เราพยายามเสิร์ชหาชื่อ-นามสกุล หรือตัวตนใดๆ ของเขาเพื่อใช้เกริ่นขึ้นบทความนี้ แต่ก็ยังไม่เจอรายละเอียดเพิ่มเติม นอกจากชื่อเดิมชื่อเดียวที่ผู้คนรอบตัวเขาเรียกขาน
ดังนั้น เราคงขอเกริ่นขึ้นบทความอย่างเรียบง่ายว่า คนธรรมดาวันนี้จะคุยกับ ชวด สุดสะแนน
ถึงแม้ว่าเราจะนัดคุยกันที่ร้านร่ำเปิงกาแฟ ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ขายกาแฟที่พี่ชวดทำเพื่อหาเลี้ยงชีพ และเกสต์เฮาส์เล็กๆ ข้างร้านของภรรยาที่พี่ชวดช่วยดูแลอยู่ และการเป็นนักดนตรีประจำร้านสุดสะแนน-พื้นที่ซึ่งหยัดยืนในการเป็นศูนย์กลางของดนตรีที่ไม่มีพรมแดน ไม่มีขอบเขต และไม่มีอะไรมาขวางกั้น
พอเรามองดูอีกที ชีวิตของพี่ชวดขับเคลื่อนด้วยศิลปะมาตลอด เพราะนอกจากดนตรีที่เขาทำเพลง เขียนเพลงในนามวงสุดสะแนน พี่ชวดก็ยังเขียนกวีที่บอกเล่าช่วงชีวิตและความเป็นไปของสังคมและการเมือง บางทีก็ถ่ายรูปแล้วจัดนิทรรศการเล็กๆ ของตัวเอง
ส่วนในความผูกพันของคู่สนทนาตรงหน้าและเพื่อนไร้พรมแดน เราคงเล่าได้ว่า คู่หูวงสุดสะแนนมาร่วมเล่นดนตรีในเทศกาลบินข้ามลวดหนาม ซึ่งเป็นกิจกรรมใหญ่ในช่วงหนึ่งของมูลนิธิ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่สื่อสารประเด็นสิทธิมนุษยชนอยู่หลายต่อหลายครั้ง
เหล่านี้ยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีกว่า ชายตรงหน้าเราคือ บุคคลที่ขับเคลื่อนตนเองด้วยศิลปะจริงๆ
เราเคยบอกไปในพื้นที่เล่าเรื่องผ่านตัวอักษรของตัวเองว่า เวลา 10 ปีมันนานพอจะบอกได้ว่าคนๆ หนึ่งที่ทำอะไรอย่างลุ่มหลง หมกมุ่น และทำมันออกมาได้อย่างดี ถ้าไม่ใช่จักรวาลจัดสรร หรือเป็นตัวจริงในสายวิชาชีพนั้น เขาจะต้องหลงรักมันอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
แต่ถ้ามันยืนระยะมาได้ถึง 25 ปีล่ะ หัวจิตหัวใจของเขาจะต้องเป็นแบบไหน และเขาหลงรักอะไรในสิ่งๆ นั้น ถึงยืนระยะทำมันได้นานขนาดนี้
เรื่องราวจากบรรทัดด้านล่างนี้ก็คงบอกเล่าเรื่องเหล่านั้น ตลอดสองชั่วโมงที่เรานั่งคุยกับพี่ชวดในร้านร่ำเปิงกาแฟ เส้นทางทั้งหมดมีดนตรีทั้งคำร้องและทำนองของพี่ชวดประกอบเรื่องราว และสิ่งเหล่านั้นก็ต่างประกอบสร้างให้พี่ชวดเป็นชวดในวันนี้
ที่สำคัญกว่านั้น สิ่งที่พี่ชวดเล่าระหว่างทางผ่านเสียงดนตรีและเครื่องมือศิลปะ ก็เป็นเครื่องมือที่สะท้อนภาพการเมืองและสังคมแห่งยุคสมัย
อย่างที่คนธรรมดาคนหนึ่งทำได้นี่แหละ

เหมือนดังดอกหญ้า
อัลบั้ม ฉันกลัวเพลงสุดท้าย
พี่ชวดเกิดที่นครราชสีมา คุณพ่อเป็นครู แม่ทำไร่ทำสวน ขายของเล็กๆ น้อย โดยมีเพลงลูกทุ่งเป็นดนตรีประกอบ และท้องไร่ท้องนาเป็นฉากหลัง นอกจากต้องเรียนหนังสือแล้ว พี่ชวดก็ต้องช่วยทำงานบ้าน หาเลี้ยงครอบครัว มีเวลาว่างก็ออกไปเล่นกับเพื่อนๆ ตามประสา
พี่ชวดบอกเราทันทีว่า มันไม่ใช่ช่วงชีวิตที่ดีอะไร แต่มันสอนให้เขารู้จักที่จะใช้ชีวิต
ความสนใจส่วนตัวในวัยเด็กของพี่ชวดมีสองอย่างใหญ่ๆ คือ การวาดรูป และดนตรี ที่เขาได้มาตั้งแต่สมัยมัธยมต้น ทักษะเหล่านั้นในตัวพี่ชวดค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นจากจากสนับสนุนและผลักดันของคุณครู ไปจนถึงการฝึกฝนด้วยตัวเอง
“ครูมองว่าเด็กคนนี้หัวมันใช้ได้ ก็พยายามฝึกฝนเรา อยากให้เราเอาดีทางด้านศิลปะไปเลย แล้วระหว่างนั้นคุณครูเขาก็เป็นนักดนตรี เขาก็ชอบดนตรี เขาก็รวบรวมนักเรียนชั้นม.2-3 ตั้งวงดนตรี เราชอบดนตรีแล้วก็ไปกับเขา ถูกพัดพาไปตรงนั้น ก็หัดเล่นกีต้าร์จากตรงนั้นแหละ พอจบมัธยมต้น คุณครูก็พยายามที่จะให้เราไปสายอาชีวะ สายศิลปะไปเลย แต่ว่าถูกคัดค้านโดยครอบครัวของเราก็คือคุณพ่อไม่อยากให้เราไปทางนั้น เขาอยากให้เรามีอาชีพที่มั่นคงอย่างเช่นเป็นครูเหมือนแก เราก็เลยถูกส่งไปเรียนสายวิทย์”
เพราะความเป็นห่วงจากครอบครัว พี่ชวดเลยยังเรียนสายสามัญจนจบมัธยมปลาย แต่พี่ชวดเชื่อว่า ถ้าเราชอบสิ่งไหน มันจะพาเราไปเจอกับคนที่ชอบสิ่งเดียวกัน พี่ชวดเลยเข้าชมรมดนตรี ที่ทำให้เขาได้ไปเล่นดนตรีตามพื้นที่และงานต่างๆ น่าแปลกที่พอเป็นดนตรีแล้วกลับมีอบายมุขเช่น เหล้า บุหรี่ ตามมา ทำให้พี่ชวดเข้าไปอยู่ในวงโคจรเหล่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จนนั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตวัยรุ่นของของเขา
“เราชอบดนตรี แต่เราไม่อยากเป็นในสิ่งที่พ่อเป็น เราอยากเป็นอย่างที่เราอยากจะเป็น ยังคิดไม่ออกว่าจะเป็นอะไร แต่ว่าเรารู้สึกว่าเราชอบดนตรี พอจบ ม.6 แล้วเราก็อยากไปสอบมหาวิทยาลัยสายศิลปะไปเลย ก็เกเรอีก กินเหล้าเมาแล้วตื่นไปสอบไม่ทัน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เรารู้สึกว่าเป็นจุดหักเหของเรา นั่นแหละคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญในช่วงวัยรุ่น” พี่ชวดเล่า


ก่อกองไฟ
Single ก่อกองไฟ
จากศิลปินในชมรมดนตรีที่พอได้เล่นตามงานต่างๆ บ้าง เมื่อเปลี่ยนฉากหลังเป็นมหาวิทยาลัย การเล่นดนตรีเพื่อหารายได้จึงเป็นสิ่งที่พี่ชวดเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จากการถูกชักชวนของอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย ผ่านการเป็นนักดนตรีประจำในผับแห่งหนึ่ง
“เพื่อนของอาจารย์ภาควิชาศิลปะของเราคนนึงเขาทำเป็นผับสไตล์คันทรี่ เขาอยากจะหาเด็กไปเล่นดนตรี เล่นประจำ กินนอนได้ แล้วเราก็ถูกเลือกไป เจ้าของร้านไปสร้างกุฏิเล็กๆ ให้ (หัวเราะ) ไม่ต้องเสียค่าพัก อาหารก็ทำกินตรงนั้นได้ ตอนนั้นเราเล่นได้ทุกคืนนะ ได้คืนละ 80 บาท” พี่ชวดเล่าประสบการณ์การทำงานระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งจากช่วงชีวิตเหล่านั้น ทำให้ระหว่างทางพี่ชวดได้เจอเพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่งในสาขา ที่เขาไม่รู้เลยว่าอีกไม่นาน เพื่อนคนนี้จะกลายเป็นคู่หูที่ร่วมทางสายดนตรีร่วมกันไปอีกหลายสิบปี
เพื่อนคนนั้นชื่อ ฮวก หรือพี่ฮวก สุดสะแนน ในปัจจุบัน
“พี่ฮวกเขาเขียนบทกวีมาก่อนเรา เรายังไม่ได้เขียนหนังสือ แต่สนใจเรื่องการแต่งเพลง ก็ไปเจอพี่เขา ก็ชวนกัน แล้วก็มีอุดมการณ์ร่วมกันว่า เราตั้งวงกันนะ เล่นดนตรีกัน เป็นเพลงเพื่อชีวิต ตอนนั้นยังไม่มีเพลงของตัวเองใช่ไหม ก็เล่นเพลงของเพลงคาราวาน เพื่อชีวิตลึกๆ อะไรพวกนี้ไป พี่ฮวกก็ตี Percussion ตีบองโก้ เราเล่นกีต้าร์แล้วก็ร้อง แล้วก็เริ่มแต่งเพลง เริ่มมีความคิดความฝันว่าอยากมีงานของตัวเอง อยากมีอัลบั้มเป็นของตัวเอง ตอนนั้นเป็นช่วงที่อยู่มหาลัยปี 3 ถือว่าเป็นช่วงวัยที่ได้ประสบการณ์เยอะ เพราะเราก็รู้สึกว่าเหมือนใช้ชีวิตไปวันๆ แต่เราใช้ชีวิตแบบเราเราปฏิบัติเลย เราเล่นดนตรีจริงๆ เลย ก็ถือว่าสบาย สนุก แล้วก็ได้ใช้ชีวิตแบบเต็มที่”
เพราะในช่วงที่ก่อการเป็นช่วงเวลาที่เบิกบานสุดๆ ในการต่อสู้และเคลื่อนไหวทางการเมือง วงสุดสะแนนที่มีสมาชิก 2 คนถ้วนจึงเล่นเพลงเพื่อชีวิตเป็นหลัก ซึ่งทั้งสองก็ยังเล่นเพลงของคนอื่นอยู่ จนทั้งคู่เรียนจบมหาวิทยาลัย พี่ชวดและพี่ฮวกจึงเก็บกระเป๋าเข้ากรุงเทพ ไปทำงานเล่นดนตรีกับรุ่นพี่ที่ตั้งวงรอเอาไว้แล้ว
เล่นดนตรีสลับกับเขียนเพลง วนไปเรื่อยๆ เป็นเวลา 2 ปี พี่ชวดพบว่าปัญหาสำคัญของการเป็นนักดนตรีในวงใหญ่มีสามอย่างคือ หนึ่ง-เพราะตัวหารที่เยอะ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการจ้างของเจ้าของร้านก็สูงตาม สอง-เพลงเพื่อชีวิตแบบฟิวชั่น ซึ่งเป็นแนวดนตรีหลักที่วงเล่น ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเท่าที่ควร ซึ่งนำไปสู่งานจ้างที่ลดน้อยถอยลง สมาชิกคนอื่นต้องออกไปทำมาหากินอย่างอื่นในเวลากลางวัน และสาม-เวลาว่างที่จะได้แต่งเพลงก็ไม่ค่อยมี เพราะต้องแกะเพลงที่จะใช้เล่นจริงไปเรื่อยๆ
สุดท้ายวงดนตรีนี้ก็ยุบวงไป ต่างคนต่างแยกย้ายไปมีชีวิตของตัวเอง จนเหลือคู่หูพี่ชวดกับพี่ฮวกที่ตัดสินใจทำเพลงอย่างจริงจัง จนทำเดโม่ไปเสนอค่ายเพลงต่างๆ
ซึ่งผลลัพธ์คือ ไม่ได้รับการตอบรับจากค่ายไหนเลย
“เราก็พยายามแต่งเพลง พยายามนำเสนอค่ายใหญ่ แต่เพลงมันไม่โดน เหมือนเรายังไม่ชัดเจนกับโลก เรายังไม่เข้าใจชีวิต มันยังไม่ชัดน่ะพูดง่ายๆ ความคิดอุดมการณ์มันยังไม่ชัด ไปเสนอค่ายเขา เขาก็ไม่ตอบรับ ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องง้อค่าย ทำเองก็ได้
“การอยู่กรุงเทพฯ ยุคนั้นก็ได้ประสบการณ์ ได้เห็นห้องอัด ก็ได้ประสบการณ์อยู่ แต่มันก็ยังไม่สำเร็จ ในการที่เรามีความมุ่งหวังว่าเราอยากทำงานชุดหนึ่ง มีเทปเป็นของตัวเอง มันยังไม่สำเร็จ” พี่ฮวกบอกเรา


ลอยไปในบทเพลง
อัลบั้ม แผ่นดินที่ฝันถึง
“ปีนั้นเชียงใหม่เป็นเมืองที่สงบมาก น่าอยู่มาก เป็นเมืองที่มีดนตรีให้ฟังหลากหลายแนว มีบาร์เล็กๆ ที่เล่นเพลงสากล มันเป็นเหมือนเมืองสวรรค์ของโลกียชน พวกนักท่องเที่ยว ฝรั่งอะไรแบบนี้ แล้วมันก็ไม่อึกกระทึกครึกโครมมาก ไม่เหมือนปัจจุบันนี้”
ปีที่ว่าของพี่ชวดคือ 2539 ซึ่งเป็นปีที่พี่ชวดกับพี่ฮวกตัดสินใจย้ายเขตคามมาทำตามความฝันที่จังหวัดเชียงใหม่ เวลานั้นยังค่อนข้างยากลำบากสำหรับทั้งคู่ ต้องเล่นดนตรีเปิดหมวกตามแลนด์มาร์กเด่นๆ หรือรับเล่นตามร้านต่างๆ ตามแบบฉบับของนักดนตรีพเนจร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สนุกแต่ก็ลำบากพอสมควร
“ตอนนั้นเราถือว่าเราเป็นคนแปลกหน้า อพยพมาจากที่อื่น แล้วก็ตอนนั้นพี่ฮวกยังไม่ทำร้านสุดสะแนน ก็ตกงานกันอยู่พักหนึ่ง ไปเปิดหมวกตามที่ต่างๆ หน้ามอบ้าง ฝายหินบ้าง ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนนักดนตรีพเนจร ยังไม่มีหลักมีแหล่ง เปิดหมวกอดๆอยากๆ แล้วก็ผับเพื่อชีวิตมันก็มีน้อยนะ เราไม่รู้จักใคร
“แต่เราก็ได้ตระเวนดูนักดนตรีที่เล่นในเชียงใหม่ ทำให้สังคมเรากว้างขึ้น ได้เจอรุ่นใหญ่ๆ เจอนักดนตรีคนอื่นๆ ที่เขาเล่น ได้เจอดนตรีคันทรี่ที่เขาแบบเก่งเว้ย หลากหลายมาก มี Bluegrass Country มีบาร์เล็ก ๆ ที่เล่นเพลงสากลอินดี้ ถือว่ามีโชคมาก ที่อื่นอาจจะไม่มีเหมือนเชียงใหม่แต่เชียงใหม่มี นั่นแหละคือสิ่งที่เราเจอในช่วงนั้น” พี่ชวดบรรยาย
หลายปีผ่านไป พี่ชวดปรับตัว ตั้งตัว จนอยู่ตัว ด้วยการเล่นดนตรีที่ร้านสุดสะแนนของพี่ฮวก พร้อมๆ กับทำงานหารายได้ รวมถึงกำไรที่พี่ฮวกได้รับจากการเปิดร้าน ทำให้ทั้งสองมีเงินเก็บจำนวนหนึ่งซึ่งมากพอจะเช่าห้องอัดย่านฟ้าฮ่ามเพื่อทำอัลบั้มของตัวเอง โดยได้รับความช่วยเหลือจากพี่ๆ น้องๆ ในชุมชน ซึ่งการอัดเพลงทั้งหมดใช้เวลา 2 ปี
“เราทำเพลงแบบยังไม่มีคอนเซปต์อะไร ใครมีเพลงก็เอามาดูกัน พี่กับพี่ฮวกก็ดูความเหมาะสม ดูอารมณ์ว่าเพลงนี้มันอยู่ในชุดนี้มันจะเข้ากันมั้ย มันซ้ำกับเพลงที่เราบรรจุไว้ก่อนหน้านี้มั้ย ถ้าซ้ำเราก็เอาออก ไม่มีอะไรมาก ทำตามอารมณ์ ไม่มีโปรดิวเซอร์ เราเป็นโปรดิวเซอร์เอง ทำกันเอง”
พี่ชวดให้นิยามของเพลงจากวงสุดสะแนนได้สองประเภทใหญ่ๆ คือ เพลงที่เขียนถึงเรื่องที่เป็นนามธรรม และเพลงที่พูดถึงเรื่องกายภาพ ซึ่งทั้งสองประเภทคือ การบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านการตกผลึกทางความคิดและประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งสื่อสารด้วยกวีมีทำนองขนาด 7-8 บรรทัด เคล้าคลอด้วยเครื่องดนตรีอีสาน
เพลงที่ว่าคือ ลอยไปในบทเพลง ซึ่งมันมีศิลปะในการออกแบบและจัดวางอย่างถูกต้องเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างยิ่งยวด
“เราเขียนเป็นกวีขึ้นมาแล้วก็ไปอัดเสียง แล้วก็กลายมาเป็นเพลง เราไม่ได้มีความรู้ในเรื่องเชิงทฤษฎีมาก เราใช้อารมณ์ ใช้การตัดสินว่ามันลงตัวหรือยัง ซึ่งมันก็ค่อนข้างยากเหมือนกัน มันเหมือนกับว่าเราจะรู้ได้ยังไงว่าเราพอแล้ว เราก็ใช้เซนส์ของเราว่าน่าจะเป็นเสียงสไลด์นะ เสียงกีต้าร์ไฟฟ้า เสียงเครื่องเป่านะ ก็ต้องดีไซน์ ใช้ศิลปะเหมือนกัน ถ้ามันเกิน เอาออกได้ ถ้ามันขาด เราก็เอามาเพิ่ม แล้วบางเพลงเราก็ใช้กีต้าร์แค่อย่างเดียว แล้วก็มีเบส มีเครื่องเขย่า เครื่องเคาะ มันตอบยากเรื่องความพอดีของความงาม ตราชั่งมันไม่เท่ากันระหว่างการทำงานของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนอาจจะบอกว่าแค่นี้หรอ น้อยจัง น่าจะมีอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้เป็นความคิดของคนที่ฟังเรา” พี่ชวดบอกเรา
นอกจากสตูดิโออัลบั้มเดี่ยวของวงสุดสะแนนทั้งสองอัลบั้มที่ถูกปล่อยออกมาอย่างฉันกลัวเพลงสุดท้าย และแผ่นดินที่ฝันถึง แล้ว พี่ชวดยังได้ไปช่วยทำเพลงให้กับแคมเปญเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมในหลายๆ วาระ ทั้งการทำสงครามของสหรัฐอเมริกาต่ออิรักในชื่ออัลบั้มเพลงสันติภาพ ประเด็นของอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ในอัลบั้มรักเชียงดาว งานเพลงพิเศษที่พูดถึงคนรากหญ้า ฝุ่นควัน PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ และอีกหลายๆ วาระ

อยู่ในใจ
อัลบั้ม ฉันกลัวเพลงสุดท้าย
พี่ชวดเขียนเพลง และพี่ชวดก็เขียนกวี
ในมุมมองของพี่ชวดเอง ทั้งสองสิ่งคือเรื่องเดียวกัน แต่เพียงแค่เพลงกับกวีหันกันคนละมุม
“เราสามารถเอากวีมาทำเป็นเพลงได้ สมมติว่าคุณเขียนเพลง มันก็คือบทกวีประเภทหนึ่งที่ถูกคิดมาแล้วว่า เพลงนี้มันจะออกมาเป็นยังไง เหมือนกับเราออกแบบบ้านหลังนึงที่ชื่อว่า คิดไปเหมือนความฝัน พี่ก็ต้องวางโครงสร้างแล้วว่ามันจะต้องก่อฐานยังไง วางเสายังไง โครงสร้างยังไง จะทาสีอะไร มีกี่ห้องดีก็ต้องคิดมาก่อน พอทำเสร็จมันก็จะเป็นเพลงๆ หนึ่ง
“คราวนี้เพลงๆ นี้จะเป็นบทกวีได้ไหม ที่จริงมันเป็นโดยตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ว่าพอเราจะเอาบทกวีมาทำเป็นเพลง มันก็ต้องมีการบิดนิดนึง สมมติว่าบางคำ มันก็จะมีคำที่ร้องแล้วมันไม่เข้า ที่มันร้องยาก มันก็คือธรรมชาติ คำหนักคำตาย คำสั้นคำยาว เพราะฉะนั้นบทกวีบทหนึ่งบางทีก็ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ว่าจะเอามาทำเป็นเพลงได้ แต่หลายครั้งเราก็ไม่ค่อยแคร์นะ เราก็เอาบทกวีของเรามาทำเป็นเพลง เขาเรียกว่าเอาตัวหนังสือมาถ่ายทอดให้ผู้อื่นฟังผ่านการได้ยินตัวเนื้อความแล้วก็เรื่องของเมโลดี้ ความลื่นไหลของท่วงทำนอง จริงๆ มันก็คล้ายๆ กันแหละ” พี่ชวดอธิบาย
ถ้าให้ขยายความอีกหน่อย พี่ชวดอธิบายเพิ่มอีกว่า การหยิบอะไรสักอย่างมาเล่าผ่านงานกวี ด้วยความที่ประเด็นของสิ่งๆ หนึ่งมีหลากหลายแง่มุม ขึ้นอยู่กับการเลือกมองของตัวเราเอง ก่อนจะวางคอนเซปต์และวิธีการเล่าเรื่อง เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเราจะนำเสนออะไรออกมา ซึ่งเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้กวีสมบูรณ์แบบในวิถีของพี่ชวดก็คือ การเล่าเรื่องแบบ Dynamic Curve หรือภูเขาเบ้ขวาตามหลักการเล่าเรื่องทั่วไป
และจินตนาการของผู้เขียน ซึ่งอันนี้สำคัญมาก
“เพราะฉะนั้นถ้าคุณสังเกตดีๆ บทกวีที่ผ่านการคิดมาแล้ว มันจะค่อนข้างมีโครงสร้างที่ชัดเจน สมมติเราจะเขียนบทกวีส่งประกวด 12 บท ก็ต้องวางว่า 2 บทแรกเราต้องพูดเรื่องนี้ อีก 4 บทมาพูดเรื่องนี้ พี่ใช้คำว่าเขียนให้มันเสร็จก่อนที่จะลงมือเขียน เราต้องวางจุดจบของมันให้ได้ว่ามันจะจบแบบไหน แล้วเราค่อยลงมือเขียน พอคิดเสร็จ อยู่ตรงไหนในโลกเราก็เขียนได้ เพราะว่าเราผ่านการคิดเสร็จแล้ว”


วันใหม่
Single วันใหม่
พี่ชวดย้ายมาอยู่เชียงใหม่ได้ 29 ปีแล้ว
ในระยะเวลาเท่านี้ คนๆ หนึ่งย่อมเห็นความเปลี่ยนแปลงในชีวิต สังคม และชุมชนที่เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเฉพาะชุมชนดนตรีที่มีคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา พี่ชวดที่อยู่วงการนี้มานานจึงมีโอกาสได้ปะทะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และได้ให้ความรู้กับน้องๆ รุ่นใหม่ได้มีความรู้ในหลายมิติ ทั้งการแต่งเพลง ทำเพลง รวมถึงทักษะทางดนตรี
“เราเป็นคนชอบให้กำลังใจคน เพราะเราเชื่อเสมอว่าดนตรีไม่ใช่สิ่งที่เข้าถึงได้ยาก แล้วเราก็ไม่หวงวิชาเลย ใครมาหาเราเราสอนได้หมด สอนทุกคน แล้วก็ปัจจุบันเรารู้สึกว่าการเข้าถึงกระบวนการทำดนตรีมันง่ายมาก มีโทรศัพท์มือถือก็อัดเพลงได้แล้ว แต่สิ่งที่ขาดก็คือประเด็นที่เขาจะพูด ประเด็นที่จะสื่อสาร เรื่องอะไร และบางคนก็เขียนเพลงไม่ได้ พอมีความสะดวกเรื่องการบันทึกเสียง ก็กลับไม่มีเพลงที่จะอัด แล้วก็ความคิดอ่านของคนรุ่นใหม่ว่ามันต่างกับของเรายังไง เราว่าก็เป็นเรื่องที่ดีนะ เพลงมันจะได้มีความหลากหลาย แต่ว่าเพลงมันก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในสิ่งหนึ่งแล้วก็ถ่ายทอดมันออกมาได้”
พอมาย้อนดูเรื่องราวของพี่ชวดแล้ว เราจึงถามพี่ชวดด้วยความสงสัยว่า จริงๆ แล้วเพลง กวี และศิลปะ มันทำงานกับผู้คนอย่างไรบ้าง
“เพลงมันเหมือนยาพิษ กระบวนการทางชีวเคมีเองผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ แต่พอคุณได้ยินคุณรู้สึกทันที สมมุติว่าคุณได้ยินเพลงธรณีกรรแสง คุณจะรู้สึกทันทีว่าเศร้าจังวะ เพราะฉะนั้นเพลงมันทำงานได้เร็วมาก ดนตรีจึงทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น รู้สึกว่าตัวเองมีค่า รู้สึกให้คุณค่ากับตัวเอง เข้าสังคมได้ แล้วก็ทำให้เรามองโลกในแง่ดี ทำให้เราเชื่อถือตัวเอง มีความมั่นใจในตัวเอง แล้วก็ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ คุณไปอยู่บนเขาคนเดียวก็ได้ มีเครื่องดนตรีอีกชิ้นหนึ่ง คุณก็จะอยู่คนเดียวได้ ถ้าคุณจะแต่งเพลงคุณเขียนโน๊ตก็ได้ เป็นอะไรที่มันแค่ไม่ต้องใช้อะไรมากเลยแล้วก็มีประโยชน์กับเรามาก

“ส่วนเรื่องบทกวี เราคิดว่างานพวกนี้มันคือการเราเอากระจกไปให้เขาส่อง บางทีเขาอาจจะไม่รู้สึกตัวว่าฉันก็เคยเป็นนี่หว่า เพราะว่าเขาฟัง เขาจะคิดภาพนั้นออก อยู่ที่ว่าเราจะเอาประเด็นไหนให้คน เราจะถ่ายทอดประเด็นไหนกับคนฟัง เพราะฉะนั้นเพลงกับกวีเป็นดาบสองคมอยู่เหมือนกัน พี่อาจจะแต่งเพลงให้คนร้องไห้ได้ เขาอาจจะลุกขึ้นไปฆ่าคนก็ได้ ไปก่อสงครามก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวังพอสมควร”
และเราชวนพี่ชวดขมวดบทสรุปของบทสัมภาษณ์นี้ผ่านคำถามว่า จึงชวนพี่ชวดถอดบทเรียนตามขนบบทสัมภาษณ์ของเพื่อนไร้พรมแดน และคนธรรมดาว่า ทั้งศิลปะ เพลง และกวี ซึ่งเป็นเครื่องมือที่พี่ชวดถนัดและเชื่อมั่น จะช่วยเปลี่ยนสังคม และเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนได้อย่างไร
“ด้วยความที่ว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ศิลปินเขาก็เหมือนกัน เขาก็เหมือนคนธรรมดาทั่วไป เพียงแค่เขาทำงานศิลปะซึ่งก็เป็นอาชีพๆ หนึ่ง เขาก็ต้องมีความรับผิดชอบทางสังคม เช่นว่า สิ่งไหนที่มันไม่ยุติธรรมกับสังคม คุณก็พร้อมที่จะต้องออกมาเหมือนเป็นปากเสียงให้กับความไม่เป็นธรรมนั้น บางทีดาราบางคนพูดแล้วมีน้ำหนัก ในขณะที่ชาวนาคนหนึ่งพูด น้ำหนักไม่เท่ากันนะ นี่แหละที่เขาเรียกว่ามนุษย์มันให้ค่ากับคนมีชื่อเสียง ทั้งที่จริงชาวนาอาจจะพูดดีกว่า พูดได้จริงกว่า แต่คนเขาฟังดาราใช่ไหม อย่านิ่งดูดาย
“อีกอย่างหนึ่งคือ ทำตัวให้มันเป็นประโยชน์กับสังคม พูดง่ายๆ ไม่ใช่ว่าจะแต่งเพลงรักอย่างเดียว แต่งเพลงที่สุขนิยมอย่างเดียว จริงๆเราก็เป็นคนที่มีความชอบสุขนิยมนะ แต่ว่าจะให้ชีวิตฉันมาแต่งเพลงความสุขทั้งหมดมันก็คงจะไม่ใช่ เราก็อยากจะแต่งเพลงถึงเรื่องความตายบ้าง สัจธรรมของการพลัดพราก ความเศร้า เรื่องของความเจ็บปวด ปรัชญา ซึ่งมันมีประเด็นอะไรเยอะมากให้เขียน แล้วเราก็ว่าสิ่งเหล่านี้ ดนตรีหรือว่าการอ่านหนังสือมันง่าย บางทีเราอาจจะไม่ฉุกคิดว่าสักในวันหนึ่งเราอาจจะไม่ได้อยู่ที่นี่ หรือว่าสักในวันหนึ่งเราอาจจะต้องหย่าร้างกับคนรัก หรือสักวันหนึ่งเขาอาจจะตายไป หรือเพื่อนของเราคงจะตายไปในสักวันหนึ่ง เขาอาจจะไม่ได้คิด หรือว่าเผลอไปคิดถึงมัน แต่เพลงของเราควรที่จะทำหน้าที่ให้เขารู้สึกฉุกคิด แบบ เออ ใช่ ลืมไปเลยว่ะ เพลงมันควรจะมีหน้าที่ตรงนี้”
