสว่างขึ้น พวกเราเริ่มเซทอุปกรณ์ หลังจากแนะนำตัว แนะนำกิจกรรมเสร็จ เราไม่รอช้าเริ่มฉายหนังเรื่องแรก “Where the Power Lies” คลิบวีดีโอของ SchoolPower จากนั้นเราฉายต่อกับหนังเรื่องหลักที่เราอยากเอามาฉายให้ชาวบ้านได้ดู “The Nightmare and a Dream” หนังสั้นจากโครงการเกี่ยวก้อยปี 11 ผลงานของกลุ่มน้องๆ ปกาเกอะญอ IDPและพม่าที่ร่วมกันทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา
หนังเล่าเรื่องของซอแอ้ และเพื่อนสนิทสองคนของเขาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ใกล้ชายแดนไทย ที่นั่น การเตือนภัยการโจมตีทางอากาศเป็นเรื่องปกติธรรมดา
หลังฉายหนังเสร็จ คายแมนคั่นรายการด้วยการแนะนำวีธีรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์โจมตีในพื้นที่ เขาเริ่มแนะนำตั้งแต่รอฟังประกาศจากผู้ใหญ่บ้านเพื่อเตรียมอพยพ ไปจนถึงข้าวของเบื้องต้นที่สำคัญที่ต้องเตรียม หรือถ้าเกิดเครื่องบินทิ้งระเบิดจะต้องหมอบเพื่อหลบอย่างไร
หลังจบคำแนะนำ เราเริ่มฉายหนังเรื่องที่สองต่อ Daily Journal from the Border Journey บันทึกฉบับสั้นของเด็กชายโปโป วัย 9 ขวบ ที่ติดตามพ่อและแม่ไปยังชุมชนคนพลัดถิ่นลี้ภัยตามชายแดนไทย-พม่า
“เป็นหนังที่ควรนำมาเป็นตัวอย่าง ที่พวกเราต้องเรียนรู้และทำตาม พวกเราอยู่กันอย่างสบายใจ ถ้าเกิดการสู้รบกันขึ้นมา คนรุ่นพวกเรามันมีประสบการณ์ในการหนีอยู่แล้ว แต่เด็กๆ รุ่นใหม่เขาไม่มี” คุณป้าคนหนึ่งพูดกับทีมฉายหนังของเราหลังหนังจบ
หนังร่วมเดินทาง
เราเดินทางเพื่อจัดฉายภาพยนตร์สั้น The Nightmare and a Dream และ Daily Journal from the Border Journey ให้กับ 4 ชุมชนในเขตพื้นที่ตร้าแก้ โดยทีมฉายหนังจากโครงการ SchoolPower
Daily Journal from the Border Journey
Director ธงชัย คัตประสิทธิ์, SawPoShee
Synopsis บันทึกฉบับสั้นของ เด็กชายเปโป วัย 9 ขวบ ที่ติดตามพ่อและแม่ไปยังชุมชนคนพลัดถิ่นลี้ภัยตามชายแดนไทย-พม่า
The Nightmare and a Dream
Director ยอดชาย ครองพื้นพิมาน
Synopsis ซอแอ้ และเพื่อนสนิทสองคนของเขาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ใกล้ชายแดนไทยที่นั่น การเตือนภัยการโจมตีทางอากาศเป็นเรื่องปกติธรรมดา
รางวัล รองชนะเลิศสายรัตน์ประจำปี 2566 จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 2
เข้าชิง รางวัลภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยมชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 32 ประจำปี 2566 สาขาภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม ระดับบุคคลทั่วไป