“เหงื่อ” เพื่อนไร้พรมแดนฉบับ ที่ 40 นำเสนอเรื่องราวของสิทธิแรงงานข้ามชาติในแง่มุมต่าง ๆ คำว่าแรงงานข้ามชาติในที่นี้ เอ่ยถึงข้อเท็จจริง ณ ปัจจุบันโดยเกี่ยวกับสาเหตุการเดินทางข้ามชาติ ซึ่งอาจเป็นการลี้ภัยจากการประหัตประหาร นอกจากนี้ คำว่า “แรงงานข้ามชาติ” ยังมีความซับซ้อนอยู่อีกประการหนึ่ง คือมีคนจำนวนไม่น้อยที่มีสถานะทางกฎหมายไม่ใช่คนไทยหรือบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย จึงพลอยถูกเรียกว่า “แรงงานข้ามชาติ” แม้ในข้อเท็จจริงเขาเหล่านั้นไม่ได้ “ข้ามชาติ” มาจากที่ใดเลย หากมีประเทศไทยเป็นบ้านกระทั่งแต่รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย
ไม่ว่าจะอย่างไร ความเป็นคน “ข้ามชาติ” หรือถูกมองว่า “ข้ามชาติ” นั้น อาจทำให้เจ้าตัวรู้สึกไร้อำนาจได้ง่าย ๆ อย่างน้อย ๆ ก็คือ ไร้อำนาจแห่งความเป็นพลเมืองและอาจเกินเลยไปถึงการไม่กล้าคิดถึงอำนาจแห่งแรงงานของตน ในขณะที่นายจ้างจำนวนหนึ่งก็เล็งเห็นถึงความไร้อำนาจนี้ และทวีอำนาจตนจนไกลกว่าคำว่าสมดุลอย่างสุดขั้ว ยิ่งไปกว่านั้น ความที่คนข้ามชาติถูกตัดสินว่า “พูดไม่รู้เรื่อง” ได้สร้างด่านแรกของ “ความต่ำต้อย” ทั้งที่เขาเหล่านั้นย่อมพูดเรื่องในภาษาตน ทัศนคติที่มองคนต่างสัญชาติ เชื้อชาติ และภาษาอย่างหวาดระแวงหรือต่ำต้อย เป็นกำแพงสำคัญของการเข้าถึงสิทธิทั้งทางนโยบายและการปฏิบัติของคนข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย