ชีวิต ศิลปะ และการต่อสู้: เส้นทางของเอส สายเมือง ศิลปินจากรัฐฉาน

ชีวิต ศิลปะ และการต่อสู้: เส้นทางของเอส สายเมือง ศิลปินจากรัฐฉาน

| | Share

เอส สายเมือง ย้ายรกรากและถิ่นฐานรัฐฉานมาอยู่เชียงใหม่เต็มตัว ในฐานะศิลปิน

หนุ่มวัย 30 ผู้คุ้นเคยกับเชียงใหม่มาตั้งแต่จำความได้ แต่เพราะบ้านเกิดเมืองนอนของเขาอยู่ที่รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ ที่เขาเทียวไปเทียวมาอยู่เป็นประจำ สิ่งที่เขาเห็นอยู่ “เป็นประจำ” ไม่ต่างจากการย้ายเขตแดนบ่อยๆ คือ สงคราม ความรุนแรง การหลบหนี และการสูญเสีย

“แต่เราก็ใช้ชีวิตกันตามปกตินะครับ ต่อให้เขาจะรบกันมาเป็น 70 ปีแล้ว” เอสกล่าวถึงเรื่องนี้ เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติ

ถึงแม้จะไม่ได้เติบโตท่ามกลางสงคราม และตัดสินใจย้ายครอบครัวย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่แบบไม่หันหลังกลับ แต่การเห็นข่าวของพี่น้องร่วมชาติที่ต้องพบเจอกับการต่อสู้ไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้เขาอยากสื่อสารอะไรสักอย่าง เมื่อรวมกับความสนใจใคร่รู้ในงานศิลปะการวาดภาพ ทำให้เอสเลือกใช้เครื่องมือนี้ในการสื่อสารประเด็นที่พี่น้องในบ้านเกิดพบเจอ

วาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง สีน้ำบ้าง น้ำมันบ้าง วาดไปวาดมา จนเขามีนิทรรศการภาพวาดเป็นของตัวเองที่บอกเล่าถึงประเด็นของรัฐบาลทหารเมียนมาร์ที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ ลิดรอนอำนาจจากประชาชนจนไม่เหลือ และทำให้บ้านเมืองไม่พบเจอความสงบอีกเลยในชื่อ For the Country ที่จัดแสดงไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

หลังจากที่เราพบกับเขาในนิทรรศการครั้งนั้น เพราะเอสเองก็มีเรื่องเล่าอยากแบ่งกันกับเราเต็มไปหมด เอสจึงเปิดสตูดิโอเล็กๆ ของเขาเพื่อให้เราเข้าไปชมงานในคลังที่เต็มไปด้วยเรื่องราวในบ้านของเขา เคล้าเสียงเรื่องเล่าที่เขาเปล่งออกมาตั้งแต่ชีวิตในวัยเด็กที่มีเสียงระเบิดเป็น Ambient ประกอบ จนถึงวันที่เขาตัดสินใจย้ายมาอยู่เมืองไทย 

ก่อนใช้การวาดภาพพูดแทนพี่น้องในท้องถิ่น

รัฐฉาน, เมียนมาร์
ภาพในวัยเด็กที่เห็นการรบทุกวัน

การสู้รบของทหารและชาวบ้าน เป็นเรื่องที่เอสเห็นอย่างเป็นปกติตั้งแต่เด็ก

ปกติจนกลายเป็นความเคยชิน จนนำไปสู่ความชินชา จากสายตาของเด็กคนหนึ่งที่อยู่ในบ้านกระต๊อบเล็กๆ

“การรบกันมันมีมาตั้งแต่ผมยังไม่เกิดเลยครับ อย่างแรกเลยคือไทใหญ่กับพม่า เสียงระเบิดนี่ผมคุ้นชินแล้วตั้งแต่ผมอายุเท่าหลานผมตอนนี้ (2-3 ขวบ) เลยครับ ไม่กลัวแล้ว เสียงระเบิดมันดังแถวๆ ข้างบ้าน ผมก็ไม่รู้สึกกลัว ไม่รู้สึกระแวงระวังอะไรเลย เพราะว่าคนชาติอื่นเขาเข้ามาปกครองในบ้านเรา คนที่เขาเป็นเผด็จการของพม่าเขามาปกครองเรา แล้วก็จะมีกลุ่มต่อต้านที่เป็นรัฐฉาน ของรัฐฉานที่อยากจะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อประชาชน เพื่อแผ่นดินเกิด ก็เลยรบกันมาในตลอดระยะเวลาเกือบ 70 ปีกว่า” เอสเล่า

เอสและครอบครัวไม่ได้วิ่งหนีระเบิด หรือหนีสงครามและการสู้รบ แต่เอสเล่าเพิ่มว่า ในอาณาเขตใกล้ๆ บ้านของเขา มักมีการวิ่งหลบหนีระเบิดและหนีทหารอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งทหารจะเข้ามาปล้นสะดม หรือรีดไถอาหาร แม้กระทั่งวัวและควายที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากิน

“แล้วสถานการณ์มันดีขึ้นบ้างมั้ย” เราถาม

“ไม่ดีขึ้นครับ กับการที่เขายึดอำนาจแบบนี้ก็ไม่ดีครับ ผมว่ามันไม่ดีตั้งแต่ 70 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยเนวิ่น (อดีตผู้นำรัฐประหารเมียนมาร์) ผมจำไม่ได้ จนมามินอ่องหล่าย ตั้งแต่สมัยนั้นมาในระยะเวลา 70 กว่าปีที่ผมรู้สึกว่าบ้านผมไม่มีความสุข มันไม่รู้สึกปลอดภัย” เอสตอบเรา

เอสเองที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นก็ค่อยๆ ติดตามครอบครัวออกจากบ้านเกิดเมืองนอนและย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ ตั้งรกรากแบบไปๆ กลับๆ บ้านเกิดที่รัฐฉานแบบนานๆ ครั้ง ซึ่งทุกวันนี้รัฐฉานทันสมัยมากขึ้น และมีความเปลี่ยนแปลงในการปกครองที่รัฐฉานใต้จนการรุกรานจากรัฐบาลทหารไม่ค่อยเกิดขึ้นแล้ว

“ผมย้ายเข้ามาไทยเพราะว่าเมื่อก่อนผมเคยอยู่ ผมจำได้ว่าเคยอยู่ศูนย์เด็กเล็ก จำได้ว่าตอนนั้นยังอยู่ในไทยนี่แหละ ยังอยู่ที่สารภี หนองหอย ผมเคารพธงชาติไทยที่นี่เป็นครั้งแรก”

แต่เอสกลับตัดสินใจย้ายตัวเองมาอยู่เมืองไทยอย่างถาวร ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ระบบการศึกษาที่ไม่ได้รองรับความต้องการของเขา รวมถึงปากท้องและเศรษฐกิจ

“การทำมาหากินที่นู่นมันไม่เพียงพอ การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจมันไม่เพียงพอ ของที่เราส่งไปราคามันถูก แต่ว่าของที่เรานำเข้ามาราคามันแพง สมมุติว่าปุ๋ยเราจะเอามาใส่ข้าว ก็จะแพง สมมุติว่าข้าวที่เราได้ผลผลิตมาแล้ว เราจะเอาไปส่งขายให้เขา ราคาถูก ก็คือเราเข้าใจแล้วว่าเรากำลังตกอยู่ในฐานะยังไง เราเป็นคนที่มาจากไหน ประเทศของเรา บ้านเกิดเมืองนอนของเรากำลังเกิดอะไรขึ้น เราเข้าใจในสิ่งนี้ เราก็เลยไม่อยากเรียนภาษาพม่าอีกเลย”

เชียงใหม่, ประเทศไทย
ล้างพู่กันแลกวิชา

นอกจากความทรงจำเรื่องการสู้รบในรัฐฉานแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่อยู่ในห้วงคำนึงและหล่อหลอมให้เอสเป็นแบบนี้ได้คือ การวาดรูป ซึ่งเป็นสิ่งเอสหลงใหลมาตั้งแต่วัยเด็ก

“มันติดมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่สมัยเรียนเลย ถ้าเป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ใช่ไหม เราก็จะไปวาดเล่นตามผนัง เพดาน เขียนที่ครูเขาสอน วาดทุกสิ่งทุกอย่าง วาดมังกร วาดคนบ้าง เมื่อก่อนเราชอบการวาดรูป แต่ว่าพอเข้าใจต่อ เราคิดว่ามันไม่ใช่งานอดิเรกประจำวันแล้ว เรามองว่ามันคือธุรกิจเลย แต่ความฝันของผม ผมไม่ได้ฝันว่าอยากเป็นศิลปินหรือคนวาดรูปอะไร ในความฝันของผมเพราะว่า ประเทศของผมตอนนี้กำลังเผชิญภัยอยู่ ความจริงแล้วผมอยากเป็นนักรบมากกว่า”

ต่อให้มันจะไม่ใช่ความฝันอย่างจริงจัง แต่เมื่อเอสย้ายมาอยู่ที่เมืองไทย เอสเองที่ทำงานรับจ้างในไซต์ก่อสร้างบ้าง ทำงานเด็กเสิร์ฟบ้าง หรือจับกังขนของบ้าง ประกอบกับครอบครัวที่ยึดอาชีพรับเหมาก่อสร้างเป็นงานสร้างรายได้ กลับอยากให้เอสไปเรียนหนังสือต่อ

เอสเลยอยากเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งก็ได้จับพลัดจับผลูมาเป็นลูกมือของศิลปินท่านหนึ่งอีกที

“ผมเลยติดต่อพี่คนหนึ่งเพื่อเรียนภาษาอังกฤษ แล้วเขาก็เลยแนะนำให้ผมมาที่คุณคริสอีกที คุณคริสบอกว่าตอนนี้เขาไม่ได้เป็นอาจารย์แล้ว เขามาทำงานศิลปะเต็มตัว ผมก็สงสัยว่างานศิลปะมันเป็นยังไง มันเป็นแบบไหน ผมก็เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่วันนั้น ผมบอกว่าผมอยากเรียนภาษาอังกฤษนะ แต่ถ้าคุณมีงานให้ทำ คุณต้องการคนช่วยไหม เขาก็บอกว่าต้องการสิ ผมก็จะเป็นคนล้างพู่กันให้ ล้างสีให้ ก็ตั้งแต่ตอนนั้นมา ผมก็เลยขอว่า ขอเรียนกับคุณได้ไหม เกี่ยวกับงานวาดรูปงานศิลปะ”

เอสเริ่มวาดรูปแบบง่ายๆ ก็คือ ต้นไม้ วิวทิวทัศน์ ภูเขาเหล่ากอ ซึ่งโชคดีที่ครูของเอสซื้องานที่เขาวาดทุกชิ้น ซึ่งนั่นคือการสร้างแรงบันดาลใจอยากให้เขาทำอะไรที่จริงจังมากขึ้น

นอกจากการเป็นลูกมือช่วยล้างพู่กัน เก็บกวาดทำความสะอาดพื้นที่เวิร์กช็อป เอสยังได้ติดสอยห้อยตามครูของเขาเพื่อไปดูงานนิทรรศการศิลปะต่างๆ งานวาดที่หลากหลายทำให้เอสเกิดความอยากรู้อยากเห็น

และอยากทำงานศิลปะในแบบของตัวเองจริงๆ

เชียงใหม่, ประเทศไทย
วาดรูปเล่าเรื่องบ้านแบบไม่มีปลายทาง

“ตอนวาดผมก็คิดว่า ผมจะทำอะไรดีให้คนมาสนใจ ให้คนที่สนใจกับงานของเรา พอเรารู้อยู่แล้วว่างานของเรามันเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ตั้งแต่ผมเรียนมาผมก็เริ่มรู้เพิ่มมากขึ้นแล้วว่า มันเป็นงานที่สื่อสาร มันเป็นกระบอกเสียงที่ตะโกนที่ดัง

“เราอยากจะทำอะไรให้มันเป็นจริงๆ จังๆ ขึ้นมา แต่งานศิลปะเท่าที่ผมเคยเห็น มันจะเป็นในแนวที่น่ารัก แนวที่ดูดี แต่ในบ้านเกิดเมืองนอนของผมมันแตกต่างจากคนอื่น ผมก็อยากทำอะไรให้มันแปลกหูแปลกตาซะหน่อย ก็เลยทำภาพแบบนี้ขึ้นมา แบบโหดๆ เพราะว่ามันก็คือความเป็นจริงในบ้านผม มันไม่ได้โหดหรือว่าแรงเกินไป หรือว่าไม่ได้ไม่สุภาพแต่อย่างใด” เอสเล่าถึงงานวาดของเขา

ในห้องสตูดิโอและเวิร์กช็อป เราเห็นงานสีสันจัดจ้าน และภาพที่พอจะเดาออกว่า มันคือการสื่อสารและเสียดสีรัฐบาลเผด็จการพม่า การสู้รบ การเข่นฆ่ากันเอง รวมถึงประเด็นละเอียดอ่อนอื่นๆ ที่งานภาพและสารเหล่านั้นสื่อ-ออกมาอย่างไม่ประนีประนอม

“อย่างเช่นเรื่องที่ผมวาดแสดงเกี่ยวกับศาสนา มันก็คือตามนั้นเลยครับ ก็มีบ้างที่ทำให้คนรัฐฉานมาแตกแยกกัน ที่จากเราเป็นพี่น้องกันเรามาแตกแยกกัน เรามาแบ่งแผ่นดิน มาแบ่งแผนที่กัน แล้วก็พยายามทำให้เราไม่เป็นปึกแผ่น” เอสอธิบาย

“เราเริ่มวาดโดยที่ไม่รู้ว่าจุดมุ่งหมายหรือจุดสิ้นสุดมันคือที่ไหน เรายังไม่รู้เลย เรารู้อย่างเดียวว่าเราชอบวาดรูป การวาดรูปมันคือความทรงจำของเราในช่วงเวลาหนึ่งที่เราจำได้ ว่าวันนี้เรามาวาดรูปนี้” เอสอธิบาย

ต่อให้งานของเอสจะจัดจ้านขนาดไหน เขาก็ยังมีความกล้าๆ กลัวๆ ในใจว่า จะมีใครสนใจในงานของเขาหรือไม่ เอสเลยได้แค่วาดรูปแล้ววางเอาไว้ในมุมห้องสตูดิโอ ก่อนที่จะมีอาจารย์คนหนึ่งซื้องานของเขาไป

และบอกว่า “ชอบทุกรูปเลย”

เอสจึงโล่งใจและภูมิใจว่า งานที่เขาทำมีคนเข้าใจแล้ว

เชียงใหม่, ประเทศไทย
ในวันที่จัดนิทรรศการเล่าเรื่องพี่น้องผ่านภาพ

“ใครชวนคุณจัดนิทรรศการครั้งล่าสุด” เราถาม

“ไม่มีใครชวนครับ ผมอยากทำเอง” เอสตอบเราแล้วยิ้ม

เรากำลังพูดถึง For the Country นิทรรศการภาพวาดครั้งแรกของเขาที่เพิ่งจัดไปไม่นานมานี้ 

เรื่องมันเริ่มจากที่เอสนำเสนอผลงานของเขากับเจ้านาย ก่อนที่จะพากันไปดูงานที่สตูดิโอของเขา เอสอธิบายชิ้นงานของเขา งานต่องาน คำต่อคำให้ผู้ชมไม่กี่คนได้เข้าใจ

“เขาเข้ามาครั้งแรกเขาบอกว่ามันแปลกหูแปลกตามากเลย มันแปลกดี มันส์ดี มันก็เป็นความทรงจำของเราในตอนเด็กๆ ที่ผมเห็นทหารพม่ามาเดินอยู่ในหมู่บ้านเราเต็มไปหมดแทบจะทุกวัน เห็นจนเป็นที่ชินหูชินตา จริงๆ แล้วเขาไม่ใช่คนในแผ่นดินที่แห่งนี้ แต่ว่าเขาปกครองบ้านเรา”

เอสเอาความทรงจำในบ้านมาบอกเล่าเป็นภาพวาด ที่ผู้ชมต่างพูดว่ามันสื่อสาร และแปลกหูแปลกตา ความฝันเล็กๆ ที่เขาอยากจัดนิทรรศการเลยกลายเป็นจริงขึ้นมา

มีผู้ชมมากหน้าหลายตาเข้ามาชมนิทรรศการครั้งนี้ และสายธารแห่งการแลกเปลี่ยนทรรศนะก็ไหลเวียนอยู่ในห้องนิทรรศการ

“ส่วนใหญ่เขารู้อยู่แล้วครับว่าบ้านของผมเป็นยังไง คนที่เป็นฝรั่งบางคนเขามีเพื่อนที่เป็นกะเหรี่ยง คนกะเหรี่ยงก็เหมือนกันกับชาติผมนี่แหละครับ โดนรังแก โดนเอาเปรียบ เด็กหรือผู้หญิงของเขาไม่มีสิทธิ์ ถูกละเมิดสิทธิ ไม่ว่าจะรัฐฉาน ทุกรัฐแหละครับ กะเรนนี คะฉิ่น มันจะมีอยู่หลายเชื้อชาติมากเลยครับ ประมาณ 7-8 เชื้อชาติที่โดนเหมือนกันกับผม ก็ไม่น้อยนะครับ จริงๆ รัฐของพม่าจะอยู่แค่ส่วนกลางของเรา แต่เขาปกครองเป็นวงกว้าง แล้วสมมุติว่าเขายึดอำนาจแบบนี้มันก็ส่งผลกระทบไปในวงกว้างเหมือนกัน มันไม่ได้จบอยู่แค่นั้น”

นอกจากที่เอสจะได้โชว์ทักษะในการวาดรูปของเขาผ่านนิทรรศการนี้แล้ว หลังจากนี้เอสจะมีผลงานที่ทำร่วมกับศิลปินอีกหลายสิบคนในรูปแบบของงานเขียน ที่ตอนนี้เอสกำลังหมกหมุ่นอยู่กับมัน

เชียงใหม่, ประเทศไทย
ถ้าเลือกได้ ขอไม่กลับไปอยู่ที่บ้านอีก

หลังจาก For The Country ประสบความสำเร็จ เอสบอกว่า นิทรรศการครั้งนี้คือการทำเพื่อชาติ ที่ถ้าเขาต้องจากโลกนี้ไป เขาก็ไม่เสียดายแล้ว

“ก็เพราะว่างานศิลปะเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ต่อให้งานของผมมันเสียไปก็แล้วแต่ที่จะบันทึกไว้ในนั้นมันอาจจะยังอยู่ได้นาน ผมก็เชื่อมั่นแบบนี้ ก็เลยเลือกที่จะทำงานแบบนี้ เมื่อก่อนก็ชอบเหมือนกัน งานที่เป็นนักร้อง เป็นศิลปิน ผมก็เคยชอบร้องเพลง ผมก็ชอบฟังเพลงทุกวันอยู่แล้วปกติของผม แต่ว่างานในแนวนั้นผมรู้สึกว่ามันสื่อสารได้ไม่ไกลพอ คนที่อยู่รัฐฉานเท่านั้นที่จะเข้าใจได้ที่เราร้องเพลง แต่เพื่อที่จะให้คนอื่นเข้าใจได้มากกว่า มันต้องเป็นยังไง ก็เลยเกิดแรงบันดาลใจตรงนั้นขึ้นมา”

ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในช่วงต้นบทสนทนา เอสบอกว่า สถานการณ์ความไม่สงบที่รัฐฉานในตอนนี้ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้แปลว่าดีแล้ว เพราะตอนนี้มีกลุ่มผู้ต่อต้านเพิ่มมากขึ้น และอาจทำให้รัฐบาลทหารอยู่ได้อีกไม่นาน

“ผมว่าเผด็จการอาจจะอยู่ได้ไม่ถึง 2 ปี เขาใกล้จะแตกแล้ว ในเมืองล่าเชี่ยวเขาก็ตีแตก เขาใกล้จะตีถึงเนปิดอว์แล้ว เพราะว่าคนที่ต่อต้านเขาตอนนี้มีหลายกลุ่มมากๆ เลย มีประมาณ 10 กลุ่ม ที่ต่อต้าน หลายเชื้อชาติมากครับที่ต่อต้านเขา แม้กระทั่งรัฐฉานของเรา เราต่อต้านในสิ่งที่เราไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือสิ่งที่เขามากดขี่เรา เขามาควบคุมสิทธิที่เราควรมีในบ้านเรา เรากลับไม่ได้ใช้มัน เรากลับถูกควบคุมแทน”

“แล้วถ้าคุณเลือกได้ คุณอยากกลับไปอยู่ที่บ้านถาวรมั้ย” เราถามคำถามสุดท้ายกับเอส

“คิดว่าจะอยู่ไทยไปตลอดครับ ถ้าหากว่าที่ฉานสงบแล้วผมก็อยากจะไปเที่ยวบ้าง เพราะว่าบ้านผมที่นั่นก็ยังมีสวน มีนาอยู่ครับ อาจจะกลับไปเยี่ยม ไปเจอกับคนที่เราเคยรู้จักที่ไม่ได้เจอกันนาน แต่ก็คงไม่กลับไปแล้ว” เอสตอบเรา

เรื่อง: อาร์ตี้ แสงสุวรรณ์
ภาพ: ภูมิพัฒน์ ปกเกตุ

Related