เป็นอีกครั้งที่เราเล่าเรื่องศิลปินที่ใช้ศาสตร์การละครในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม
แต่คราวนี้เขาคือศิลปินที่มาจากเมียนมาร์ และว่าก็ว่า เขาเป็นนักการละครดาวรุ่งที่กำลังเฉิดฉายในสายการละครเชียงใหม่ เพราะไม่กี่ครั้งที่เขาขึ้นแสดง ก็ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ชมและวงสังคมของนักกิจกรรม
Kelvin Shine Ko คือนักศึกษาที่ย้ายเขตคามจากเมียนมาร์เข้ามาอยู่ในมหานคร ก่อนจะย้ายเขตแดนมาอยู่เมืองนครพิงค์เชียงใหม่ในฐานะนักศึกษา จับพลัดจับผลูมารู้จักกับเพื่อนพ้องนักการละคร เพราะเขาก็สนใจในงานเคลื่อนไหวตั้งแต่อยู่เมียนมาร์แล้ว
ต่างที่ว่า ตอนอยู่เมียนมาร์อาจจะลองผิด-ลองถูกด้วยตัวเอง แต่ที่เชียงใหม่ เขามีเพื่อนคอยแนะนำ ระดมความคิด และมีพื้นที่ให้เขาได้ทำงานได้สื่อสารกับสังคม อย่างในงาน Myanmar Film Tour 2024 (เชียงใหม่) วันผู้ลี้ภัยโลกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นอีกปีที่เพื่อนไร้พรมแดนได้ชักชวนให้เขามาร่วมแสดงก็ทำให้เขาเป็นที่สนใจ และตัวเขาเองก็เห็นความเป็นไปได้มากมายในการเป็นนักการละครที่เชียงใหม่ และเขากำลังจะมีละครที่กำลังจะเล่นร่วมกับลานยิ้มการละครในช่วงปลายปีนี้อีกด้วย
ชายตรงหน้าขี้อายอยู่หน่อยๆ แต่พอเราเห็นเขาเริ่มเคลื่อนไหวร่างกายเป็นท่วงท่าต่างๆ แล้ว มันบ่งบอกได้ทันทีว่า เขาฝึกการเคลื่อนไหวมาเยอะมากๆ
ไม่ได้เคลื่อนไหวเปล่าๆ แต่ทุกการเคลื่อนไหวของเขามีความหมาย ทั้งในแง่ตัวตนข้างในที่เขาเรียนรู้จากการลงมือทำ และการสื่อสารด้วยเครื่องมือที่เขาเชื่อมั่น เพื่อพูดประเด็นต่างๆ ผ่านการเคลื่อนไหวทั้งหมด
มาเคลื่อนไหวกับเขากัน
1
เคลวินสนใจเรื่องศิลปะมาตลอดตั้งแต่เด็ก แต่ว่าในวัยนั้นเขายังเลือกไม่ได้ว่าเขาหลงใหล หรือเชื่อในศิลปะแบบไหน เพราะจริงๆ วงเพื่อนๆ ของเขาที่เมียนมาร์ก็สนใจในศิลปะ บางคนวาดภาพ บางคนร่ายรำ แต่ก็ยังยึดโยงกับศิลปะแบบดั้งเดิมตามวัฒนธรรมพื้นถิ่น
วันหนึ่งเคลวินเข้าร่วมเวิร์กช็อป Performance Art กับกลุ่มนักการละครที่แวะมาแสดงแถวๆ บ้านของเขา ไม่รู้ว่าทีมงานสนใจอะไรในตัวของเขา แต่เขาก็ถูกชักชวนให้ร่วมแสดงบนเวทีเดียวกัน
ในวันรุ่งขึ้น
“ผมไม่คิดว่าจะได้เจอประสบการณ์แบบนี้มาก่อน เป็นเรื่องใหม่สำหรับผมมาก เพราะผมเองก็ใหม่มากๆ และต้องเตรียมตัวในคืนเดียว” เคลวินเล่าให้เราฟังด้วยท่าทีที่เขินอาย
เขาเลือกเอาตัวตนของตัวเองท่ามกลางความสับสนมาขยายเป็นการแสดง 3 นาที ซึ่งนั่นคือเวลาสั้นๆ ที่มีทุกความรู้สึกบรรจุอัดอยู่ในนั้น และ 3 นาทีนั้นก็ทำให้เขาเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการเป็นนักการละครของเขาอีกเยอะมาก
“การแสดงเกี่ยวกับตัวผมเองเลยครับ ตอนนั้นผมยังสับสนในอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง เวลานั้นมันโดดเดี่ยวมาก ไม่มีใครเข้าใจและอยู่เคียงข้างผมเลย ผมตีความตัวตนของผมเป็นสองอย่างคือ ตัวตนข้างนอกก็คือ ผมเอง และตัวตนข้างในคือ ใครสักคนที่อยากถูกเข้าใจ โดยผมยึดตัวเองเป็นแกนในการทำงานว่าควรพูดเรื่องนี้ ต้องทำแบบนี้”
นอกจากทำงานกับความสับสนในใจแล้ว พอต้องนำการแสดงที่ใช้เวลาเตรียมตัวแค่ 1 คืนมาโชว์ต่อหน้าทุกคน ความสั่นกลัว สับสนอลหม่านในใจก็เป็นอีกสิ่งที่เขาต้องทำงานกับตัวเอง แต่พอเสียงปรบมือดังขึ้น
เคลวินจึงรู้แล้วว่า เขามาถูกทางแล้ว
2
เคลวินบอกเราว่า ทุกครั้งที่มีเวิร์กช็อปที่ Art Space ใกล้บ้านของเขา เขามักจะเข้าร่วมเสมอ มันทำให้เขาได้เห็นฉากทัศน์ศิลปะที่แปลกใหม่ พร้อมๆ กับการแลกเปลี่ยนทรรศนะและการได้ประเด็นที่หลากหลายเพื่อไปทำงานต่อ
“แล้วคุณฝึกฝนตัวเอง หรือเรียนรู้เพิ่มเติมยังไงอีก” เราถาม
“ส่วนของการแสดง ผมดูคลิปการแสดงจากยูทูปเยอะมากๆ ดูเพื่อดูแนวทางการเคลื่อนไหว การเรียงประเด็น การร้อยเรื่อง สารที่เขาจะเสื่อ แล้วผมก็ติดตามนักการละครหลายๆ คนในโซเชียลเยอะมากๆ มันช่วยผมได้เยอะมากเลยครับ
“คนท้องถิ่นมาดูการแสดงผมเยอะ ความรู้สึกตอนนั้นของผมมันก็ไม่ได้แย่มาก แต่ศิลปินบางคนก็แสดงบนถนน คนที่ผ่านไปผ่านมาคนที่ไม่ได้เข้าใจมากก็จะคิดว่า เขาทำอะไรอยู่ แต่ศิลปินก็รู้ว่าเขากำลังแสดงอยู่ เขาสนใจว่าการแสดงเป็นยังไง พอผมแสดงเสร็จก็จะคุยกับคนดูตลอดเพราะอยากรู้เกี่ยวกับความเห็นของผม”
เขาบอกว่า เขาสนใจเรื่องของวัยรุ่นเช่น ความฝัน ความสับสนในใจ หรือเรื่องใหญ่ๆ อย่าง Climate Change ก็เป็นประเด็นที่เขามองว่าน่าหยิบมาทำเช่นกัน ซึ่งวิธีการทำงานเหล่านี้ก็ต้องเป็นการทำข้อมูลผ่านการรีเสิร์ช หรือการคุยกับผู้คนเพื่อแลกเปลี่ยนทรรศนะต่างๆ
สิ่งที่ดีที่สุดสิ่งหนึ่งที่เคลวินได้เรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในการแสดงครั้งต่อๆ ไปคือ การจัดการอารมณ์ของตัวเองเมื่อเกิดภาวะเครียดหรือกดดัน ซึ่งคนที่สอนเรื่องนี้คือ พี่สาวของเขา
“ผมเรียนรู้มันมา 1 ปี อย่างตอนที่ผมเขียนบทแล้วผมได้รับคอมเมนต์มาแล้วก็พบว่าเครียดมากเลย แต่ผมอยากได้ใครสักคนที่รับฟังผม ผมเลยถามพี่สาวผมว่า ผมกอดพี่ได้มั้ย แต่พี่สาวผมบอกว่า ไม่ได้ เธอต้องกักเก็บความรู้สึกนี้เอาไว้เพื่อเอาไว้ใช้การทำงาน” เคลวินเล่า
3
หนึ่งในการแสดงที่เคลวินภูมิใจ และเลือกแบ่งปันประสบการณ์ของมันให้เราฟังนั้นชื่อ “Home”
มันเป็นการแสดงความยาว 10 กว่านาทีนั้นทำทุกคนเงียบสงัด ผู้ชมในวันนั้นจับตาดูทุกการเคลื่อนไหว ทุกท่วงท่า ทุกเทคนิคที่เคลวินแสดงออกมา เขาไม่สนใจผู้ชมว่าจะมากจะน้อยแค่ไหน สิ่งที่เขาทำมีแค่แสดงตามที่เขาคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
“การแสดงครั้งนั้นผมพูดถึงผู้ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยต้องออกจากบ้าน สูญเสียบ้าน เมื่อเขาต้องย้ายพื้นที่เขตคาม เราต้องคิดถึงบ้านใช่มั้ยครับ ผมรู้สึกว่า ผมมีความหวังและความปรารถนาให้พวกเขามีความหวังที่จะได้กลับบ้าน การแสดงนี้ผมใช้หมอนใบเก่า สีสเปรย์ หน้ากาก และมุกพลาสติก ไม่มีการซ้อม เพราะผมทำการแสดงแบบที่ผมคิดถึงแค่ไอเดียและกระบวนการในหัว เดี๋ยวผมจะทำแบบนี้ เดี๋ยวผมจะโชว์ต่อแบบนี้ เป็นขั้นตอน พอผมคิดแบบนี้แล้วก็ลงมือแสดงเลย บางทีการแสดงมันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง ไม่เหมือนกับที่ผมคิดไว้ร้อยเปอร์เซนต์ แต่พอเห็นว่ามีคนมาดูเยอะ ผมก็ดีใจ” เคลวินอธิบาย
และเพราะการแสดงมันชื่อ Home เคลวินจึงขยายความเพิ่มอีกว่า บ้านมันไม่ใช่แค่สถานที่ มันอาจจะเป็นคนเพียงแค่ 1 เปอร์เซนต์ที่เราไว้ใจ วางใจ หรืออาจจะเป็นความรู้สึกบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกสนิทใจได้ว่าบ้านคืออะไร
“มันเลยเป็นความรู้สึกส่วนตัวที่ผมเอามาอยู่ในโชว์ อย่างเช่นตอนที่ผมอยู่กับป้า แล้วป้าของผมหายไป ความรู้สึกบางกอย่างในใจก็เกิดขึ้น ผมเลยเอาเรื่องเหล่านี้มาใส่ในการแสดงด้วย”
ซึ่งจุดเปลี่ยนในการย้ายเขตแดนของเคลวินคือ การที่เคลวินถูกชักชวนให้มาช่วยเป็นอาสาสมัครที่ประเทศไทย ซึ่งทำให้เขาเริ่มรู้จักคนทำงานศิลปะและนักการละครในประเทศไทยมากขึ้น ก่อนที่เขาจะขึ้นมาเรียนต่อที่เชียงใหม่
“ผมย้ายขึ้นมาที่นี่ เพราะผมชอบเชียงใหม่ครับ และผมได้เพื่อนใหม่ๆ ทั้งในชีวิตจริงและเพื่อนที่ทำงานศิลปะด้วยกัน” เขาตอบพร้อมยิ้มกว้าง
การย้ายขึ้นมาที่เชียงใหม่ ทำให้เคลวินได้เจอชุมชนคนทำงานศิลปะ การแสดง และการเคลื่อนไหว และนั่นทำให้เขาได้ขึ้นแสดงบนเวทีใหญ่คือ กิจกรรมวันผู้ลี้ภัยสากลที่เพื่อนไร้พรมแดนมีส่วนร่วมเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา
4
เราจะเห็นว่าเคลวินเองใช้การเคลื่อนไหวร่างกายพูดเรื่องอะไรสักอย่างเสมอ อาจจะไม่ได้บ่อยครั้งมากนัก แต่เขาชอบตัวเองเสมอที่ได้ใช้ทักษะเหล่านี้สื่อสารประเด็นทางสังคมออกมา ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ชอบตัวเองแบบร้อยเปอร์เซนต์
แต่เขายืนยันว่า เขาชอบตัวเองมากที่เขาได้แสดงต่อหน้าผู้คน
แล้วการใช้สิ่งที่เขาชอบสื่อสารประเด็นทางสังคม มันสำคัญกับเขายังไง
“ผมใช้การเคลื่อนไหวทางร่างกายอยู่ตลอด มันสำคัญกับผมมาก และมันสำคัญกับทุกๆ คนด้วย หลายคนชอบนึกถึงแค่การเต้นเวลาจะเคลื่อนไหวร่างกาย แต่ผมเรียนรู้การเคลื่อนไหวจากคนหลายๆ ประเภท ผมเห็นและนำมันมาปรับใช้กับการแสดง ดังนั้นมันจะไม่เหมือนการเต้น มันคือการเคลื่อนไหว และเพราะการเคลื่อนไหวที่ผมเรียนรู้มันมีที่มาจากผู้คน มันเลยเกี่ยวข้องกับการที่ผมเคลื่อนไหวเพื่อเป็นเสียงสะท้อนของผู้คนด้วย” เคลวินอธิบาย
ช่วงที่เราสัมภาษณ์ เคลวินกำลังมีงานวิดีโอ Performance Art ที่กำลังจัดแสดงอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น และเขาเพิ่งนำการแสดงไปโชว์ที่เชียงรายเมื่อไม่นานมานี้ และตอนนี้เคลวินกำลังเตรียมงานละครกับเพื่อนใหม่ของเขาอย่างกอล์ฟ-นลธวัช มะชัย และกลุ่มลานยิ้มการละคร ซึ่งมันเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับเคลวิน
“ปกติผมทำแต่งานเคลื่อนไหว แต่พอมาทำละครเวทีเป็นกิจจะลักษณะแล้วมันเป็นเรื่องใหม่สำหรับผมมากครับ เพราะผมแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย ไม่ว่าจะเรื่องการเขียนบท การแสดง หรือการแสดงบนเวที มันเป็นการเรียนรู้กระบวนการที่ท้าทายมากสำหรับผม” เคลวินอธิบาย
เคลวินไม่ได้คิดถึงแพลนในอนาคตมากนัก เพราะเขาไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น แต่สิ่งที่เขาจะทำแน่ๆ คือ ทำทุกโอกาสที่ได้รับให้ดีที่สุด
ติดตามละครเวทีเรื่องแรกจากการกำกับของเคลวิน ในเทศกาล Asian Youth Theatre Festival ตั้งแต่ 21 – 24 พฤศจิกายนนี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจลานยิ้มการละคร