‘SchoolPower’ โครงการที่อยากให้โรงเรียนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง  ตอนที่ 1 

‘SchoolPower’ โครงการที่อยากให้โรงเรียนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง  ตอนที่ 1 

| | Share

‘SchoolPower’ เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้แผนงานสร้างศักยภาพชุมชนท้องถิ่นของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Philanthropy Connections Foundation (PCF) มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 โครงการตั้งขึ้นเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันกับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ติดชายแดนไทย ซึ่งในอดีตเมื่อได้รับผลกระทบจากสงครามในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงโรงเรียนจะถูกปิด เด็กๆ จากโรงเรียนเหล่านั้นก็จะข้ามฝั่งมาไทยเพื่อทำงานและเรียนหนังสือ ช่วงไหนที่เหตุการณ์สงบก็ย้ายกลับไป ‘SchoolPower’ มีแนวคิดที่ว่าหากสามารถทำให้โรงเรียนเหล่านั้นเข้มแข็งได้ ชุมชนก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย ผ่านการสร้างขีดความสามารถของครูและโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูและชุมชน เพื่อส่งเสริมความรู้สึกเป็นเจ้าของ การพัฒนาที่ยั่งยืน และความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและสมาชิกในชุมชน

อบรมสิทธิมนุษยชนหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการเรียนรู้นอกห้องเรียนโรงเรียนของโรงเรียนเกล้โพโกล

SchoolPower ระยะเริ่มต้นในปี 2560 ทำงานร่วมกับ 8 โรงเรียน ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 11 โรงเรียน โดยโครงการมุ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพด้านความรู้ของครูที่สามารถตอบสนองต่อการจัดการศึกษาและการทำงานร่วมกับชุมชน ด้านการทำกิจกรรมกับเด็กทั้งในและนอกระบบการศึกษาผ่านกิจกรรมที่ครูต้องนำความรู้ที่ได้จากการอบรมมาออกแบบ เขียนโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์และส่งต่อความรู้ให้กับชุมชนนอกจากนี้โครงการยังได้สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาตั้งแต่ อุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอน อุปกรณ์เครื่องเขียน วัสดุอุปกรณ์จำเป็นสำหรับโรงเรียน หนังสืออ่านนอกเวลา เป็นต้น รวมถึงส่งเสริมให้ครูได้ทำงานร่วมมือกับกรรมการโรงเรียนและชุมชน ผ่านกิจกรรมพึ่งตนเอง/กิจกรรมส่งเสริมรายได้โรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะตอนนี้โรงเรียนอยู่ได้ด้วยการบริจาคจากองค์กรการกุศล ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนครูหรืออุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็ก

เราเชื่อมั่นในการศึกษา เด็ก และโรงเรียน คำว่า school power มันทำให้เกิด powerful school และกลายเป็น powerful community ถ้าโรงเรียนของเขาเข้มแข็งเขาก็จะสามารถอยู่ที่ชุมชนซึ่งเป็นบ้านของเขาได้ เราไม่ได้ทำงานด้วยความคิดที่ว่าจะช่วยเหลือเฉพาะคนไทยด้วยกัน หรือไม่ช่วยเหลือเพียงแค่ว่าโรงเรียนเหล่านั้นไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศไทย

เด็กนักเรียนและคุณครูหน้าหอพักของโรงเรียนแม่หละอาคี

กิจกรรมที่จะผลักดันให้โรงเรียนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเองคือ การส่งเสริมศักยภาพครูในแง่ของการบริหารจัดการกิจกรรมพึ่งตนเอง โครงการมีเงินทุนสนับสนุนเริ่มต้นอยู่จำนวนหนึ่งให้กับโรงเรียนที่มีความพร้อม โดยที่กิจกรรมนี้ครูจะต้องทำงานร่วมกับกรรมการโรงเรียน หลังจากที่แต่ละโรงเรียนได้ปรึกษากับทุกฝ่ายและได้ข้อสรุปแล้วว่าจะทำกิจกรรมอะไร คุณครูผู้รับผิดชอบจะต้องเขียนโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากโครงการ (การเขียนโครงการเป็นหนึ่งในหัวข้อพัฒนาทักษะด้านการเขียนโครงการให้กับครู นอกจากจะเขียนขอรับการสนับสนุนจากโครงการแล้ว ครูยังสามารถเขียนขอรับการสนับสนุนจากแหล่งอื่นได้ด้วย) 

ที่ผ่านมากิจกรรมส่งเสริมรายได้โรงเรียนที่แต่ละโรงเรียนได้เขียนโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับความต้องการและความพร้อมของแต่ละโรงเรียน เช่น

  • โครงการร้านค้าโรงเรียน/ชุมชน เป็นโครงการที่มี การขอรับการสนับสนุนมากที่สุด เพราะนอกจากจะสร้างทางเลือกให้คนในชุมชนได้ซื้อสินค้าที่หลากหลายมากขึ้นแล้วคุณครูและนักเรียนยังได้เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการร้านค้า การบริหารจัดการกำไร ต้นทุนและมีรายได้เข้าโรงเรียนอีกด้วย
  • โครงการเลี้ยงสัตว์เพื่อจำหน่าย/สำหรับอาหารกลางวันโรงเรียน มีทั้งโครงการเลี้ยงหมู โครงการเลี้ยงไก่ โครงการขุดบ่อเลี้ยงปลา ธนาคารหมูของป้อป่อเลที่เน้นส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้เรื่องอาชีพ และการหารายได้รูปแบบต่างๆให้กับเด็กนักเรียน เน้นการทำงานร่วมกันระหว่าง นักเรียน ครู และชุมชน  โดยโรงเรียนจะซื้อหมูและมอบให้กับผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการเมื่อหมูโตพร้อมขายเงินที่ได้ส่วนหนึ่งจะนำกลับไปซื้อลูกหมูตัวใหม่เพื่อมอบให้กับผู้ปกครองคนต่อไป ส่วนหนึ่งมอบให้กับผู้เลี้ยงและอีกส่วนสำหรับเข้ากองทุนสำรองของโรงเรียน
  • โครงการปลูกพืชเศรษฐกิจ โครงการปลูกถั่วลิสงของแม่หละอาคีในปีของการระบาดโควิด-19 ทำให้ทางโครงการไม่สามารถส่งก้อนเชื้อเห็ดจากเชียงใหม่ให้กับโรงเรียนได้ทำให้โรงเรียนได้เปลี่ยนโครงการเป็นการปลูกถั่วลิลงแทน โครงการปลูกมันสำปะหลังโครงการความร่วมมือระหว่างโรงเรียนต้ากะป๋อและชุมชนที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างหลังโรงเรียน และเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชน
  • โครงการเพาะเห็ดสำหรับขายและส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะอาชีพให้กับนักเรียนหลังจากการระบาดของระบาดโควิด-19 โรงเรียนแม่หละอาคีและป้อป่อเลยังคงขอรับการสนับสนุนก้อนเชื้อเห็ดเพราะมีความต้องการเรียนรู้และส่งเสริมเรื่องทักษะอาชีพให้กับเด็กนักเรียน เห็ดที่ได้แบ่งขายให้กับคนในชุมชนในกิโลละ 50 บาทและใช้ในการทำอาหารสำหรับเด็กนักเรียน,
  • โครงการร้านค้าน้ำมัน เนื่องจากเห็นว่าในหมู่บ้านไม่มีปั๊มน้ำมัน ปรกติชาวบ้านจะต้องขับรถไปเติมน้ำมันที่หมู่บ้านอื่น ถ้าเปิดร้านขายน้ำมันที่หมู่บ้านก็จะได้ลูกค้าที่เป็นชาวบ้านทั้งหมดและชาวบ้านจากหมู่บ้านข้างเคียง รวมถึงผู้ที่สัญจรผ่านหมู่บ้านด้วย ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเดินทางไกลไปเติมน้ำมันที่อื่นและเป็นการหารายได้เข้ากองทุนสำรองของโรงเรียน  ครู กรรมการโรงเรียนและชุมชนได้ทำงานร่วมกัน
  • โครงการทอผ้าที่ต้องการสานต่อคุณค่าของภูมิปัญญาและงานหัตถกรรมของกะเหรี่ยงให้คงอยู่และหารายได้เข้าโรงเรียนของโรงเรียนก้อลาเฮ โรงเรียนต้ากะป่อ และโรงเรียนมัธยมสุเมย โครงการได้ให้การสนับสนุนในช่วงเริ่มต้นโครงการและโรงเรียนยังคงดำเนินโครงการนี้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยใช้เงินที่ได้ในแต่ละครั้งในการหมุนเวียนการดำเนินโครงการ

คุณค่าของงานหัตถกรรมและภูมิปัญญา
โรงเรียนก้อละเฮ (จิโพคี) โรงเรียนต้ากะป๋อ และโรงเรียนมัธยมสุเมย ตั้งอยู่ในหมู่บ้านใกล้แม่น้ำเมย ตรงข้ามอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เห็นว่าปัจจุบันการเรียนรู้ด้านหัตถกรรมและภูมิปัญญานั้นขาดหายไปจึงเสนอโครงการทอผ้าทำย่ามให้กับเด็กๆ ในโรงเรียน คุณครูได้ชวนให้ผู้รู้ในชุมชนมาทำการสอนให้กับเด็กๆ ช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ไม่มีคาบเรียน เด็กๆ พร้อมกับกี่เอวนั่งกันเรียงรายตรงหน้าชั้นเรียน ครูผู้รู้ในชุมชนถ่ายทอดความรู้ด้านการทอผ้าตั้งแต่เริ่มต้นจนออกมาเป็นผลงาน  ลวดลายย่ามแต่ละใบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามผู้ทอที่มีอิสระในการออกแบบลวดลายและเลือกสีของด้ายที่จะใช้ในการทอได้ตามความชอบ โครงการช่วยเสริมโดยการนำสินค้าย่ามดังกล่าวมาช่วยขายในเพลทฟอร์มออนไลน์ของมูลนิธิ Friends Without Borders Shop จากปีแรกที่เริ่มขายจนถึงปัจจุบัน ผลงานย่ามก็เริ่มมีคนที่สนใจเพิ่มมากขึ้นทุกครั้งที่ประกาศขาย ปัจจุบันผลงานย่ามชุดใหม่น้องๆ ยังคงทอกันอยู่ ถ้าสนใจสนับสนุนผลงานของน้องๆ ก็ต้องคอยติดตามในเพจร้านของมูลนิธิกันได้เลยนะครับ

โรงเรียนมัธยมสุเมย ครูรายงานว่านักเรียนกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมในโครงการและได้พัฒนาทักษะของตนแล้ว โครงการนี้ได้รับการชื่นชมจากชุมชนเนื่องจากพวกเขาเห็นนักเรียนมีรายได้และโรงเรียนมีกองทุนเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ โครงการยังอนุญาตให้สมาชิกในชุมชนบางคนเข้าร่วมอย่างภาคภูมิใจในฐานะบุคคลทรัพยากร

เงินทุนสำรองของโรงเรีย
รายได้จากการขายสินค้าทั้งหมดโครงการได้ส่งมอบให้กับโรงเรียนเจ้าของผลงาน โดยรายได้จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนได้แก่ ส่วนที่หนึ่งสำหรับใช้ซื้ออุปกรณ์สำหรับทอ เช่น ด้าย สำหรับทอครั้งต่อไป ส่วนที่สองมอบให้กับเจ้าของผลงานเพื่อเป็นกำลังใจในการผลิตผลงาน ส่วนที่สามทางโรงเรียนเก็บเป็นเงินทุนสำรองของโรงเรียนในการใช้จ่ายด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นซื้ออุปกรณ์จำเป็นสำหรับโรงเรียนหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ เช่น ที่ผ่านมาเด็กไม่สบายต้องผ่าตัดไส้ติ่ง จะต้องนำเด็กมารักษาที่ฝั่งไทย ทุนที่ได้ก็จะใช้สำหรับนักเรียนเวลาเจ็บป่วยด้วย ใช้สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนตั้งแต่ กิจกรรมปิดภาคเรียน วันคริสต์มาส กิจกรรมกีฬา การประชุมกรรมการโรงเรียน ค่าเดินทางของครูในโรงเรียนในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น

เงินทุนหมุนเวียน รายได้ที่ได้จากการดำเนินโครงการส่งเสริมรายได้เปิดโอกาสให้ครูและกรรมการโรงเรียนหาลู่ทาง โครงการใหม่ๆที่จะหารายได้เข้าโรงเรียนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ที่สำคัญไปไม่น้อยกว่ารายรับที่โรงเรียนจะได้ ก็เป็นเรื่องของทักษะด้านต่างๆ ขณะที่ทำโครงการด้วยกันที่ทั้งครูและกรรมการโรงเรียนจะได้เรียนรู้ไปด้วยกัน
โรงเรียนก้อละเฮนำเงินกำไรที่ได้ส่วนหนึ่งจากโครงการทอผ้าหมุนเวียนทำโครงการร้านค้าโรงเรียนต่อปัจจุบันโรงเรียนมีทุนสำรองของโรงเรียนจำนวนหนึ่ง  โรงเรียนมัธยมสุเมยนำเงินกำไรที่ได้จากการดำเนินโครงการทอผ้าหมุนเวียนทำโครงการเลี้ยงหมูเพื่อโครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน โรงเรียนต้ากะป่อได้นำเงินที่ได้จากโครงการทอผ้าสมทบทุนดำเนินโครงการร้านค้าชุมชน นอกจากนี้ในช่วงฤดูร้อนทางโรงเรียนได้ออกร้านขายขนมและเครื่องดื่มตามกิจกรรมต่างๆ ที่มีในชุมชน โดยแบ่งเงินส่วนหนึ่งจากร้านค้าโรงเรียนไปลงทุนทำให้ได้เงินกำไรในการออกร้านจำนวนหนึ่ง เมื่อรวมเงินกำไรทั้งหมดที่มีโรงเรียนได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการโรงเรียนและชุมชน ถึงหนทางหารายได้เข้าโรงเรียนเพิ่มเติม โดยได้ข้อสรุปในการดำเนินโครงการการปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ว่างหลังโรงเรียน โดยใช้เงินทุนสำรองของโรงเรียนส่วนหนึ่งในการลงทุนร่วมกับชุมชน 

ผลงานย่ามถูกถ่ายรูป จัดกราฟฟิคให้ดูน่าสนใจ จำหน่ายบนเพจ Friends Without Borders Shop

นอกจากย่ามทอมือแล้วโรงเรียนต้ากะป่อยังมีงานฝีมืออีกหนึ่งอย่างที่ฝากขายกับร้านเพื่อนไรพรมแดน นั่นก็คือ “ชามไม้ใบใหญ่” ฝีมือช่างในชุมชนที่ต้องต้องการมีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียน และนอกจากร้านค้าออนไลน์แล้วเพื่อนไร้พรมแดนยังได้ออกบู๊ทขายสินค้าและประชาสัมพันธ์กิจกรรมสร้างความเข้าใจให้กับสังคมไทยอีกทางหนึ่งด้วย

หมายเหตุ

  • School self-reliance initiatives กิจกรรมพึ่งตนเอง/ส่งเสริมรายได้โรงเรียน มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนความพยายามของครูและคณะกรรมการโรงเรียนในการบริหารโรงเรียน โดยพึ่งพาการสนับสนุนจากภายนอกให้น้อยลง และเพื่อส่งเสริมความรู้สึกความเป็นเจ้าของโรงเรียนของชุมชน
  • ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบันมีโรงเรียนที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการทั้งหมด 10 โรงเรียน จาก 11 โรงเรียน รวมโครงการที่ได้ดำเนินการทั้งหมด 28 โครงการ
  • บทความนี้นำเสนอเฉพาะ 3 โรงเรียนที่ดำเนินโครงการทอผ้า เรายังมีโครงการที่ยังไม่ได้นำเสนออีกเยอะเลย รอติดตามกันในบทความต่อไปนะครับ
  • กิจกรรมทอผ้าส่งเสริมรายได้โรงเรียนทั้งสามโรงเรียนยังคงดำเนินโครงการถึงปัจจุบัน

Related